ธิดารัตน์ หนูนิ่ม:รายงาน
ชีวิตเด็กม้งซึ่งต้องอาศัยวัดเป็นที่พำนัก สำหรับใครที่ต้องดำเนินชีวิตเช่นนี้ อาจจะไม่ได้คิดถึงอนาคตที่สดใสเบื้องหน้ามากนัก เพียงแค่ดำรงชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันก็ดีพอแล้ว แต่สำหรับ “สุชาติ ยอดคีรี” หรือ “ชาติ” อายุ 14 ปี นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 โรงเรียนบ้านหนองเต่า เขากลับไม่ได้คิดท้อถอยกับชะตาชีวิต หากแต่ใฝ่ฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ทุกๆ เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ชาติ ต้องตระเตรียมบาตร ปิ่นโต ถังพลาสติก อันเป็นเสมือนเครื่องมือประจำกายสำหรับ “เด็กวัด” อย่างเขา เพื่อออกเดินตามชายจีวรสีกลักของหลวงพ่อทุกๆ เช้า ช่วยนำอาหารที่ญาติโยมมีจิตศรัทธานำมาใส่บาตรกลับมาที่วัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติทำมาตลอดโดยไม่ได้รู้สึกว่าลำบากเลยแม้แต่นิดเดียว เพื่อตอบแทนข้าวก้นบาตรที่ทำให้เขาได้อิ่มท้องได้ทุกวัน
“ทำอย่างไรดีครับหลวงพ่อ ผมอยากเรียนหนังสือ...”
เป็นประโยคที่ชาติพูดกับหลวงพ่อที่เขาอาศัยอยู่ด้วยอยู่เสมอ เพราะสำหรับเด็กม้งอย่างเขา ชาติคิดว่า
หากเขาได้รับการศึกษา และความรู้ที่ดีได้ เขาจะสามารถนำวิชาความรู้เหล่านั้น ไปประกอบอาชีพได้ และเมื่อมีอาชีพชาติก็จะมีเงินส่งให้พ่อให้แม่เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น
ที่สำคัญหากเขามีรายได้มากพอ ชาติก็จะส่งน้องเรียนแทนพ่อกับแม่ได้อีกด้วย
เมื่อได้ยินคำปรารภของลูกศิษย์บ่อยครั้ง หลวงพ่อจึงเล็งเห็นว่า ชาติเป็นเด็กรักดี และเพื่ออนาคตที่ดี จึงได้นำตัวชาติ ไปฝากไว้กับโรงเรียนบ้านหนองเต่า โดยมี“สมพิศ นะวะวัฒน์” รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเต่า เป็นผู้ดูแล
ต่อมาหลังจากที่หลวงพ่อได้ฝากฝังชาติไว้กับ ครูสมพิศแล้ว ทางโรงเรียนได้พิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่ชาติ ในฐานะที่เป็นนักเรียนผู้ยากไร้ เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ และเติมเต็มชีวิตของเด็กชายชาวม้งให้มีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนต่อไป
นอกจากทุนการศึกษาที่ชาติได้รับแล้ว ทางโรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมระหว่างเรียนสร้างอาชีพเสริมให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถหารายได้ระหว่างเรียนด้วย ซึ่งกิจกรรมที่ทางโรงเรียนนำมาให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ ได้แก่ “การกัดลวดลายบนกระจก” โดยมีครูสมพิศผู้ดูแลชาติเป็นผู้ฝึกสอน
ครูสมพิศ กล่าวถึงที่มาของการนำกิจกรรมดังกล่าวมาฝึกให้กับนักเรียนว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมอาชีพ ให้แก่นักเรียน เพื่อให้เกิดคุณธรรม นำไปสู่รายได้ที่ดี ห่างไกลยาเสพติด และ ใช้ชีวิตที่พอเพียง โดยทางโรงเรียนจะให้เด็กนักเรียนยึดหลักคำสอน 5ส. บนความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
