หลังจากเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในภาพยนตร์โฆษณาชวนเที่ยวเมืองไทยของ ททท.พี่เบิร์ดนำแสดง ชื่อของ “สามพันโบก” ก็โด่งดังในพริบตาพร้อมๆ กับการเปิดโลกอันชวนตื่นตะลึงของดินแดนแห่งนี้สู่สาธารณชน นั่นทำให้ “ตะลอนเที่ยว” อดหัวใจเต้นแรงตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่ได้เมื่อรู้ว่าจะได้มีโอกาสไปเยือนสามพันโบก ดินแดนที่ได้รับฉายาว่า “แกรนด์แคนยอนแห่งสยาม”
“สามพันโบก” ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเมื่อมาถึงที่นี่ เราเลือกใช้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ของ อ.เรืองประทิน เขียวสด ที่บ้านสองคอน หนึ่งในผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบุกเบิกสามพันโบก
ด้วยความรีบร้อนเพราะใจไปอยู่สามพันโบก จึงอยากรีบลงไปชมโบกโดยเร็วทั้งที่แดดเปรี้ยงๆ อ.เรืองประทินรีบห้ามไว้พร้อมแนะนำว่า “การลงดูสามพันโบก คนฉลาดไม่ไปตอนเที่ยงหรอก ต้องดูตอนพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้าไปจนถึง 10 โมงเช้า แล้วเว้นวรรคมาดูอีกทีช่วงเย็นตั้งแต่บ่าย 3 โมงไปจนถึงช่วงพระอาทิตย์ตกดินจึงจะไม่ร้อน”
เพราะอยากเป็นคนฉลาด “ตะลอนเที่ยว” เลยต้องรอเวลาชมโบกในช่วงเย็นตามคำแนะนำของ อ.เรืองประทิน เมื่อถึงเวลาอันสมควรแดดร่มลมตกแล้ว จึงเดินทางไปที่ “หาดสลึง” บริเวณบ้านสองคอน หาดทรายที่ทอดยาวจากปากห้วยกะหลาง มีความยาวประมาณ 700-800 เมตร หาดแห่งนี้ได้รับการขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่าเป็น “พัทยาแห่งโพธิ์ไทร”
นักท่องเที่ยวมาเที่ยวสามพันโบกส่วนใหญ่จะนิยมล่องเรือจากหาดสลึงไปสามพันโบก ครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ขอลองนั่งเรือกับเขาบ้าง เรือท่องเที่ยวที่นี่ จะเป็นเรือเหมาเที่ยวละ 1,000 บาท ลำหนึ่งนั่งได้ 20-30 คนทีเดียว ฉะนั้น มาเป็นแก๊งก๊วนจะคุ้มค่ามากกว่า หากต้องการนั่งเรือจากจุดนี้ เรือพาล่องพร้อมมีมัคคุเทศก์น้อยอีกหนึ่งชีวิต ไว้คอยชี้บอกข้อมูลในแต่ละจุดให้ มัคคุเทศน์น้อยที่นี่ไม่มีค่าตัว แล้วแต่เมตตาที่นักท่องเที่ยวจะให้
เรือพาล่องมาที่จุดแรกคือที่ “ปากบ้อง” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุดตลอดระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร โดยมีความกว้างของแม่น้ำเพียง56 เมตร เท่านั้น ชาวบ้านในละแวกนั้น มีอาชีพจับปลาซึ่งยังคงใช้วิถีชีวิตและเครื่องมือจับปลาแบบโบราณอยู่ ในช่วงประมาณปลายเดือน ม.ค.-ก.พ. จะมีประเพณีแข่งตักปลาซึ่งเป็นสีสันแห่งสายน้ำของที่นี่
จากปากบ้องล่องเรือผ่าน แก่งหินใหญ่กลางลำน้ำโขง ที่เรียกขานว่า “หินหัวพะเนียง” หินที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอนในภาษาท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอนในละแวกใกล้เคียงกับหินหัวพะเนียงนั้นยามที่น้ำโขงลดต่ำยังมี “ถ้ำ” ที่มีความสวยงามโผล่พ้นให้ชมอีกหลายแห่ง อาทิ ถ้ำนางเข็นฝ้าย ถ้ำนางต่ำหูก เป็นต้น
แล้วล่องเรือผ่านสามพันโบกไปก่อนเพื่อไปชม “ศิลาเลข” ที่ฝรั่งเศสมาทำเอาไว้ เพื่อบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาว ฝรั่งเศสมีความพยายามที่จะเปิดเส้นทางสัญจรและขนส่งทางแม่น้ำโขง แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะติดที่ระหว่างทาง มีแก่งหินใหญ่น้อยมากมายเหลือเกินขวางกั้นอยู่
เมื่อใกล้เวลาพระอาทิตย์ตกดิน คนขับเรือก็มาล่องวนมาที่ “สามพันโบก” ก่อนด้วยเกรงว่าหากแวะจุดอื่นต่อไปเราอาจจะพลาดการชมความงานของสามพันโบกยามเย็นได้ หากสงสัยว่าโบกคืออะไร โบก หมายถึง หลุม แอ่ง บ่อ ในที่นี้คือ บ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง เป็นภาษาของลาวที่มักนิยมเรียกกัน หรืออีกสมญานามหนึ่งที่ได้รับขนานนาม คือ 'แกรนด์แคนยอนน้ำโขง' และยังถูกจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ใน “โครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สามพันโบกมีอาณาบริเวณราว 10 ตร.กม. ไฮไลต์คือ “สระมรกต” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บุ่งน้ำใส” สระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางโบกเนินแก่งหินลึกราว 3 เมตร ที่ไม่ว่าจะเป็นฤดูใดก็จะมีสีเขียวมรกตตลอดทั้งปี แต่น้ำใสที่สุดในเดือน ธ.ค. ที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่าก็คือ ไม่ว่าระดับน้ำโขงจะเพิ่มจะลดอย่างไร น้ำในสระก็จะคงที่อยู่ในระดับเต็มโบกเสมอ
สามพันโบกยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสมดุล เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เดิมสามพันโบกมีชื่อว่า “ปู่จกปู” จากตำนานพื้นบ้านเล็กๆ ที่เล่าเรียงถึงปู่กับหลานคู่หนึ่งลงเรือลอยลำหาปลากลางลำน้ำโขง และได้มาแวะพักยังโบกแห่งนี้ ฝ่ายหลานเกิดอาการหิวขึ้นมา ปู่จึงเอามือล้วงเข้าไปในหลุมโบก จับได้ปูมาทำเป็นอาหารมื้อโอชะให้หลานได้อิ่ม
สามพันโบก โด่งดังจากการถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ในภาพยนตร์โฆษณาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชุด (พี่)'เบิร์ดชวนเที่ยว' ด้วยสีสันของโบกที่มีรูปร่างลักษณะแล้วแต่จะจินตนาการ ทั้ง โบกมิกกี้เม้าส์ โบกส่องดาว โบกรูปหัวใจ โบกที่ใหญ่สุดและลึกที่สุด โบกหัวสุนัข โบกสะพานโค้ง ความงดงามของสามพันที่ยากจะลืม คงเป็นช่วงที่แสงทอประกายกระทบกันโขดหินจนทำให้โขดหินเปลี่ยนเป็นสีส้มนี่แหละจับตาจับใจยิ่งนัก
มหัศจรรย์และแสนจะงดงามแบบนี้ ก็ยังมีปัญหาที่ทำให้ต้องมีการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่าง 11 โครงการ มี 2 โครงการอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ประกอบด้วย เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งมีแผนการสร้างบริเวณบ้านท่าล้ง ถ้าหากการก่อสร้างสำเร็จขึ้นมาเมื่อใด สามพันโบกก็จะเป็นหนึ่งในพื้นที่บริเวณหลังเขื่อน พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ สามพันโบกก็จะจมหายไปกับสายน้ำหลังเขื่อนคงเป็นที่น่าเสียดายมากหากต้องเสียสามพันโบกไป
อยากย้ำความงดงามกันอีกครั้งด้วยแสงยามเช้าที่สามพันโบก เลยต้องตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วเดินทางมุ่งสู่หน้าสู่สามพันโบกแต่เช้ามืด เร่งรีบมาเพื่อแสงแรกของวันใหม่และก็ไม่ทำให้ผิดหวัง โบกยามเช้างดงามไม่ต่างจากยามเย็น แถมยังเป็นส่วนตัวเหมือนสามพันโบกเป็นของเรา
อิ่มหนำกับสามพันโบกแล้วกลับมาเช่าเรือชาวบ้าน ที่มีให้เช่าที่ริมฝั่งสามพันโบกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พาไปชมสถานที่ซึ่งพลาดในเมื่อวาน โดยการล่องเรือจากสามพันโบกนี้สนนราคาอยู่ที่ 300-400 บาทแล้วแต่ขนาดเรือ เรือจะเป็นเรือลำเล็กกว่าเรือที่ล่องมาจากหาดสลึง และจะล่องในส่วนที่เป็นลำน้ำนิ่งที่ขนานกับลำน้ำโขง
เราปล่อยให้เราพาล่องไปจนสุดสายที่ “บุ่งพระลาน” แล้วขึ้นชม “ลานหินสี” หินสีอันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสีที่เด่นๆ ก็เห็นจะเป็นสีแดง ไกด์ชาวบ้านที่พามา บอกว่าหินเหล่านี้เชื่อกันว่าเป็นหินอุกกาบาตมีมุมพิเศษที่ใครๆ ชอบกันมากก็คือ หินรูปโซฟา
แล้วลงล่องเรื่อต่อเพื่อมายัง “หาดหงส์” กองภูเขาทรายที่สูงใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในทะเลทรายก็ไม่ปาน จนไม่อยากจะเชื่อว่ากำลังเดินย่ำทรายที่อุบลฯ ในเมืองไทย ที่นี่นอกจากหาดทรายแล้วยังมีรอยเท้าหนูตัวใหญ่กับการปลูกถั่วฝักยาวแบบไร้สารพิษของชาวบ้าน ดังนั้นจึงจะเห็นภาพวิถีชีวิตที่มีชาวบ้านล่องเรือมาเก็บถั่วฝักยาวกันที่นี่ด้วย เดินเที่ยวจนทั่วหาดหงส์แล้วก็ลงเรือกลับสามพันโบกแบบเต็มอิ่มหัวใจ แต่ไม่เคยพอต้องขอมาใหม่อีกหลายๆ หน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สนใจท่องเที่ยว “สามพันโบก” และการเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร โทร.0-4533-8057, 0-4533-8015 และสามารถสอบถามแหล่งท่องเที่ยวในจ.อุบลฯ เชื่อมโยงกับสามพันโบกได้ที่ ททท.สำนักงานอุบลฯ โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714