เอ่ยถึงสัตว์ใหญ่อย่างช้าง จะเห็นได้ว่าเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คู่บ้านคู่เมืองเรามาตลอด นับแต่อดีตที่เป็นพระเอกเหนือสัตว์ทั้งปวงในการเป็นพาหนะออกศึกของกษัตริย์ มาจนถึงปัจจุบันที่ช้างแปรเปลี่ยนมาเล่นบทน่ารักแสดงความสามารถให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชมกันตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มีช้างจำนวนไม่น้อยที่จำต้องเผชิญชีวิตรันทด กลายเป็นช้างเร่ร่อนมีแผ่นซีดีติดหางเดินกวัดแกว่งไปตามถนนป่าคอนกรีต แต่กระนั้นทุกบทบาทของช้าง(บ้าน)ส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็หนีไม่พ้นการกระโจมเข้าสู่วงจรการท่องเที่ยวที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกถึงความสามารถอันเป็นเอกอุของช้างไทย
ย่างก้าวสู่วงจร
ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนและช่างภาพอิสระ ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับช้างไทยและได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับช้างมาจำนวนหนึ่ง เล่าให้ฟังถึง การเริ่มต้นของช้างไทยเมื่อย่างสู่วงจรการท่องเที่ยวว่า จุดเริ่มต้นของช้างกับการท่องเที่ยวย้อนไปได้ประมาณ 50 กว่าปี มีคนได้ไปเห็นชาวบ้านที่เป็นชุมชนนักเลี้ยงช้างที่เรียกว่าชาวกูย หรือส่วย ที่จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นนักเลี้ยงช้าง เพราะว่าชาวกูยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวขะแมร์มารวมตัวกันโดยบังเอิญ เพราะบังเอิญมีข้าราชการนั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไปตรวจในพื้นที่
"ชาวบ้านไม่เคยเห็นเฮลิคอปเตอร์ จึงรวมตัวกับมาดู แล้วพวกเขาใช้ช้างเป็นพาหนะอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องบังเอิญที่มารวมตัวกัน คนที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ก็ไม่เคยเห็นช้างมารวมตัวกันเยอะๆแบบนี้ ก็เลยเกิดเป็นการเล่าสู่กันฟัง เลยเป็นแนวความคิดให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว จัดงานชุมนุมช้าง "งานการแสดงช้าง"ที่จังหวัดสุรินทร์
"ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ช้างก็เริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นงานแรกๆ ที่ "องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" ทำเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือการเอาช้างมาชุมนุมกันปีละครั้ง ให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวยุโรป นั่งรถไฟไป จ.สุรินทร์แล้วไปดูช้าง ปีแล้วปีเล่า ก็ดังกระฉ่อนไปเรื่อยๆคนก็เดินทางมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาช้างก็เข้าสู่การท่องเที่ยว มีการให้นักท่องเที่ยวเช่าช้างเป็นแท็กซี่ชมโบราณสถาน" ธีรภาพ เล่าย้อนอดีต
สวมบทบาทการแสดง
ด้วยเพราะช้างมีความสำคัญในแวดวงการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก น.สพ.ทวีโภค อังควานิช รักษาการหัวหน้างานโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย(สถาบันคชบาลแห่งชาติ) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สำหรับที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ขณะนี้มีช้างที่อยู่ในงานการท่องเที่ยว 50 เชือก ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะเฉลี่ยงานกันออกไปตามความสามารถของช้าง
โดยช้างที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ก็จะอยู่ในกลุ่มให้บริการนำนักท่องเที่ยวเดินชมธรรมชาติและบางเชือกก็จะออกโชว์ตามงานประเพณีต่างๆในบริเวณภาคเหนือตอนบน(รัศมี 100กิโลเมตรจากศูนย์) ส่วนช้างวัยรุ่นลงมา(ประมาณ 10-15ปี) จะเน้นงานแสดงความสามารถในลานแสดงและเพื่อการฝึกอบรมสำหรับผู้ที่จะเป็นควาญช้าง รวมทั้งเป็นช้างช่วยดูแลเด็กในกลุ่มออทิสติกและกลุ่มสุดท้ายคือช้างวัยเด็กจะแสดงความสามารถจำพวกวาดรูป เล่นดนตรี
นอกจากนี้ช้างสุขภาพดีทั้ง 50 เชือกและช้างป่วยในโรงพยาบาลช้างยังเป็นอาจารย์ให้กับนักศึกษาสัตวแพทย์ได้เรียนรู้เรื่องพฤติกรรมและชีววิทยา รวมทั้งเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับงานวิจัยในประเทศไทย เช่น งานพันธุศาสตร์ งานระบาดวิทยา งานภูมิคุ้มกันวิทยา งานระบบสืบพันธุ์วิทยา งานกายวิภาควิทยา เป็นต้น
"ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้าง แต่วัตถุประสงค์เดิมของศูนย์ฯคืองานการอนุรักษ์ช้าง ดังนั้นจำเป็นต้องมีกรอบและคำนึงถึงสวัสดิภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของช้างเป็นสำคัญ ซึ่งในศูนย์ฯเองได้จำแนกช้างไว้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนการตระเตรียมความพร้อมนั้น ศูนย์ฯได้เน้นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าเพิ่มปริมาณงานให้กับช้าง โดยเนื้องานแต่ละอย่างจะต้องไม่กระทบกับคุณภาพชีวิตของช้างตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดช่วงเวลาสั้นๆสำหรับผู้ที่สนใจจะใช้ชีวิตอยู่กับช้าง โดยเป็นผู้ช่วยควาญช้าง ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะได้ใกล้ชิดช้างและดำเนินกิจวัตรประจำวันเหมือนควาญช้าง เก็บมูลช้าง นำมูลช้างไปทำกระดาษ สับอาหารให้ช้าง พาช้างมาหาหมอเพื่อตรวจร่างกายประจำวัน"น.สพ.ทวีโภคกล่าวถึงบทบาทของช้างในการท่องเที่ยวให้ฟัง
ด้าน อิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขาธิการมูลนิธิพระคชบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวเช่นกันว่า ช้างไทยเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของไทยที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศหลายร้อยล้านต่อปี การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยช้างเป็นส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ปัญหาก็คือว่าเรื่องละเอียดอ่อนการกระทบจากการเมือง ภาพของช้างเร่ร่อนที่รัฐไม่ได้ช่วย ภาพมันเลยกระโดดไปกระโดดมา กลายเป็นว่าคนเลี้ยงช้างไม่ดูช้าง คนต่างประเทศต้องการมาดูช้างแต่ไม่มีการจัดการที่ดี
อย่างที่ปางช้างอยุธยา แลเพนียด ซึ่งตนทำงานอยู่ ก็มีการวางระบบสัญลักษณ์ที่ดี เรามีช้างที่ต้องแลกอาหารด้วยการโชว์ ส่วนช้างอีกส่วนหนึ่งเราก็อนุรักษ์ไว้เพราะเป็นช้างชรา ช้างเล็กต่างๆแยกออกมา ช้างของเรา 92 เชือกแต่ทำงานได้วันละไม่ถึง 25 เชือก เพราะที่เรามีจำกัด และเพื่อไม่ให้ช้างเหนื่อยเกินไป เพราะเรามีการจัดการที่ดีมีการหมุนเวียนช้างไปทำงาน
ไทย-เทศ รักช้าง
