"ไก่กับไข่" อะไรเกิดก่อนกัน อาจยังไม่ได้คำตอบแน่ชัด แต่วันนี้นักวิจัยค่อนข้างแน่ใจแล้วว่า "ไก่ป่า" ทางตอนเหนือของประเทศไทย เป็นบรรพบุรุษของ "ไก่บ้าน" ที่เลี้ยงและบริโภคเป็นอาหารกันทั่วโลก จากโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ พร้อมเสนอให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ชนสายพันธุ์ทนทานไว้เป็นอาหาร ป้องกันภาวะขาดโปรตีน
เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 18 มี.ค.53 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการ "พหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่" ณ สยามสมาคมในพระพรมราชูปถัมภ์ พร้อมเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการวิจัยเรื่องพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสใจความว่า โครงการวิจัยพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เมื่อเจ้าชายอากิฌิโนโนมิยา ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ติดต่อขอให้พระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกัน ซึ่งพระองค์ทรงติดตามความก้าวหน้าของโครงการวิจัยนี้มาโดยตลอด จนเห็นผลสำเร็จในวันนี้ ซึ่งได้มีการรวบรวมเป็นหนังสือ "Chickens and Humans in Thailand: Their Multiple Relationships and Domestication" หรือ พหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ และมีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติกว่า 25 ผลงาน
สมเด็จพระเทพรัตนฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมนักวิจัยและผลงานวิจัยในโครงการนี้ในสองด้านด้วยกัน คือ ด้านความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ และความร่วมมือวิจัยในรูปแบบสหสาขาวิชา ที่ได้นำนักวิจัยไทยและญี่ปุ่นในด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ได้มาทำงานวิจัยร่วมกัน และทรงหวังด้วยว่าจะมีความร่วมมือโครงการวิจัยระหว่างทั้งสองประเทศเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งนี้ โครงการวิจัยพหุสัมพันธุ์ระหว่างคนกับไก่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเจ้าชายอากิฌิโนโนมิยา ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยนักวิจัยญี่ปุ่นและไทยหลายสาขากว่า 50 คน
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ หัวหน้าโครงการฝ่ายไทย ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่าโครงการวิจัยพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่เกิดจากการที่เจ้าชายอากิฌิโนฯ มีความสนพระทัยเกี่ยวกับไก่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงเกิดคำถามว่าทำไมไก่จึงมีความสัมพันธ์กับคนมากกว่าสัตว์อื่น และจากไก่ป่าวิวัฒนาการมาเป็นไก่บ้านที่เลี้ยงกันแพร่หลายไปทั่วโลกได้อย่างไร
"มีหลักฐานทางวิชาการว่าแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของไก่บ้านน่าจะอยู่บริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างประเทศไทย ลาว และจีน เจ้าชายอากิฌิโนฯ จึงทรงเลือกพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อทำการศึกษาพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ เนื่องจากในจังหวัดเชียงรายเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีไก่บ้านหลายสายพันธุ์ และยังมีไก่ป่าสีแดงอยู่จำนวนมาก โดยศึกษาใน 4 มิติ คือ มิติทางชีววิทยา มนุษยศาสตร์ นิเวศวิทยา และภูมิศาสตร์ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงทำการวิจัยร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาก่อนหน้านั้นแล้ว" ศ.ดร.ไพรัช กล่าว
