xs
xsm
sm
md
lg

พบพิรุธ“เหมืองเหล็กแพร่”ออกใบอนุญาตผิดขั้นตอน/ละเมิดกฎหมาย-สิทธิชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - กรรมาธิการวุฒิสภา ลงพื้นที่ดูเอกชนรุกป่าสัมปทานเหมืองเหล็กที่แพร่ พบราชการอ้อมแอ้มตอบไม่ตรงคำถามทำผิดขั้นตอนออกประทานบัตร ไม่ทำประชาพิจารณ์ ส่งผลทำลายสิ่งแวดล้อม พบหลักฐานการขอประทานบัตรผูกขาดมีพิรุธผิดกฎหมายอื้อ ยืมโฉนดไปออกใบอนุญาต เจ้าของ “ณภัทรไมนิ่ง” อ้างทำรายได้เพื่อประเทศชาติ แก้ปัญหาเศรษฐกิจน้ำขุ่นๆ ขณะประชาชนจี้ยกเลิก ตั้งกรรมการสอบการขออนุญาตทั้งกระบวนการ

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า กรรมมาธิการรับเรื่องร้องเรียนและกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาฯ ,นายบุญส่ง โควาวิสารัช รองประธานกรรมาธิการฯ ,นายขวัญชัย พนมขวัญ สว.แพร่ ,นายเสรี คำภีรธัมโม รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ,นายวิรัช วัณมาลิกพันธ์ ปลัดอาวุโสอำเภอวังชิ้น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรจังหวัดแพร่ อุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ และตัวแทนจากท้องถิ่นคือนายผวน เฟื่องฟู นายก อบต.สรอย, พระยงยุทธทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น กลุ่มชาวบ้าน จำนวนกว่า 300 คน, นายสุริยะ ศรีตุลานุกูล ตัวแทนบริษัทณภัทรไมนิ่ง จำกัดเข้าประชุมร่วมกันที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อ 8 ก.พ.52

ทั้งนี้ เพื่อร่วมหาทางออกกรณีประชาชนจำนวนมากในลุ่มน้ำสรอย ร้องเรียนการเปิดเหมืองเหล็กอย่างผิดกฎหมาย และบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำสรอย ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบถึง 3 ตำบลคือ ต.สรอย ต.ป่าสัก และ ต.แม่พุง ที่ชาวบ้านเห็นว่าการสัมปทานเหมืองเหล็กไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำลายป่าต้นน้ำรวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ไม่สมควรออกใบอนุญาตทำเหมืองเนื่องจากมีความเสี่ยงภัยสูง จนมีการร้องเรียนไปยังกรรมาธิการ วุฒิสภา และกรรมาธิการได้เชิญผู้เสียหายไปร่วมให้ข้อมูลที่รัฐสภามาแล้ว

ในห้องประชุมระหว่างชาวบ้าน ผู้ประกอบการเหมือง และ กรรมาธิการดังกล่าว มีการถกเถียงและให้ข้อมูลอย่างรอบด้วน หลังการติดตามสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการเปิดเหมืองเหล็กของบริษัทณภัทรไมนิ่ง จำกัด ภายในห้องประชุม ได้ระดับหนึ่ง จากนั้นคณะกรรมาธิการได้เข้าพบชาวบ้านที่มารอรับ ได้ร่วมแจกผ้าห่มกันหนาวให้กับชาวบ้าน

จากนั้น กรรมาธิการได้เข้าดูพื้นที่พบว่า มีการบุกเบิกตัดถนนเข้าไปในป่าสงวนแห่งชาติจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียน ซึ่งบริษัทณภัทรไมนิ่ง ปฏิเสธการบุกรุกดังกล่าว

ขณะที่ประธานกรรมาธิการได้ยืนยันกับชาวบ้านจะนำข้อเท็จจริง ไปสู่การแก้ปัญหาตามกฎหมาย ส่วนกรรมาธิการนั้นไม่มีหน้าที่โดยตรง ในการตัดสินหรือลงโทษผู้กระทำผิด แต่การเข้ามาเพื่อเข้ามาพิสูจน์ความจริง และนำเสนอให้มีการดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

