แพร่-ชาวบ้าน 2 พื้นที่ 2 จังหวัดทั้งแพร่และลำปาง จับมือร่วมกันต่อต้านกลุ่มทุนที่เตรียมเข้ารุมทึ้งทรัพยากรในเขตป่า โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่เตรียมทำเหมืองทอง ชาวบ้านระบุเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบ เหตุเผยผลสำรวจแร่ทองคำที่มีมูลค่ามหาศาลในย่านนี้ จนนายทุนพากันลักลอบเข้าไปสำรวจ ล่าสุดชาวบ้านเตรียมปิดเส้นทางเข้าป่าเพื่อปกป้องทรัพยากรลุ่มน้ำยมแล้ว
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่าหลังจากนายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวเรื่องแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย การสำรวจเริ่มมาตั้งแต่ปี 2528 ผลสรุปพบว่าประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำรวม 76 แห่ง ครอบคลุม 31 จังหวัด มีปริมาณแร่ทองคำมากถึง 700 ตัน ซึ่งถ้ามีการทำเหมืองจะมีรายได้สูงกว่า 9 แสนล้านบาท ในการเปิดเผยดังกล่าวมีแหล่งทองคำในพื้นที่จังหวัดแพร่ที่ถูกระบุว่ามีทองคำหนาแน่นเพียงพอกับการลงทุนทำเหมืองได้ โดยเฉพาะที่ ห้วยแม่คำอ่อน รอยต่อจ.แพร่ - ลำปาง
ในพื้นที่ที่ถูกระบุว่ามีทองคำพบว่า มีบริษัททำเหมืองเข้าไปสำรวจ มาอย่างต่อเนื่อง มีการลักลอบเข้าไปขุดสำรวจโดยเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าอนุรักษ์ คือเป็นอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย และ เขตต้นน้ำแม่สรอย แหล่งป่าไม้ธรรมชาติที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำยม และพบแร่ทองคำตามที่มีการแถลงข่าวจริง โดยเฉพาะในห้วยแม่คำอ่อน หมู่ 10 ต.ป่าสัก อ.วังชิ้น จ.แพร่ และเตรียมที่จะขอสัมปทานทำเหมืองแล้ว
ในขณะที่การลักลอบเข้าสำรวจไม่มีการแจ้งให้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ทราบส่งผลให้ชาวบ้านไม่พอใจ และเตรียมต่อต้านการสำรวจดังกล่าว โดยกลุ่มชาวบ้านเตรียมปิดเส้นทางไม่ให้คนภายนอกเข้าป่าแถบนี้อีก
แม้การสำรวจเป็นความลับ แต่มีกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสจากการเข้าสำรวจของบริษัทลึกลับ เข้าไปลับลอบย่อยหินเก็บเอาทองคำไปจำหน่ายกันแล้ว
พระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า จุดดังกล่าวเป็นจุดที่ชาวบ้านทั้งชุมชนทราบดีอยู่แล้วว่ามีทองคำ ชาวบ้านในอดีตมีวิถีชีวิตอยู่กับอาชีพ “ตาวคำ” คือการร่อนทองในลำห้วย ไม่ผิดปกติอะไร แต่เมื่อมีการแถลงข่าวออกมาทำให้มีคนภายนอกที่ตื่นทองคำเข้ามาแสวงโชค ลักลอบขุดกันแล้ว โดยสังเกตร่องรอยกายย่อยหินมีให้เห็นตลอดเส้นทาง 7 กิโลเมตร ที่เดินทางเข้าไปดูสภาพทั่วไปในห้วยแม่คำอ่อน
ความจริงแล้วชาวบ้านในชุมชน ไม่มีวิถีอยากร่ำรวยจากทองคำ แต่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าไม้ทำให้ชาวบ้านมีน้ำสะอาด และ ป่าไม้ที่ได้ใช้สอย ซึ่งป่าสามารถสนองให้กับชุมชนได้เรียกว่าเป็นปัจจัย 4 ให้กับทุกคนในชุมชน ถ้ามีปัญญาก็แถบไม่ต้องใช้เงินทองไปซื้อหา ชาวบ้านคิดเรื่องการฟื้นฟูป่ามากกว่าการไปเปิดป่าเพื่อผลประโยชน์ เป็นการคิดอย่างยั่งยืนมากกว่า
ขณะนี้ชาวบ้านกำลังคิด เรื่องการหาทางป้องกันไม่ให้มีการทำเหมืองและไม่ให้มีคนภายนอกเข้ามาแสวงโชค ลอบขุดทอง ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณี ต้องรับผิดชอบการที่ออกมาเปิดข่าวดังกล่าวทำให้มีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามารุมทึ้ง พื้นที่ป่าอนุรักษ์แหล่งสำคัญของแม่น้ำยม
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกัน ชาวบ้านในหมู่ 10 หมู่ 1 และหมู่ 6 บ้านแม่กระต๋อม มีการประชุมหารือเพื่อหาทางออกในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำสรอย กลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำ เครือข่ายป่าชุมชนบ้านแม่พุงหลวง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงเข้าร่วมด้วย เพราะเชื่อว่าพื้นที่ในการขอสัมปทาน ไม่เพียง ห้วยแม่คำอ่อน แต่จะกินพื้นที่ตามแนวเทือกเข้าผีปันน้ำ ไปถึงหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอย่างแน่นอน
นายเกียรติ คำน้อย กล่าวว่า พื้นที่ที่มีทองคำในเทือกเขาผีปันน้ำ ไม่เพียงห้วยแม่คำอ่อน แต่กินพื้นที่ ตั้งแต่ อ.สบปราบ อ.เถิน จ.ลำปาง ต่อกับ ต.สรอย ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ รวมไปถึงแนวเขต.อ.ศรีสัชชนาลัย จ.สุโขทัย พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มทุน ที่จะเปิดพื้นที่ทำเหมือง ก่อนหน้าที่ชาวบ้านปางงุ้น หมู่ 1 ต.สรอย ได้ออกมาต่อต้านการสัมปทานทำเหมืองเหล็กก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกับที่จะเข้ามาสัมปทานขุดทอง หมายความว่า การเปิดเหมืองเหล็กเป็นการสร้างจุดสนใจให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ไปต่อต้านกับเหมืองเหล็ก แต่ในขณะเดียวกันได้ลักลอบเข้าสำรวจทองคำโดยไม่มีการต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ด้านตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำ ที่เป็นฝั่งจังหวัดแพร่ ได้จับมือกันหมดแล้วในการพิทักษ์พื้นที่ป่าไม่ให้มีการทำลายป่าต่อไปอีก ซึ่งจะเข้าหาแนวร่วมกับชาว อ.เถิน และ อ.สบปราบ ต่อไป เพื่อพิทักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นประโยชน์กับคนทั้งโลกเอาไว้ให้ได้
นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การที่มีกระแสการทำเหมืองทองขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการขอประทานบัตร แต่อาจมีผู้เข้าไปศึกษาสำรวจ ซึ่งต้องดูว่าผลที่ออกมาจะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนเพียงใด จังหวัดแพร่เน้นหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ถ้าทองคำมีมูลค่ามากพอที่จะลบล้างกับคุณค่าของป่าไม้ธรรมชาติได้ ก็น่าจะต้องให้ทำ แต่ถ้าความสูญเสียทางธรรมชาติจะส่งผลกระทบรุนแรง ก็ต้องใช้หลักการตัดสินใจของชาวบ้านคือการทำประชาพิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการให้นายอำเภอลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร และจะหาทางป้องกันตามที่ชาวบ้านต้องการอย่างได้อย่างไรต่อไป