ทั้งนี้ มีหลายสมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุของการนำไก่ป่ามาเลี้ยงจนกลายเป็นไก่บ้าน เช่น นำมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เมื่อมนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐาน มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์, นำมาเลี้ยงเพื่อบอกเวลา เพราะไก่เป็นสัตว์ที่ส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน และไม่นานความสว่างก็ปรากฏ, นำมาเลี้งเพื่อการกีฬา และนำมาเลี้ยงเพื่อประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีหลักฐานและงานวิจัยส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่าวิวัฒนาการของไก่บ้านเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 8,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับยุคเริ่มต้นของการปลูกข้าว จึงเป็นไปได้ที่ไก่ป่ามากินเมล็ดข้าวที่คนปลูกไว้ และกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของคนในเวลาต่อมา
จากการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไก่ป่าด้วยวิธีไมโครแซเทลไลต์ พบว่า ไก่ป่าสีแดงตุ้มหูแดง ไก่ป่าสีแดงตุ้มหูขาว และไก่บ้านหรือไก่พื้นเมืองไทยสายพันธุ์ต่างๆ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ไก่พื้นเมืองมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมและจัดอยู่ในกลุ่มที่พัฒนามาจากไก่ป่าสีแดงตุ้มหูแดง ส่วนไก่ป่าสีแดงตุ้มหูขาวมีลำดับทางวิวัฒนาการมาก่อนไก่สายพันธุ์อื่นๆ จึงสันนิษฐานว่าไก่ป่าสีแดงตุ้มหูขาวน่าจะเป็นบรรพบุรุษของไก่พื้นเมืองและไก่อื่นๆ ในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ที่ว่าไก่บ้านมีบรรพบุรุษมาจากไก่ป่าสีแดง กัลลัส กัลลัส (Gallus gallus) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์ตะวันออก
ส่วนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไก่ป่าสีแดง ไก่ต่อ และไก่พื้นเมืองไทย ในทางพันธุศาสตร์โมเลกุล พบว่า ไก่ป่าตุ้มหูแดงเป็นบรรพบุรุษของไก่ต่อและไก่พื้นเมือง โดยไก่ป่าสีแดงมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไก่ต่อมากกว่าไก่พื้นเมือง ฉะนั้นไก่ต่อจึงเป็นตัวกลางของการวิวัฒนาการจากไก่ป่ามาเป็นไก่บ้าน
นักวิจัยยังได้ศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของไก่ป่าในธรรมชาติ พบว่านอกจากกินแมลง พืช และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร ยังพบก้อนกรวดและเศษพลาสติกในมูลของไก่ป่า แสดงว่าไก่ป่าคุ้นเคยกับคนหรือหากินใกล้ที่อยู่อาศัยของคน ซึ่งการปรับตัวให้คุ้นเคยกับสังคมมนุษย์ได้ของไก่ป่า อาจเป็นที่มาของการนำไก่ป่ามาเลี้ยงจนเป็นไก่บ้านที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และไก่ป่าจะขันในตอนเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น อาจเป็นสาเหตุของการนำไก่ป่ามาเลี้ยงเพื่อบอกเวลาและพัฒนามาเป็นไก่บ้านในที่สุด
นอกจากนี้ การศึกษาทางภูมิศาสตร์พบว่าในจังหวัดเชียงรายมีไก่มากถึงร้อยละ 47 ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคและการค้าเป็นหลัก ที่มาและการกระจายตัวของไก่พื้นเมืองส่วนใหญ่มาจากผสมพันธุ์กันเองและการซื้อขายภายในหมู่บ้าน ส่วนบริเวณพื้นที่ภูเขา ป่า และชายป่าใกล้หมู่บ้าน อาจมีการจับไก่ป่าเพื่อการบริโภคหรือเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ตลอดจนมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ในมิติทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมด้วย
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวอีกว่า โครงการวิจัยพหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับไก่หรือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ต่อไป รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เพื่อการบริโภคหรือในเชิงเศรษฐกิจต่อไป
"สมเด็จพระเทพฯ ให้ความสนพระทัยในเรื่องนี้และรับสั่งอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มโปรตีนให้กับชาวบ้านในชนบทที่ขาดโปรตีนได้บ้าง ทางเราก็ได้เสนอต่อพระองค์ท่านว่าอาจสนับสนุนชาวบ้านให้เลี้ยงไก่ชนไว้เพื่อบริโภคเท่านั้น เพราะไก่ชนเป็นสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และการตีไก่ก็เป็นการคัดพันธุ์ไก่วิธีหนึ่งเพื่อให้ได้พ่อพันธุ์ไก่ที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการส่งเสริมประชาชนให้เลี้ยงไก่ชนเพื่อการบริโภคอย่างเป็นรูปธรรม" ศ.ดร.ไพรัช กล่าว