ประธานกรรมาธิการได้กล่าวกับชาวบ้านถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเป็นปัญหามากขึ้นทุกวัน เป็นสิ่งที่ดีที่ชาวบ้านหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสุริยะ ศรีตุลานุกูล ตัวแทนบริษัทณภัทรไมนิ่ง จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทเข้ามาสำรวจเนื่องจากเราต้องการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ โดยการนำทรัพยากรไปจำหน่าย ส่งออก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งท้องถิ่นจะได้ค่าภาคหลวง และเกิดการพัฒนาให้คนมีงานทำ ความจริงแล้วยังไม่ได้ทำเหมือง เพียงอยู่ในขั้นตอนสำรวจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตนจะดำเนินการต่อไป เพราะได้รับใบอนุญาตมาแล้วจากรัฐมนตรี ถ้าไม่ทำบริษัทก็เสียหาย การที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านเกิดจากความไม่เข้าใจมากกว่า ในส่วนที่มีการทำถนนเข้าไปในพื้นที่ป่านั้นไม่ใช่ผลงานของบริษัท

“ยกเว้นถ้าผลสำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะถอนตัว”

ทั้งนี้ชาวบ้านยังคงสงสัยในข้อชี้แจงของผู้ประกอบการทำเหมือง และหน่วยงานราชการ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาทิการนำเครื่องจักรเข้าไปเปิดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่สรอย ซึ่งชาวบ้านต้องการให้ยุติการทำเหมือง เนื่องจากหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยพื้นที่ ต.สรอยเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้มีการยุติการทำเหมืองทันที

พระยงยุทธทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น กล่าวว่า จากเหตุภัยพิบัติปี 2544 มีผู้เสียชีวิตถึง 43 คน เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงจากน้ำป่า ณ วันเกิดภัยพิบัติป่ายังดีอยู่ แต่ถ้าทำเหมืองบริเวณดังกล่าวทำให้ป่าหมดไป ภัยพิบัติไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดเมืองไหร่ ถ้าปีหน้าหรือปีถัดไป เกิดภัยพิบัติน้ำป่าในขณะที่มีการทำเหมืองการพังทลายโคลนถล่ม น่าจะรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะหน้าดินถูกเปิด ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านประจักษ์ดี และต้องการต่อต้านไม่ให้สร้างเหมืองในพื้นที่

พระยงยุทธ ยอมรับว่า หลังโครงการสร้างเหมืองเข้ามา เกิดความแตกแยก บางส่วนต้องการผลประโยชน์ บางส่วนต้องการให้เกิดสิ่งแวดล้อมดี แต่ส่วนมากต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี ยืนยันขออยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริในหลวง สร้างสิ่งแวดล้อมให้กับลุ่มน้ำยมต่อไป จึงได้ร่วมกับชาวบ้าน ในการหาข้อมูลในการแก้ปัญหาและข้อดีข้อเสียของการสร้างเหมืองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันชาวบ้านส่วนมากยืนยันชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้สร้างเหมืองโดยเด็ดขาด

ในส่วนของประทานบัตรในการสำรวจที่ออกมา จะต้องมีการตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ เช่นโฉนดที่ดินที่นำมาประกอบการขอประทานบัตรเป็นความยินยอมของชาวบ้านหรือไม่ การบุกเบิกเข้าไปในป่าอนุรักษ์เป็นความผิดของใคร จังหวัดควรตั้งกรรมการเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและถ้าพบว่ามีการกระทำผิดจะต้องลงโทษ

นายเสรี คัมภีรธัมโม รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ผมได้เข้ามาทำหน้าที่ได้ไม่นาน จึงไม่ทราบเรื่อง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าว ต้องให้โอกาสทุกฝ่ายในการชี้แจง ซึ่งได้สั่งการศูนย์ดำรงธรรมเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาทางออกร่วมกันต่อไปโดยเร็ว

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการรับเรื่องร้องเรียนวุฒิสภา กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่พบข้อเท็จจริงหลายเรื่อง ในการขออนุญาต รวมไปถึงขั้นตอนการสำรวจ พบข้อมูลว่ายังคงรอผลการอนุญาตของทางหน่วยราชการอยู่ ดังนั้น การเข้าสำรวจตามขั้นตอนของกฎหมายยังไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องดูว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการอย่างไร สิ่งที่พบอีกคือยังขาดการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตัดสินใจในการให้เข้าขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่ เป็นสาเหตุสำคัญให้ประชาชนออกมาร้องเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น