xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านแห่ขอพบพ่อเมืองแพร่ต้านออกกม.ทำเหมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านแห่ขอพบพ่อเมืองแพร่ต้านออกกม.ทำเหมืองในอุทยานแห่งชาติ
แพร่-ชาวบ้านพร้อมเครือข่ายลุ่มน้ำสรอยเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อยื่นหนังสือระงับการเปิดพื้นที่ป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำสรอยเพื่อทำเหมืองแร่ทุกชนิด พร้อมขอให้เร่งรัดคดีที่มีบุคคลรุกป่าสงวนแห่งชาติและขออยู่พบปะกับผู้ว่าฯลำพัง เพื่อให้ข้อมูลในทางลับเกี่ยวกับการเข้าใจผิดในบางประเด็น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่าเมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้( 13 กรกฎาคม) เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำสรอย นำโดย บุญช่าง ธิหลิม รองประธานเครือข่าย ฯ พระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่ปรึกษาและสมาชิกจำนวน 20 คนพร้อมด้วยผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าพบนายวัลลพ พริ้งพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่ห้องสื่อสารสนเทศ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดแพร่ เพื่อยื่นหนังสือให้ระงับการเปิดพื้นที่ป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำสรอย เพื่อทำเหมืองแร่ทุกชนิด และระงับการต่อสัญญาประทานบัตรผูกขาดสำรวจแร่เหล็ก ในลำห้วยและป่าลุ่มน้ำสรอยพร้อมทั้งให้เร่งดำเนินคดีบุคคลที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมือง ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.สรอย ดำเนินคดีอย่างล่าช้าอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันในการร่วมกันฟื้นฟูป่าไม้ให้เป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป โดยการเข้าพบในครั้งนี้เครือข่ายอนุรักษ์ดังกล่าวต้องการให้เบาะแสและต้นเหตุของความเข้าใจผิดระหว่างภาครัฐและประชาชน ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานที่จะเข้าชี้แจงต้องออกจากห้องประชุมทั้งหมด เหลือเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กับตัวแทนชาวบ้านเท่านั้น

พระยงยุทธ ทีปโก กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรณีความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการอยู่กับธรรมชาติที่ปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงชุมชนสรอย แต่เป็นความปลอดภัยทั้งลุ่มน้ำสรอย จำนวน 4 ตำบลคือต.สรอย ต.ป่าสัก ต.แม่พุง และ ต.วังชิ้น รวมถึงลุ่มน้ำยม ซึ่งการทำเหมืองแร่เหล็กดังกล่าวจะเปิดพื้นที่ป่าบริเวณต้นน้ำที่ชาวบ้านใน 4 ตำบลต้องใช้น้ำ ถ้าเกิดมีสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายลงสู่ลำน้ำ ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร ถึงแม้ผู้ประกอบการจะยืนยันว่าจะมีการกักเก็บเป็นอย่างดี แต่ทุกวันนี้ไม่มีเหมืองใดเลยในประเทศไทยที่เปิดทำเหมืองแล้วทำตามกติกา ในที่สุดชาวบ้านต้องรับกรรม เช่นที่ เหมืองตะกั่ว คิดตี้ จ.กาญจนบุรี เหมืองทองคำที่เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร หรือที่ จ.ตาก มากมายมีให้เห็น

พระยงยุทธกล่าวต่อว่า การขอสัมปทานเหมืองเหล็กในจังหวัดแพร่ ไม่น่าจะมีเพียงเหมืองเหล็กเท่านั้น แต่เชื่อว่า น่าจะมีเรื่องของเหมืองทองคำตามมา เพราะจุดที่มีการขอสัมปทาน ประวัติชุมชนที่ผ่านมา ชาวบ้านร่อนทองคำนำไปจำหน่ายแล้วใช้เงินที่ได้จากทองคำมาสร้างวิหารวัดม่วงคำ แม้ในปัจจุบันหยุดร่อนทองไปแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเก็บอุปกรณ์การร่อนทองไว้ในบ้าน ซึ่งมั่นใจว่าใต้ดินของตำบลสรอย จ.แพร่ ต่อไปยัง อ.เถิน จ.ลำปาง มีทองคำอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเหมืองทองคำหายนะจะตามมาอีกเท่าไหร่ไม่รู้

นางกรรณิการ์ ชุมภูศรี ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน จ.แพร่ กล่าวว่า จากข้อมูลทรัพยากรธารณีในประเทศไทย พบว่าในพื้นที่จังหวัดแพร่ติดต่อลำปาง มีแร่เหล็กและทองคำ โดยเฉพาะแร่เหล็กมีให้เห็นโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินในบริเวณลำห้วยแม่ผีสาง ซึ่งในขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าว ก็คือต้นน้ำสำคัญของประเทศ ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องของสภาวะสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ มากกว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ถึงแม้จะเปิดเหมืองแต่ประชาชนก็ไม่ได้ผลประโยชน์ใดใดมากนัก

ดังนั้น แร่ธาตุในดินจึงสำคัญน้อยการการพยุงพื้นที่ป่าต้นน้ำไว้ให้ได้ ในบริเวณที่ชาวบ้านประท้วง เป็นป่าต้นน้ำ ของลุ่มน้ำยม ในพื้นที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และลุ่มน้ำวัง อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งทั้งสองลุ่มน้ำถือเป็นลุ่มน้ำสำคัญของของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่มีกฎหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติกำกับอยู่เป็นส่วนใหญ่

นอกจากชาวบ้านไม่ต้องการเหมืองแร่แล้ว กลุ่มทุนยังต้องติดปัญหาป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะออกกฎหมายให้สามารถทำเหมืองได้ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ขอเรียกร้องให้นักการเมืองที่ยังมีสำนึกผู้แทนประชาชนมาจากประชาชนออกมาต่อต้านกฎหมายดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น