“5 ส.ประกอบด้วย ส.สะสาง คือการแยกของจำเป็นออกจากของที่ไม่จำเป็น และขจัดของที่ไม่จำเป็นออกไป ส.สะดวก คือการจัดวางสิ่งของอย่างเป็นระบบเพื่อความปลอดภัย ส.สะอาด คือการทำความสะอาด ปัด กวาด เช็ด ถู เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทำงาน ส.สุขลักษณะ คือการรักษามาตราฐานการปฏิบัติ 3 ส.และค้นหาสาเหตุต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ส.สุดท้าย สร้างนิสัย คือการปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นการกระทำที่เกดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือโดยธรรมชาติ” รองผอ.โรงเรียนบ้านหนองเต่าอธิบาย
ชาติตั้งใจฝึกการกัดลายกระจกตามที่ครูสมพิศสอน จนทำได้ชำนาญและลวดลายสวยงามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาอธิบายถึงวิธีการกัดลวดลายบนกระจกเป็นฉากๆ ว่า เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์เสียก่อน หากระจกเงาหรือกระจกใส ขนาด 4x5 ซม. ซึ่งเป็นขนาดทดลอง กระดาษสติ๊กเกอร์จะเน้นสีขาวหรือดำ เทปกาวสำหรับติดกระจก ภาพต้นแบบสำหรับกัดลาย คัดเตอร์ ดินน้ำมัน น้ำยากัดกระจก แปรงขัดกระจกผ้าปิดจมูก และถุงมือป้องกัน
“ที่ต้องใช้ผ้าปิดจมูก และถุงมือ เพราะเด็กนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมนี้ จะได้รับสารเคมีจากการกัดลวดลายบนกระจก จึงต้องป้องกันกลิ่น และอันตรายจากการใช้สารเคมีในกิจกรรมดังกล่าว”
หลังจากการเตรียมอุปกรณ์ ก็มาถึงวิธีการ นำกระจกที่จะใช้ทำการกัดลวดลายมาทำความสะอาด ต่อมานำสติ๊กเกอร์ที่มีลวดลายมาติดบนกระจก แล้วจึงนำเทปกาวมาแปะทับรูปที่พร้อมจะแกะสลัก โดยแปะทับซ้อนเป็นแนวนอน หลังจากนั้นลอกเทปกาวออก ขั้นต่อมาก็ลงมือแกะสลักลายตามภาพด้วยมีดคัดเตอร์ ดังนั้นนำดินน้ำมันมาติดรอบๆ รูปที่แกะสลัก แล้วจึงเทน้ำยากัดกระจกเพียงแค่พอท่วม ขั้นตอนสุดท้ายทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำกระจกไปล้างน้ำเปล่าโดยใช้แปรงขัด นำไปผึ่งแดดให้แห้ง ทิ้งไว้ประมาณ 2 ชม.
หลังจากที่ร่วมกิจกรรมจากการกัดลวดลายบนกระจก ทางโรงเรียนจะมีการจัดจำหน่ายโดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ ไปจัดจำหน่ายตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว ใช้เป็นของฝาก ของชำร่วย หรือใช้เป็นของขวัญ
“ถึงแม้ว่ารายได้จากการร่วมกิจกรรมการกัดลวดลายบนกระจกจะได้เพียงแผ่นละ 5 บาท แต่ผมก็ถือว่าเป็นการหารายได้ที่สุจริต ไม่ได้ไปคดโกงใคร ไม่ได้ไปฉกชิงวิ่งราวที่ไหน ทุกวันผมจะได้ยินหลักคำสอนของครูสมพิศ อยู่ในหัวตลอดว่า 'ทุกสิ่งทุกอย่าง สอนให้เกิดการคิดอย่างมีทักษะ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จะได้มากหรือได้น้อยก็ได้เหมือนกัน'
“ชีวิตของผมก็เป็นอย่างนี้แหละ มีทุกข์ มีสุข มันดี แต่ความทุกข์ส่วนใหญ่อยู่ที่ใจทั้งนั้น ยิ่งพยายามหนีก็ยิ่งทุกข์ ไหนๆ ก็ทุกข์แล้ว ก็เฝ้ามองดูเป็นบทเรียน เหมือนกับเราดูหนังที่คนอื่นแสดง เอาอะไรกันมากมาย คนบางคนนอนพื้นกระดานรู้สึกแสนทรมาน แต่สำหรับบางคนมีที่นอนก็ถือว่าดีแล้ว” ชาติเล่า
และตบท้ายว่า เขาตั้งใจจะพยายามศึกษาให้ได้สูงที่สุด และจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้สำหรับประกอบอาชีพสุจริต ซึ่งภาพที่ชาติภาคภูมิใจมากในการกัดลวดลายกระจก คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตัวเขายึดเอาพระราโชวาทของพระองค์ที่ให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน