xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเมืองแพร่ใช้วิถี“รักถิ่น”ปกป้อง“ขุมคำลุ่มน้ำสรอย”ทรัพยากรของบรรพบุรุษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ – ชาวบ้าน “กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย” คนเมืองแพร่ เดินหน้าค้านการสำรวจแร่ด้วยกระบวนการชุมชนรักถิ่น ยันสู้ถึงที่สุด เพื่อปกป้อง “ขุมคำ” ของบรรพบุรุษให้กับลูกหลาน

ไม่เพียงกรมทรัพยากรธรณี จะเคยสำรวจไว้เมื่อหลายปีก่อน จะระบุว่า ต.สรอย ต.ป่าสัก อ.วังชิ้น จ.แพร่ เขตติดต่อกับลำปาง-สุโขทัย นับเป็นแหล่งสายแร่ทองคำสำคัญอีกแห่งของไทยเท่านั้น ด้านอุตสาหกรรมและการเหมืองแพร่ ก็มีข้อมูลระบุว่า แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญของไทย นอกจากเชียงราย เลย อุตรดิตถ์ หนองคาย พิจิตร เพชรบูรณ์ และลพบุรี ตลอดจนพื้นที่ภาคตะวันออกแล้ว ยังมีพื้นที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ รวมอยู่ด้วย

สอดคล้องกับวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ ที่เคยมีการ “ตาวคำ” หรือ “ร่อนทอง” ของชาวบ้านวังชิ้นในอดีต ที่ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมาแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันไม่ได้มีการขุดทองแล้ว ยกเว้นพื้นที่ใกล้เคียงคือ บ้านกุ่ม ต.แม่ปะ อ.เถิน เขตติดต่อกับบ้านปางงุ้น ต.สรอย โดยมีจุดสำคัญที่ชาวบ้านมักเข้าไปขุดหาแร่ทองคำกันก็คือ ห้วยขุมคำ ห้วยแม่ผีสาง ห้วยแม่อาง และห้วยแม่ปอย

นางผาย จาริกุล อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 203 หมู่ 6 บ้านปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า ในอดีตบรรพบุรุษมีการตาวทอง ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนที่มีอาชีพตาวทองยังคงเก็บเครื่องไม้เครื่องมือไว้อยู่ เช่น อ่วน บางคนได้ทองเป็นเกล็ดเล็กๆ บางคนได้ทองเท่าหัวไม่ขีดไฟ ขายได้พออยู่พอกิน แต่ก่อนราคาทองไม่ได้สูงแบบนี้

ด้วยข้อมูลบ่องชี้จากหลากหลายแหล่งเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.สรอย อ.วังชิ้น เริ่มลุกขึ้นมาแสดงพลังปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง เพราะเริ่มได้รับความสนใจจากนายทุนต่างพื้นที่มากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่เข้ามาสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่องไล่ตั้งแต่ ต.สรอย ต.แม่ป๊าก ต.แม่พุง อ.วังชิ้น

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.50 บริษัท ณ ภัทรไมนิ่ง จำกัด ได้ขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ในพื้นที่ ต.สรอย อ.วังชิ้น พื้นที่ 1,220 ไร่ โดยอ้างว่า เป็นเพียงการสำรวจแร่เหล็กเท่านั้น พร้อมกับบอกชาวบ้านว่า การสำรวจดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเงิน สร้างงานให้กับคนสรอยในอนาคต

การขออาชญาบัตรฯดังกล่าว สร้างกระแสหวั่นวิตก และคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดการคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมารวมตัวเป็น กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย โดยมีแกนนำชาวบ้าน และพระสงฆ์ คือพระยงยุทธ ธีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น เป็นกำลังหลักในการคัดค้าน

พระยงยุทธ ธีปโก กล่าวว่า การขอสำรวจดังกล่าว จะนำไปสู่การเปิดเหมืองในอนาคต ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลสรอย ตำบลแม่ป๊าก และตำบลแม่พุง ทันที เนื่องจากพื้นที่ตำบลสรอยเป็นแหล่งต้นน้ำสรอย ที่ไหลผ่านลงสู่น้ำยม ที่สำคัญบริษัทใช้กระบวนการที่ไม่ถูกต้อง โดยใช้เสียงมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นตัวตัดสิน แทนที่จะเป็นชาวบ้าน แต่ชาวบ้านมารู้ภายหลัง ที่สำคัญกว่านั้น คือ การเข้ามาของบริษัทดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกในตำบลสรอย เป็น 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม วันนี้ กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับนายทุนที่เข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการแบบชาวบ้าน อาทิ การแลกเปลี่ยนดูงานกับพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมืองทองที่พิจิตร ,เหมืองโปแตสที่อุดรธานี ทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากการสร้างเหมืองแร่ทอง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับชาวบ้านได้ตัดสินใจเอง การรณรงค์ปลุกสำนึกรักถิ่น ผ่านการรณรงค์ของเยาวชนคนต้นน้ำสรอย โดยการแจกใบปลิวให้ข้อมูลแก่คนในชุมชน ให้ข้อมูลกับชาวบ้านทุก ๆ เดือน แม้ว่าจะไม่มีทุนรอนในการทำแผ่นพับใบปลิว แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในเขตตำบลสรอย สนับสนุนกระดาษเปล่า- เงินทองเล็ก ๆ น้อย ซึ่งก็ถือว่าเป็นกระบวนการต่อสู้แบบภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะที่การยื่นหนังสือคัดค้านให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในแต่ละครั้ง กลับไม่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาใดๆ ได้เลย ไม่ว่าผู้ว่าราชการจะเปลี่ยนไปแล้วกี่คนก็ตาม ปัญหาดังกล่าวกลับมิได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด จนชาวบ้านและกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเอง โดยมีศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้านจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เข้ามาหนุนช่วยเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ต่อสู้เคียงข้างกับชาวบ้าน

ล่าสุดแม้วันนี้ อาชญาบัตรสำรวจแร่ของบริษัท ณ ภัทรไมนิ่ง จะหมดอายุเมื่อวันที่ 27 ก.ค.52 ที่ผ่าน และไม่มีความคืบหน้าใดๆ ก็ตาม แต่เครือข่ายกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ยังเชื่อว่ากระบวนการของบริษัทคงยังไม่จบลงง่ายๆ เป็นแน่

ที่สำคัญในพื้นที่กลับมีการเคลื่อนไหวของนายทุนต่างถิ่น เข้ามากว้านซื้อที่ดินในเขตป่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ไล่ตั้งแต่ตำบลแม่ป๊าก จนถึงอำเภอวังชิ้น และตำบลแม่ปะ เขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ติดต่อกับบ้านปางงุ้น ตำบลสรอย เป็นการกว้านซื้อที่ดินเพื่อปิดล้อมพื้นที่สายแร่ทองคำดังกล่าว

ทำให้กระบวนการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้อง “ขุมคำ” หรือขุมทองคำ แห่งนี้จนถึงที่สุด

แม้ว่าล่าสุด รัฐ จะเปิดช่องทางให้นายทุนเข้า “กระทำ” ต่อพื้นที่ป่ามากขึ้น โดยมีการปรับแก้ พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ให้สามารถทำเหมืองในเขตพื้นที่ป่าได้ก็ตาม



กำลังโหลดความคิดเห็น