xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแพร่ตั้งวงถกแผนต้านเหมืองเหล็กกลางป่า ชี้ขออนุญาตผิดกฎหมาย-หวั่นเกิดโคลนถล่มซ้ำปี 44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ชาวบ้านลุ่มน้ำสรอย ตั้งวงถกตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ และภูมิภาคอื่นๆ ร่วมหาหาแนวทางร่วมต่อต้านเหมืองเหล็กขอสัมปทานผิดกฎหมายในเขตป่าต้นทุน วางแผนวทางยกระดับการต่อสู้ใหม่ ขยายพื้นที่อนุรักษ์เพิ่ม หวั่นโศกนาฏกรรมน้ำป่า-โคลนถล่มเกิดซ้ำเหมือนปี 44

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า กรรมการกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ จำนวน 20 คนนำโดยพระยงยุทธทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้ประชุมร่วมตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน จังหวัดแพร่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้านจังหวัดแพร่ นำโดยนางสาวกรรณิการ์ ชุมภูศรี ผู้ประสานงาน นางสิริกัลยา เจริญดี พร้อมด้วยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ องค์กรพัฒนาเอกชนจากการต่อต้านเหมืองโปแตส จ.อุดรธานี นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่พระอุโบสถวัดม่วงคำ ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาการทำลายลุ่มน้ำสรอย ซึ่งในปี 2544 ชาวบ้านประสบภัยพิบัติน้ำป่าเข้าท่วมมีผุ้เสียชีวิตไปถึง 40 ศพในคืนเดียว ทำให้ประชาชนตื่นตัวในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้และลุ่มน้ำในท้องถิ่น เพื่อความเป็นอยู่ที่สุขสบายด้วยการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเหมาะสมโดยที่ประชุม มีมติแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ และต่อต้านการทำลายป่าต้นน้ำทุกรูปแบบ

พระยงยุทธทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น กล่าวว่า จากเหตุการณ์ร้ายที่ผ่านมา น้ำป่าทำลายหมู่บ้านทำลายคนจำนวนมาก ไม่มีใครตอบได้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะกลับมาอีกหรือไม่ เพียงแต่ชาวบ้านเกิดสำนึกในการช่วยเหลือกันฟื้นฟูป่าฟื้นฟูลุ่มน้ำ แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง คือทางราชการเปิดให้มีการทำเหมืองเหล็กในเขตต้นน้ำบริเวณหมู่ 10 ต.สรอย ซึ่งการทำเหมืองนอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วยังสิทธิชุมชนและละเมิดขั้นตอนการขออนุญาตในกฎหมายเหมืองแร่

ซึ่งที่ประชุมมีแนวทางในการยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ปัญหาจะมีการเปิดแนวทางให้ความรู้กับกลุ่มประชาชนในลุ่มน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการฟื้นฟูธรรมชาติ และผลักดันให้รัฐเห็นความสำคัญและหยุดการเปิดสัมปทานทำเหมืองเหล็กในเขตป่าต้นน้ำต่อไป

พระยงยุทธกล่าวด้วยว่า การทำเหมืองเหล็กดำเนินการอย่างไม่ชอบมาพากล ละเมิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีเรื่องการเปิดพื้นที่ทำเหมืองทองในจังหวัดแพร่อีกด้วย โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันและจะใช้วิธีการทางด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวถือเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างกลุ่มทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรองรับการเกิดปัญหาภัยพิบัติที่จะตามมาในช่วงฤดูฝนนี้ ภายใต้สิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวและนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยการใช้กฎหมายมากกว่าการต่อสู้แบบเก่าๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น