แพร่ - ชาวบ้านลุ่มน้ำสรอย หมดทางใช้กฎหมายหยุดยั้งการเปิดทำเหมืองเหล็กนายทุนใหญ่ในพื้นที่จองชุมชน หลังข้าราชการทุกหน่วยและผู้แทนในท้องถิ่นไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ลงมติตั้งกลุ่ม “รักษ์ลุ่มน้ำสรอย” เดินหน้าสู้ด้วยตนเอง
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า ชาวบ้านทุกหมู่บ้านใน ต.สรอย อ.วังชิ้น ,รวมถึงแกนนำชาวบ้านใน ต.ป่าสัก ต.แม่พุงหลวง จ.แพร่ รวมทั้งพระภิกษุจากวัดม่วงคำ และวัดปางงุ้น ได้รวมตัวกันที่สำนักงานผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านม่วงคำ เพื่อร่วมกันประเมิน-วิเคราะห์สถานการณ์ต่อสู้กับนายทุนทำเหมืองเหล็กในพื้นที่
ในที่สุดมีมติตั้งกรรมการต้านสร้างเหมืองแร่เหล็กลุ่มน้ำสรอย ชื่อ “กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย” และเดินหน้าแก้ปัญหาดังกล่าวของชุมชนด้วยตนเอง โดยเรียกร้องให้ภาครัฐหยุดการสร้างเหมืองแร่เหล็กในทันที ซึ่งได้ทำหนังสือถึ กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, นายขวัญชัย พนมขวัญ สว.จังหวัดแพร่ ,คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดแพร่ ,นายพงศ์ศักดิ์ พลายเวช ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันหยุดการเปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการระเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง
ส่วนมาตรการการทำงานในชุมชน จะมีการจัดเวทีขนาดย่อย ตามตลาดนัดในชุมชน แจกใบปลิวให้ข้อมูลต่อประชาชน นำผู้นำชุมชนไปดูงานในเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อประชชนและจะร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดแพร่ เชิญผู้เกี่ยวของและนักวิชาการเปิดเวทีใหญ่ใน ต.สรอย ต่อไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้และเข้มข้นขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในปลายเดือนตุลาคมนี้
นายภานุพงศ์ นามวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำสรอย กล่าวว่า ขั้นต้นทางการต้องเข้ามารับผิดชอบการกระทำที่ละเมิดกฎหมายก่อนที่จะมีความผิด เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการเปิดหน้าดินในป่าสงวนแห่งชาติแม่สรอย ในขณะที่ยังไม่ได้รับอนุญาตทำเหมืองแต่อย่างใด ถือเป็นการบุกรุก เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ออกมาตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายโดยด่วน
ทั้งนี้ หลังปี 2544 เป็นต้นมาชาวบ้านในลุ่มน้ำสรอย ต้องอดทนกับการฟื้นตัวของธรรมชาติหลังภัยพิบัติน้ำป่าเข้าพังทลายบ้านเรือนไร่น่าเป็นบริเวณกว้างถึง 4 ตำบลในอ.วังชิ้น จ.แพร่ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบทเรียนการตัดไม้ทำลายป่าของนายทุนที่เข้าตัดป่าไม้สักทองในชุมชนลุ่มน้ำสรอยจนเหี้ยน ทำให้ประชาชนเกิดสำนึกในการกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติ ป่าเขา ลุ่มน้ำ และไร่นาให้กลับคืนมาได้อย่างน่าพอใจ
แต่การเฝ้าระวังและความร่วมมือในการฟื้นฟูธรรมชาติ ต้องประสบปัญหาขึ้นอีกครั้งกับการรุกคืบของกลุ่มทุนในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน
โดยบริษัทณภัทร ไมนิ่ง จำกัด ใช้เครื่องจักรรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่เข้าเปิดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่สรอย บริเวณหมู่ 10 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ในขณะที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตสัมปทานทำเหมืองแต่อย่างใดหลังการนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่บุกเบิกทำลายป่าเข้าไปใกล้พื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เขตติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยแล้วในขณะนี้
ว่ากันว่า หลังจากชาวบ้านใน ต.สรอย ต.ป่าสัก ต.แม่พุง ในลุ่มน้ำสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ออกมาต่อต้าน ทำให้บริษัทดังกล่าวเร่งดำเนินการในการขออนุญาต ซึ่งมีการเสนอเงินให้กับผู้รับผิดชอบ ระดับอำเภอได้รับค่าอำนวยความสะดวกเบื้องต้นคนละ 100,000 บาท ถ้าโครงการดำเนินไปได้ สมาชิก อบต.และผู้บริหารจะมีเงินเดือนเพิ่มอีก 1 เท่าตัวจากเงินที่ทางการจ่ายให้ และเข้าเจรจากับพระประยุทธทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งเป็นแกนนำต้านเหมืองเหล็ก ขอบริจาคเงินให้ถึง 500 ,000 บาทเพื่อนำไปพัฒนาวัด แต่เจ้าอาวาสไม่รับเงื่อนไข ยังคงยืนอยู่ข้างชาวบ้านที่หวั่นเรื่องผลกระทบตามมาถ้ามีการทำเหมืองในเทือกเขาและป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำสรอย
ต่อมานายชัชพงศ์ เอมสุวรรณ นายอำเภอวังชิ้น ส่งหนังสือการขออนุญาตผูกขาดการสำรวจของบริษัทณภัทร ไมนิ่ง จำกัด ที่อุตสหกรรมจังหวัดแพร่ อนุญาต ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ให้ออกมาต่อต้าน และเป็นที่มาของสภามีมติอนุมัติให้บริษัทดังกล่าวเข้าไปทำงานได้ ถึงแม้ชาวบ้านจะมีหนังสือต่อต้านไปยังประธานสภาฯ เพื่อคัดค้านและให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน แต่ก็ไม่มีความหมาย
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางอีกว่า ประชาชนเรียกร้องให้ทำถนนเข้าไปในพื้นที่เหมืองดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถจับกุมผู้ดำเนินการได้อีกด้วย ทั้งที่ชาวบ้านล้วนแต่คัดค้านโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง