xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน “จีที 200” แบบทดสอบ “สังคมวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ว่าผลทดสอบจะได้ประสิทธิภาพต่ำ แต่ยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ปฏิบัติงานเลิกใช้ จีที 200 ทันที
นาทีนี้สังคมไทยคงได้รับความกระจ่างในเรื่อง “จีที200” สมควร แม้การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดนี้ยังไม่ใช่การพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์เต็มร้อย ตราบเท่าที่เรายังไม่ได้ “ผ่าเครื่อง” เพื่อดูหลักการทำงานภายใน

อย่างไรก็ดีกรณีเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) นี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่วิทยาศาสตร์ได้มีบทบาทอย่างมากต่อการไขข้องสงสัยของสังคม รวมถึงการออกมามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศชาติของนักวิทยาศาสตร์ตัวเล็กๆ และจากเหตุการณ์นี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์
อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกมาเปิดข้อมูลถึงรับทราบถึงประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดราคาหลักล้าน และกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาระเบิดจีที 200

บทเรียนจากจีที 200 ทำให้เราได้เห็นว่าคนไทยคิดอะไรเป็นวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย เพราะเราไม่ตั้งคำถามว่า “ทำไม” หากเรามีคำถามว่า ทำไมๆ เรื่องนี้ก็ไม่ยาวมาถึงขนาดนี้ และอาจจะไม่ต้องมีการทดสอบเลยก็ได้ หากมีคนนำเครื่องนี้มาเสนอเรา อันดับแรกเราต้องตั้งคำถามก่อนว่า ทำไมเครื่องแบบนี้จึงทำงานได้ มีเครื่องแบบนี้บนโลกจริงหรือ แล้วทำไมไฟฟ้าสถิตถึงทำให้เครื่องทำงานได้ ทั้งที่โทรศัพท์มือถือของเราเองยังต้องชาร์จแบตเตอรีเลย หากเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เขารู้จักตั้งคำถาม เรื่องแบบนี้คงจบไปนานแล้ว

ด้วยนิสัยคนไทยเราไม่ตั้งคำถามแต่ตัดสินจากความรู้สึกว่าเครื่องใช้ได้ ใช้ดีแล้วบอกต่อ กรณีจีที 200 นี้ก็เหมือนกับน้ำหมักของ “ป้าเช็ง” ที่ใช้ดีแล้วบอกต่อ ซึ่งผลก็ทำให้มีคนตาบอดไปแล้ว หรือถ้าเราบอกว่าเป็นเมืองพุทธ เราก็ต้องคิดตามหลัก “กาลามสูตร” ไม่เชื่อแค่เพราะเขาบอกต่อๆ ว่าดี และเครื่องมือนี้ก็ไม่เคยทำงานได้เองเลย แต่การทำงานขึ้นอยู่กับคน ใจเชื่อว่าทางไหนไม้ก็ชี้ไปทางนั้น

อย่างไรก็ดี ณ วันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนตั้งคำถามว่า “ทำไม” มากขึ้น และเราก็มีวิธีทดสอบที่หลากหลายมากขึ้น และกระบวนการทดสอบก็ทำให้คนไทยได้เห็นแล้วว่าเครื่องมือนี้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่เรื่องยังไม่จบหากเรายังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าเครื่องลักษณะนี้ทำงานไม่ได้ ต่อไปก็จะมีเครื่องลักษณะเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อออกมาอีก และเราก็ต้องทดสอบอย่างเดิมอีก ซึ่งการทดสอบที่ผ่านมานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการทดสอบหาประสิทธิภาพในทางสถิติ

สำหรับผมที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยส่วนตัว เรื่องความกล้าหาญเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ผมอยากให้มีรูปแบบองค์กรที่จะรับมือกับเรื่องแบบนี้มากกว่า ตอนที่ผมออกมาครั้งแรกก็คาดว่าจะมีองค์กรที่มีความรู้อื่นๆ ออกมาร่วมด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย ถ้าไม่ถูกสั่งให้ออกหน้าคงไม่ทำ นอกจากนี้เรื่องนี้ยังเป็นบทเรียนสำหรับนักวิชาการเราด้วย ว่าต้องสื่อสารให้เข้าใจง่าย การที่ผมสื่อออกมาด้วยวิธีที่ดูก้าวร้าว เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นวิธีที่ชาวบ้านและสื่อเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งตอนนี้บ้านเรามีนักวิทยาศาสตร์ มีสื่อมวลชน แต่ยังขาดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมคน 2 กลุ่มนี้”

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาระเบิดจีที 200

“บทเรียนจากจีที 200 ทำให้ได้เรียนรู้ว่าสังคมไทยต้องใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ เรื่องนี้ต้องขอบคุณ ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ ที่กล้าหาญมากในการออกมาพูดเรื่องนี้ และที่เขาออกมาพูดก็ด้วยความหวังต่อทหาร ไม่ได้อาฆาตร้ายอะไร แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องหยุดเถียงกันเรื่องนี้ แล้วให้นักวิชาการมาช่วยกันทำเครื่องมือให้ทหารนำออกไปใช้ เพราะทหารที่เขาอยู่ในฝ่ายปฏิบัติการเขาทำงานยากลำบากและไม่มีเครื่องมือให้เขาใช้”

นายปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ
นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ข้อสังเกตที่น่าสนใจมากคือ การรวมตัวกันของกลุ่มคนที่หลากหลายบนโลกไซเบอร์สามารถผลักดันให้ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อตอบปัญหาสังคม โดยแรกเริ่มมีการจุดประเด็นในอินเตอร์เน็ต โดยชุมชนหว้ากอของพันทิป ที่โหวตให้กระทู้ของ ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ เป็นกระทู้ยอดนิยม และทำให้เกิดกระบวนการพิสูจน์ที่เชื่อถือได้ ผมมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของสังคม เช่นเดียวกับกรณีเจลประหลาดเมื่อหลายปีก่อนที่ร่ำลือว่า เป็นวัตถุจากต่างดาวและพากันกราบไหว้ แต่มีแม่บ้านออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านพันทิปว่าคงเป็นเจลลดไข้เหมือนที่เธอเคยใช้กับลูกชาย

การหาคำตอบในสังคมด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ นอกจากช่วยให้การตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ ง่ายขึ้นแล้ว ผมมองว่าเป็นทางออกที่ดีของสังคมที่ใช้วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้ตัดสินปัญหา เหมือนสโลแกนสัปดาห์วิทยาศาสตร์ว่า “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” แต่สำคัญที่สุดคือการนำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไปแก้ปัญหา ซึ่งต้องร่วมกันหาวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด โดยเข้าใจการทำงานในพื้นที่และเคารพการตัดสินใจของคนทำงานด้วย บางคนอาจมองว่าการทดสอบนี้ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนั่นเป็นคนละเรื่องกัน

น.ส.จันขจร โสมรักษ์
เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์

ตอนที่ดูข่าวบีบีซีผ่าเครื่องพิสูจน์ รู้สึกว่าเครื่องมือนี้ช่าง “ก๊องแก๊ง” มาก เครื่องราคาเป็นล้าน แต่ข้างในไม่มีวงจรที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่จะทำให้เครื่องทำงานได้เลย พอที่บ้านเรามีการทดสอบบ้างก็รู้สึกว่าเขาปิดบังมากเกินไป จนเกรงว่าจะมีอะไรหมกเม็ดหรือเปล่า ซึ่งในการทดสอบน่าจะเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอผลออกมาว่าเครื่องวัดได้ถูกต้องแค่ 4 ครั้ง ก็เกิดคำถามว่าเครื่องราคาเป็นล้านทำไมได้ผลแค่นี้ ทั้งที่เครื่องราคาแพงขนาดนี้ควรจะวัดได้ถูก 100%”

น.ส.นัฐพร ทรงประโคน
เลขานุการบริษัทระบบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย

“ปรากฏการณ์จีที 200 ทำให้ได้รู้ว่าเราไม่ฉลาดแค่ไหน ที่ซื้อของราคาแพงแต่ได้ประสิทธิภาพต่ำสุดๆ และจากการตรวจสอบครั้งนี้ทำให้ดิฉันในฐานะคนไทยคนหนึ่งรู้สึกว่า การซื้อหาอุปกรณ์เป็นการซื้อขายกันภายใน ทั้งที่การใช้ประโยชน์เป็นของส่วนรวม และประสิทธิภาพของสินค้าไม่คุ้มกับราคาที่ซื้อมา อีกทั้งยังขาดการตรวจสอบ และสิ้นเปลืองงบแผ่นดินโดยไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด”

นายดิสพูน จ่างเจริญ
เจ้าของภัตตาคารจงอา จ.ปัตตานี

“เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยราชการมีการโกงกัน ดีที่นายกรัฐมนตรีให้มีการพิสูจน์ เคาะออกมาเลยว่าเป็นยังไง ตอนที่ยังไม่ทดสอบก็มีความมั่นใจในตัวเครื่องอยู่ส่วนหนึ่ง คนใช้เขาก็บอกว่าโอเค ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง แต่ผลที่ออกมาอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกกังวล เราเองก็ไม่สามารถฟันธงในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า เครื่องใช้งานได้หรือไม่ได้ เพราะเรามองไม่เห็น ไม่รู้ว่ามีความถี่หรือรังสีอะไรหรือเปล่า เหมือนเข็มทิศที่ชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ นั่นเป็นเพราะอะไร เราก็มองไม่เห็น สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องคิดว่าคงมีผู้รู้ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ ซึ่งผลที่ออกมารู้สึกว่าน่ากลัวมาก”

นางจินตนา เจริญธรภัทร
ผู้ที่อาศัยอยู่ใน จ.ยะลา
พอผลพิสูจน์ออกมาว่าตรวจสอบถูกต้อง 4 ครั้งจาก 20 ครั้ง ทำให้มีความรู้สึกต่อคนที่สั่งซื้อว่า เขาเห็นชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอะไร เอาเปรียบพี่มากเกินไป ตอนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รู้สึกขำมากที่บอกว่าร่างกายทุกส่วนต้องเข้ากันได้กับเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด ได้ฟังอย่างนี้ไม่ต้องให้นักวิทยาศาสตร์หรอก ชาวบ้านทั่วไปก็มองออก อย่าคิดว่าชาวบ้านกินหญ้า โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ทราบว่าถนนหรือหน้าหนากว่ากัน เห็นชีวิตเป็นอะไร”

หากบทเรียนจาก “จีที200” คือ บททดสอบเพื่อเลื่อนชั้นสู่ “สังคมวิทยาศาสตร์” สังคมไทยก็เหมือนห้องเรียนห้องใหญ่ที่มีทั้งคนที่สอบผ่านระดับหัวกะทิและคนที่สอบตกซ้ำชั้น แต่อย่างน้อยเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดแบบเดาสุ่มนี้ได้ช่วยจุดระเบิดให้คนไทยได้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กับเครื่องเลียนแบบจีที 200 ที่ทำงานได้คล้ายกัน
 เครื่องเลียนแบบจีที 200 รุ่นแพงสุด 500 บาท
 เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักสารระเบิดสำหรับทดสอบจีที 200 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.53 ที่ทุกคนเฝ้ารอผล
คณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพจีที 200 ซึ่งนำโดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น