คณะกรรมการตรวจสอบเครื่อง GT200 ลงมติ ทำเรื่องเร่งด่วนทดสอบประสิทธิภาพเครื่อง แล้วหาค่าทางสถิติเปรียบเทียบค่าที่ยอมรับได้ จากการใช้งาน อาทิตย์หน้าเตรียมหารือรายละเอียดการทดลองและสถานที่อีกครั้ง ส่วนการผ่าเครื่องและพิสูจน์หลักการทางวิทยาศาสตร์ ยังต้องรอทหารเจ้าของเครื่อง
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที200 (GT200) ได้เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงการประชุมหารือกัน ระหว่างคณะกรรมการเมื่อเย็นวันที่ 4 ก.พ.53 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบการทำงานเรื่องเร่งด่วนภายในกรอบเวลาที่รัฐมนตรีกำหนดคือ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ โจทย์เร่งด่วนคือการวัดประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะใช้การทดสอบแบบ Double Blind Test โดยผู้ทดสอบซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้วางระเบิดตามจุดต่างๆ และผู้สุ่มหาตำแหน่งระเบิดจะถูกแยกคนละห้อง และไม่มีโอกาสคุยกัน
อีกทั้งผู้วางระเบิดจะไม่ทราบว่า ได้วางระเบิดที่ตำแหน่งไหน จากนั้นจะใช้หลักสถิติคำนวณประสิทธิภาพเป็นร้อยละ ซึ่งค่าที่ยอมรับได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
ส่วนสถานที่ในการทดสอบ และจำนวนการทดสอบนั้น ลดทอนลงเหลือการทดสอบในสภาพแวดล้อมเดียว ซึ่งต้องหารือกันต่อไปว่า จะใช้สถานที่ใดเพื่อทำการทดสอบ แต่ต้องเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ที่สามารถป้องกันลม และเหมาะสำหรับแยกกลุ่ม
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะได้หารือกันอีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ.53 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่เรื่องการผ่าพิสูจน์เครื่องนั้น ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากเป็นครุภัณฑ์ และขึ้นอยู่กับทหารซึ่งเป็นเจ้าของเครื่อง
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการเนคเทคได้อธิบายถึง การทดสอบแบบ Blind Test ว่าเป็นการทดสอบเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อลดผลจากการรับรู้ของผู้ทดลอง หรือลดอคติที่เกิดจากผู้ทดลอง ซึ่งมีทั้งรูปแบบ Single Blind Test และ Double Blind Test
ตัวอย่างเช่น การทดลองให้คนไข้กินยา โดยที่คนไข้ไม่ทราบว่ากินยาจริงหรือยาหลอก หากเป็นคนไข้ที่ไม่ทราบฝ่ายเดียว เรียกว่า Single Blind Test แต่ถ้าผู้ให้ยาแก่คนไข้ไม่ทราบด้วยว่ายาที่ให้นั้น เป็นยาจริงหรือยาหลอกก็เรียกว่าเป็น Double Blind Test
สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพ GT200 ส่วนหนึ่งประกอบด้วย ดร.คุณ ญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานกรรมการฯ และ กรรมการอื่นๆ อาทิ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก
ฝ่ายนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เช่น ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ดร.วเรศ วีระสัย หน่วยวิจัยเคมีฟิสิกส์และเคมีไฟฟ้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล, และ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น