ด้านความสนใจและให้ความสำคัญต่อช้างของคนไทยในสายตาของ น.สพ.ทวีโภค ยังมีแง่ดีๆให้มองว่า คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับช้างมากกว่าชาวต่างชาติ โดยคนไทยจะสนใจชมการแสดงการละเล่นของช้าง นั่งช้าง ส่วนชาวต่างชาติตะวันตกและญี่ปุ่น จะให้ความสนใจในการฝึกเป็นควาญช้างสมัครเล่น เพียงแค่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย(สถาบันคชบาลแห่งชาติ) ที่เดียวต่อปีมีผู้เข้าชมถึง80,000-100,000คน
"ขออนุญาตบอกเล่าในมุมมองของสัตวแพทย์เท่านั้นนะครับ ว่าช้างมีบทบาทอย่างสูงในธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย และจะยังมีบทบาทแบบนี้ไปอีกซักพักนึง เพราะตอนนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจีน ยุโรปตะวันออก มาแทนที่นักท่องเที่ยวจากอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่นที่เริ่มเบนหน้าไปสู่อินโดจีน หรือที่อื่นๆที่ยังบริสุทธิ์อยู่
และช้างก็จะยังคงมีบทบาทในแง่ของการศึกษา วิจัย หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา เพราะประเทศไทยเรามีศักยภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่มีช้าง เราเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงกว่า 3,000เชือก และ ค่อนข้างเปิดกว้าง
อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ช้างจะถูกนำมาเป็นตัวชูโรงสำหรับการพิทักษ์สิทธิสัตว์ ในเมืองไทย"น.สพ.ทวีโภคกล่าว
ส่วน ธีรภาพ มองเรื่องนี้ว่า อุตสาหกรรมช้างในการท่องเที่ยว เป็นผลดีคือให้ช้างพ้นจากการเข้าสู่วงจรของคณะแสดงช้าง ซึ่งเอาช้างไปเร่ปิดวิกล้อมรั้วแสดงช้าง มุงเต็นท์ตามหมู่บ้านชนบท ซึ่งตรงนั้นค่อนข้างอันตรายเพราะว่าใช้ช้างไปในทางที่ค่อนข้างจะผิดกับความสามารถของช้าง ทำให้ช้างพิการได้ง่าย ปัจจุบันนี้น่าจะมีอยู่แต่ค่อนข้างน้อยลง
ช้างถูกพัฒนานำมาช่วยในเรื่องการรณรงค์การช่วยเหลือต่างๆ เช่น เมาไม่ขับ ธีรภาพมองสวนทางกับน.สพ.ทวีโภคอยู่บ้าง ตรงที่ว่า ต่างชาติสนใจช้างมากกว่า เพราะเขาไม่มีช้าง แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาช้างของไทยเรา มีการพัฒนาไปถึงขั้นที่ให้คนหันกลับมาสนใจดูแลช้างเอง เช่นที่ จ.ลำปาง คนไทยเองก็ตื่นเต้นที่จะได้นั่งหลังช้างไปชมธรรมชาติมันพัฒนาไปพร้อมๆกระบวนการเติบโตทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของคนไทย
ส่วนทางด้านของ อิทธิพันธ์ มองว่าคนไทยเองก็ไม่ได้ใส่ใจช้างน้อยลง แต่ก็ไม่ค่อยมีส่วนร่วมเท่าไหร่ เนื่องจากคนไทยเศรษฐกิจไม่ดี เงินมีน้อย เห็นช้างสวย ช้างเร่ร่อน เป็นปกติ ไม่ได้หาดูยากสำหรับคนไทยคนไทยรักช้างทุกคน แต่ไม่รู้จะมีส่วนร่วมช่วยช้างยังไง เพราะปัจจัยของช้างคือกินเยอะ
"อย่างกรณีเอาช้างมาแต่งเป็นแพนด้าครั้งก่อน ก็ไม่ได้น้อยใจ เพียงแต่เราต้องการกระซิบสังคม(ดังๆ)ว่า เพลาๆหน่อย ช้างไทยเราฝรั่งแห่มาดู คนไทยเรากลับไปเห่อเอาเงินไปทุ่มเททำให้สัตว์อื่น ทีช้างเดินตามข้างถนนเยอะแยะไม่ทำให้เขา อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในฐานะเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประเทศ ตอนนี้ไม่มีเงินรัฐมาอุดหนุนช้างช้างต้องต่อสู้ด้วยตัวของมันเอง"อิทธิพันธ์กล่าว
อนาคตช้าง ช้าง ช้าง
เมื่อมองไปถึงอนาคตของช้าง น.สพ.ทวีโภค กล่าวว่า สมัยก่อนผู้มีช้างคือบุคคลชั้นสูง เมื่อมองด้วยสายตาสามัญชน(ไพร่) อย่างเราก็ย่อมต้องสูงส่งเป็นของที่สุดอาจเอื้อม และเขาคงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแน่นอน แต่วันนี้ช้างแทบไม่มีที่ยืน(ทางกายภาพ) ดังนั้นสายตาที่มองมาที่ช้างก็ย่อมแตกต่าง เป็นในลักษณะสงสาร สังเวช สมเพท หรือแม้แต่คับแค้นใจ หวังไว้ว่าวันนึงเราจะมองช้างอย่างเข้าใจแทนที่ความสงสาร ซึ่งจะทำให้ช้างได้คงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเรารักเขาด้วยสมองและหัวใจ
ปัญหานี้มันมีความละเอียดอ่อนมากกว่าจะบอกว่า จับ ยึด ซื้อคืน หรืออะไรก็แล้วแต่ด้วยมาตรการทางกฏหมาย ถึงแม้ว่าช้างไทยมากกว่าครึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่เลวร้าย แต่ผมเชื่อแน่ว่าควาญช้าง เจ้าของช้างมากกว่าครึ่งรักและห่วงใยช้างของพวกเขาเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ บางคนรักช้างตัวเองใจจะขาดแต่ก็ต้องออกมาหากิน ไม่ต้องเดินเร่ร่อนก็ได้ เอาแค่พาช้างไปทำงานต่างถิ่นเพราะที่บ้าน ต้องเช่าที่นา ลูกต้องไปโรงเรียน ด้วยสารพัดเหตุผลที่ต้องให้ช้างออกไปทำงาน ด้วยเพราะช้างต้องดูแลคนทั้งครอบครัว คงไม่มีควาญช้างคนไหนอยากให้ลูกเป็นควาญช้างเหมือนตัวเองอีกแล้ว เพราะว่ามันลำบาก เคราะห์ร้ายอาจถูกช้างตัวเองทำร้ายก็มีออกบ่อย เหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดทั้งสิ้น
"ผมอยากจะให้ข้อมูลนิดนึงว่า ส่วนมากช้างเร่ร่อนไม่ใช่ช้างที่ไม่มีงานทำ หากแต่เป็นช้างที่มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ใช้บางช่วงเวลาว่างงาน หรือระหว่างเดินทาง เช่นจากเหนือ ไป ใต้ หรือกลับบ้าน ส่วนพวกที่มุ่งหน้าเดินเร่ร่อนจริงๆมีไม่มากนักหรอกครับ"น.สพ.ทวีโภคกล่าวแนะ
ปิดท้ายกันที่ความคิดเห็นของ ธีรภาพ ที่มองอนาคตช้างไทยในการท่องเที่ยวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้ช้างในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับคนว่ามีการพัฒนาอย่างไร เช่นพัฒนาองค์ความรู้รักษาช้างที่บาดเจ็บ ซึ่งมีความจำเป็นมาก การพัฒนานี้ก็ต้องมีผู้เสียสละมีคนที่ใส่ใจอนุรักษ์เรื่องประเพณีช้างดั้งเดิมเช่นที่ปางช้างอยุธยา มีคนห่วงใยช้างที่ทรมาน มีคนคอยเป็นปากเป็นเสียงให้ช้าง
"เรามีแม้กระทั่งหมอที่สู้อุตส่าห์เข้าไปรักษาช้างในป่า แน่นอนมันไม่ได้เป็นความสวยหรูร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ปรากฏชัดเจนว่าเรามีสิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งการคิดค้นขาเทียมให้ช้าง การพัฒนาเอามูลช้างมาทำกระดาษ แล้วมีการพัฒนาในเรื่องของช้างแทบทุกด้าน ซึ่งผมมองว่ามันไม่ได้มีความเป็นไปในทางที่เลวร้ายเสมอไป"ธีรภาพกล่าวปิดท้าย
สำหรับช้างไทยแล้ว ณ วันนี้ยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนไปตามสภาพ ซึ่งในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ถือเป็น"วันช้างไทย" ที่สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเห่อคลั่งฟีเวอร์เหมือนกระแสแพนด้า เพียงแต่ว่าแค่คนไทยใส่ใจรับรู้ว่าวันนี้คือวันช้างไทย แค่นี้ช้าง(ถ้าเขารู้)ก็คงจะดีใจไม่น้อยแล้ว.