xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานการระบาดของกาฬโรคในยุโรปยุคกลาง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

การโบยตีตนที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันกาฬโรคได้ในเนเธอร์แลนด์ ปี 1896 (รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี)
สำหรับการจัดการศพคนเป็นกาฬโรคก็มีปัญหา เพราะการหาสัปเหร่อนั้นยากสุดๆ และถ้าจะให้คนเอาศพใครไปทิ้ง ก็ต้องจ้างด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ซึ่งคนที่รับงานประเภทนี้มักเป็นพวกฆาตกร หรือคนจรจัดที่มีชีวิตอยู่อีกไม่นานก็ตาย และทันทีที่มีคนตาย ศพจะถูกเหวี่ยงขึ้นเกวียนเพื่อเอาไปฝังรวมกันในหลุมฝังศพขนาดใหญ่ นอกกำแพงเมือง สำหรับคนที่เคร่งศาสนา เวลาญาติตายก็จะรู้สึกเศร้าเพราะไม่มีพระใดอาสามาสวดศพ ขบวนศพก็ไม่มีคนตาม และถ้าให้ดูดีก็ต้องจ้างคนมาเดินร่วมขบวน

เมื่อความทุกข์มีท่วมท้นเช่นนี้ บรรดาจิตรกร เช่น Holbein, Delacroix และ Raphale ต่างก็ได้วาดภาพเหตุการณ์นี้ รวมถึงนักประพันธ์ เช่น Daniel Defoe และ Albert Camus ก็ได้เคยเขียนเรื่อง The Plague ที่เกี่ยวกับสังคมในยุคกาฬโรคระบาดด้วย ว่ามีการฆาตกรรม โจรกรรม และความรุนแรงมากมาย เพราะผู้คนไร้ศาสนา จากการไม่มีนักบวชเป็นที่พึ่ง บ้านเมืองไม่มีความยุติธรรม เพราะไม่มีลูกขุน หรือผู้พิพากษามาตัดสิน การขโมยเกิดทุกหัวระแหง บ้านคนที่เสียชีวิตด้วยกาฬโรคจะถูกปล้น แม้แต่เสื้อผ้า และเครื่องประดับศพ ก็ยังถูกฉกก่อนที่ศพจะถูกนำไปทิ้ง หรือเวลาขโมยเข้าบ้านและเห็นคนที่กำลังป่วยอยู่ ก็ช่วยจัดการให้คนนั้นตายๆ ไป เพื่อจะได้เอาทรัพย์สมบัติไป ความเสื่อมทางศีลธรรม และความงมงายจึงมีอยู่ทั่วในสังคมยุคนั้น

เช่น บางคนนำของไปถวายนักบวชเพื่อให้ช่วย บางคนไปหาพ่อมด แม่มด เพราะเชื่อว่าคนประเภทนี้คือตัวแทนของ Satan และถ้าให้ Satan มีความสุขและพอใจ โรคก็จะหยุดระบาด ดังนั้นคนเหล่านี้จึงปรนเปรอพ่อมด และหมอผี ด้วยบรรณาการต่างๆ บางคนเชื่อว่าระฆังโบสถ์สามารถไล่กาฬโรคได้ จึงใช้วิธีสั่นระฆังจนแรงหมด ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางคนคิดว่ายิวคือตัวแพร่เชื้อโรค จึงจับยิวมาขังรวมในอาคารไม้แล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น จนยิวกว่า 2,000 คน ถูกแขวนคอ และถูกฆ่าตายในเมือง Strasbourg เหตุการณ์นี้ทำให้สันตะปาปา Clement ที่ 6 ทรงออกมาแถลงว่าคนยิวไม่ได้แพร่กาฬโรค แต่ก็ไม่มีใครฟัง นอกจากยิวจะเป็นแพะของเหตุการณ์แล้ว บรรดาแพทย์ต่างๆ ก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นใจไม่ช่วยผู้คนด้วย ทั้งๆ ที่ช่วยได้ การคิดเช่นนี้ทำให้แพทย์ถูกชาวบ้านในฝรั่งเศสขว้างด้วยก้อนหินจนตายหลายคน

สำหรับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจนั้น ก็ได้มีการพบว่า ในปี 1891 ที่กาฬโรคระบาดหนักเมื่อประชากรลด เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย คนที่รอดชีวิตในชนบทมักขายผลิตภัณฑ์เกษตรไม่ได้ เพราะคนเมืองที่จะซื้อสินค้ามีน้อย และคนในเมืองที่รอดชีวิต ซึ่งได้ที่ดินและทรัพย์สินจากคนที่ตาย ก็ไม่สามารถจะครองชีวิตดีๆ ได้ เพราะไม่มีคนใช้และคนงาน ทุ่งนาต่างๆ เป็นทุ่งร้าง ราคาค่าเช่านาตกจนแทบไม่มีค่าใดๆ นี่คือเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบากสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

ในด้านจิตวิทยาก็มีผลกระทบรุนแรงเพราะคนทุกคนกลัวติดโรค กลัวเป็นโรค และกลัวตาย ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นกษัตริย์ เจ้าชาย นายทหาร อาจารย์ คนยากจน คนมั่งมี หรือทาส ทุกคนมีสิทธิ์ตายทั้งนั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ Francis Gasquet นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การที่กาฬโรคระบาดในครั้งนั้นได้ทำให้เกิดคริสต์ศาสนานิกาย Protestant เพราะชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ศาสนาที่มีคุ้มครองคนไม่ได้ เพราะแม้แต่นักบวชก็ยังหนีวัด ดังนั้นชาวบ้าน จึงต้องหาที่พึ่งใหม่

ส่วนในดินแดนอื่นของโลกก็มีรายงานการระบาดของกาฬโรคเช่นกัน เช่นในปี 1890 พบการระบาดใน Cyprus ในปี 1917 พบที่ Venice ปี 2206 ที่ Holland มีคนตายด้วยกาฬโรค 10,000 คน ใน Brussels, Flanders และ Amsterdam ในปี 2208 มีการระบาดที่ London และบ้านใดที่มีคนเป็นโรคนี้ประตูบ้านของคนนั้นจะมีกากบาทสีแดงทาที่บานประตู ซึ่งจะถูกเจาะเป็นช่องให้ญาติส่งอาหารเข้าไป และในปี 2224 ที่ Prague มีคนตายด้วยกาฬโรคถึง 85,000 คน

ในวารสาร History Today ฉบับเดือน มีนาคม 2548 Ole J. Benedictow แห่งมหาวิทยาลัย Oslo ใน Norway ได้รับรายงานว่า ในการค้นหาที่มาของเชื้อกาฬโรค เขาคิดว่า แหล่งกำเนิดของเชื้อนี้มาจากจีน ทั้งนี้โดยการตรวจ DNA ของเชื้อที่พบในแถบทะเลสาบ Caspian และในรัสเซีย แถบแม่น้ำ Volga เขาพบว่าเชื้อได้แพร่จากจีนเข้ายุโรป โดยใช้เส้นทางสายไหม เมื่อกองทัพมองโกลบุกยุโรป และเมื่อถึงปี 1890 พ่อค้าเรือชาวอิตาลีได้นำเชื้อกาฬโรคเข้าสู่กรุง Constantinople และระบาดไปทั้งยุโรป จนคน 50 ล้านคนล้มตาย จากจำนวนประชากร 80 ล้านคนที่มี ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก และประวัติศาสตร์ก็ยังบันทึกด้วยความระทึกกลัวว่าแม้จักรพรรดิ Napoleon จะทรงไม่พิชิตรัสเซีย และ Hitler ก็ยังยึดรัสเซียไม่ได้ แต่กาฬโรคเอารัสเซียอยู่หมัด

เมื่อไม่นานนี้ มีหนังสือเกี่ยวกับกาฬโรคออกวางจำหน่ายหลายเล่ม เช่น Plague : The Mysterious Past and Terrifying Future of the World’s Most Dangerous Diseases โดย Wendy Orent ซึ่งตีพิมพ์โดย Free Press ในปี 2547 หนา 288 หน้า ราคา 25 เหรียญ และ Return of the Black Death; The World’s Greatest Serial Killer โดย Susan Scott และ Christopher Dunean ที่ตีพิมพ์โดย Wily ในปี 2547 หนา 256 หน้า ราคา 27.95 ดอลลาร์ ซึ่งคนที่สนใจประวัติของโรคนี้ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
การใช้ปลิงและทากดูดเลือดในการรักษาคนเป็นกาฬโรคในฝรั่งเศส เมื่อ 500 ปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น