“โฆษก ปชป.” ตอบโต้ “จตุพล่าม” ปั้นนำคน ปชป.8 คนบุกยึดสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เพื่อเชื่อมโยงเอี่ยวกลุ่มผู้มีอำนาจ เชื่อ ปชช.มีวิจารณญาณแดงชุมนุม หนุน รบ.ชี้แจงข้อเท็จจริง ปัดไม่มีเอี่ยวซื้อจีที200
วันนี้ (19 ก.พ.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ขอสนับสนุนแนวทางรัฐบาล ที่ใช้กระบวนการให้ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีการปลุกระดม โดยหวังผลสร้างความแตกแยก อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนำเสนอและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เพื่อสร้างความสับสนความแตกแยกและความเข้าใจผิดในสังคม เช่น กรณีที่นายจตุพร พรมพันธ์ แกนนำกลุ่มนปช. ได้กล่าวพาดพิงถึงกรณีการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ว่ามีคนของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเกี่ยวข้อง 8 คน
ตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่มีความพยายามทำให้เห็นว่าพรรคมีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำมาตย์หรือข้ออ้างอื่นๆ ทั้งนี้ ตนคิดว่าการบิดเบือนข้อเท็จจริงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อหวังผลที่จะให้มวลชนมีความรู้สึกว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลและต่อองค์กร หรือสถาบันที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้ง เพื่อที่จะนำไปสู่การกดดัน การไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณในสิ้นเดือนนี้
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคมีความวิตกว่า แนวทางดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความมั่นใจ ที่ต่างประเทศได้คืนให้ประเทศไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากการรักษาความสงบในช่วงเดือน เม.ย.เป็นที่สำเร็จ ทั้งนี้ ได้มีผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ด้านความเชื่อมั่นที่รัฐบาลบางประเทศ ได้ออกมาเตือนการเดินทางมายังประเทศไทยนั้น ทางพรรคคิดว่า เป็นการออกคำเตือนภัยที่เร็วกว่าเหตุ และมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้ แต่ทางพรรคก็คิดว่า หากจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นกับสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็จะดำเนินการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนต่างประเทศที่เข้ามาติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ในขณะเดียวกันพรรคมองว่าการชุมนุมที่เริ่มต้นจากวันนี้เป็นต้นไปนั้น ประชาชนก็เริ่มสามารถใช้วิจารณญาณกลั่นกรองได้แล้วว่ากรณีที่หยิบยกขึ้นมาไม่ว่า จะเป็นกรณีการจ่ายภาษีของประธานองคมนตรี กรณีที่ดินเขาสอยดาว รวมทั้งกรณีการชุมนุมที่ธนาคารกรุงเทพวันนี้ หากมีข้ออ้างว่ามีความผิดปกติในเรื่องเหล่านี้จริง เหตุใดรัฐบาลขณะนั้น จึงไม่มีการดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันกลับใช้เหตุการณ์เดือน เม.ย. มีการจับกุมการพยายามก่อวินาศกรรม เผาธนาคารกรุงเทพมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างสถานการณ์ นำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมืองมาครั้งหนึ่งแล้ว
“พรรคคิดว่าประชาชนรับทราบข้อมูลเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน หน้าที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริง ของรัฐบาลนั้นก็คงจะต้องดำเนินการต่อไป เช่นการจ่ายภาษีของอดีตประธานองคมนตรีนั้น ก็ไม่ประสงค์ก้าวล่วงไปสู่เรื่องส่วนตัวทางการ แต่รัฐบาลเชื่อว่ามีข้อมูลยืนยันได้ว่าการจ่ายภาษีของท่านผ่านทางกรมสรรพากรนั้น ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และลดข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จของฝ่ายค้าน และกลุ่มนปช.ที่มีมาโดยตลอด” นพ.บุรณัชย์กล่าว
นพ.บุรณัชย์กล่าวถึงกรณีเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 ว่า วานนี้ (18 ก.พ.) ได้มีความพยายามพาดพิงอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในบัญชีรายชื่อของพรรคในลักษณะที่ว่ามีความไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดซื้อ และกล่าวหาว่าเสมือนกับพรรคมีความรู้เห็นด้วย ตนในฐานะโฆษกพรรคของยืนยันว่า ข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดมีการดำเนินการมาต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล และความพยายามของหลายฝ่ายในการตรวจสอบประสิทธิภาพในขณะนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการจัดซื้อ ซึ่งไม่มีสัญญาณบ่งบอกใดๆ ว่ามีการจัดซื้อใน 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมานั้นมีการทุจริตเกิดขึ้นแต่อย่างใดตามข้อกล่าวหา ส่วนเรื่องประสิทธิภาพนั้น ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จากนานาชาติในสภาวะแวดล้อมที่คงที่ เช่น การตรวจพิสูจน์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องจึงอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ของผู้ใช้ในพื้นที่เป็นสำคัญ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคขอยืนยันแนวทางที่รัฐบาลและที่เหล่าทัพได้ดำเนินการเรื่องนี้ถือว่ามีความเป็นเอกภาพ และความตั้งใจ ที่จะดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีขวัญกำลังใจ มีความมั่นใจด้วยอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ที่จะรักษาความสงบให้กับประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการที่จะมีมาตรการรองรับโดยการขยายและเพิ่มอุปกรณ์ที่ดี และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้สูญเสียกำลังใจในการทำงาน โดยการตรวจพบทางวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไม่มีเพียงเฉพาะภายในประเทศ แต่ประเทศอื่นๆ อีก 30 ประเทศที่มีประสบการณ์ใช้เครื่องมือนี้ และรัฐบาลประเทศอังกฤษที่แม้จะไม่มีส่วนโดยตรงในการใช้อุปกรณ์ แต่ถือว่าอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศต้องการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการทดลองค้นคว้าวิจัยถึงประสิทธิภาพข้อมูลนั้น จึงอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต