xs
xsm
sm
md
lg

ทดสอบเสร็จสิ้น "จีที 200” รอ รมต.วิทย์ชี้ว่าจะเผยผลหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ทีมค้นหาสารระเบิด
UPDATE! - ตามติดการตรวจสอบประสิทธิภาพ จีที200 ภารกิจไขข้อข้องใจคนไทยทั้งประเทศ ตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงหรือไม่ ด้านคุณหญิงกัลยาเผย ครม.มีแนวคิดให้ทดสอบเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกันด้วย



ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังฉลองเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ในวันที่ 14 ก.พ.53 นี้ คณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ก็เริ่มภารกิจไขข้อข้องใจที่ค้างคาประชาชนทั้งประเทศ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีกำหนดการเริ่มภารกิจประมาณ 9.30 น. ซึ่งภารกิจครั้งนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนมากได้ร่วมติดตาม

เวลาประมาณ 8.00 น. ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสนร์และเทคโนโลยีได้เดินทางมาถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ทดสอบบริเวณบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ประมาณ 500 เมตร โดยสื่อมวลชนได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์ได้ที่เนคเทคเท่านั้น เพื่อให้คณะกรรมการทดสอบฯ ทุกคณะทำงานอย่างเป็นธรรมชาติและไม่มีปัญหาที่กระทบขั้นตอนการทดสอบ

จากนั้นคุณหญิงกัลยาได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.53 ให้ดำเนินการทดสอบด้านประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหสวัตถุระเบิดจีที 200 โดยการทดสอบครั้งนี้ได้ใช้การทดสอบแบบ Double Blind Test ซึ่งเป็นการทดสอบตามมาตรฐานสากล และได้มีการซ้อมครั้งใหญ่เมื่อ วันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา

“วันนี้เริ่มต้นทดสอบจริง คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 วัน แต่ถ้าวันนี้ทดสอบไปได้ด้วยดีอาจจะทดสอบให้เสร็จในวันนี้ ดิฉันเป็นประธานคณะกรรมการทดสอบฯ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องทดสอบ และคณะกรรมการทุกคนก็ห้ามนำอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในห้องทดสอบเด็ดขาด และต้องถูกตรวจสอบก่อนเข้าไป และเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น กระแสลม และไม่ให้มีการปนเปื้อนต่อห้องทดสอบ จึงยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในบริเวณที่ทดสอบ เราทำทุกอย่างด้วยความเรียบร้อย รอบคอบเพื่อไม่ให้ทุกคนมีข้อกังขา " คุณหญิงกัลยากล่าว

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ทดสอบฯ เข้าสู่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรแล้วจะไม่สามารถออกมาได้จนกว่าจะทดสอบเสร็จ โดยภายในบ้านวิทยาศาสตร์ฯ มีห้องพักและห้องน้ำพร้อมอำนวยความสะดวก และแยกคณะกรรมการแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ยกเว้น ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพฯ ที่จะเข้า-ออกจากห้องทดสอบเป็นระยะเพื่อแถลงข่าวในช่วงเวลาต่างๆ

พร้อมกันนี้ คุณหญิงกัลยากล่าวด้วยว่าคณะรัฐมนตรียังได้หารือถึงการทดสอบเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดอื่นๆ ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกัน โดยได้รับความเห็นชอบทั้งจากกระทรวงกลาโหมและกระทรวงยุติธรรม หลังจากคุณหญิงกัลยาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ชั่งน้ำหนักวัตถุตัวอย่าง 4 ชิ้น ซึ่งเป็นสารระเบิดซีโฟร์ 1 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นซึ่งถูกห่อด้วยพลาสติกและพันเทปสีน้ำตาลไว้ มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 579.6 กรัม จากนั้นวัตถุตัวอย่างทั้งหมดถูกลำเลียงโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด CT Scan ซึ่งในขั้นตอนนี้ได้ถ่ายทอดกระบวนการผ่านกล้องวงจรปิด

จากนั้น ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำวัตถุตัวอย่างบรรจุลงกล่อง และสุ่มลูกปิงปองเพื่อระบุหมายเลขแต่ละกล่อง และจะบันทึกหมายเลขวัตถุตัวอย่างที่เป็นสารระเบิดและปิดผนึกใส่ซองเก็บใส่ตู้เซฟ ซึ่งจะเปิดอีกครั้งพร้อมกับผลการทดสอบที่เจ้าหน้าที่แต่ละชุดบันทึกผล และบรรจุลงซองทุกครั้งที่ทดสอบ จากนันจึงจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพห้องทดสอบและห้องคณะกรรมการทั้งหมดได้

ทั้งนี้มีกรรมการทดสอบซึ่งแบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานการทดสอบ กรรมการฝ่ายซ่อนหาวัตถุ ซึ่งมี ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าฝ่ายซ่อน กรรมการฝ่ายค้นหาวัตถุ ซึ่งมีพันเอกทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย กองทัพบก เป็นหัวหน้าฝ่ายค้นหา

สำหรับการทดสอบนั้นทีมค้นหาซึ่งมีทั้งหมด 10 ทีมๆ ละ 2 คน จะเดินค้นหากล่องที่บรรจุสารวัตถุระเบิด โดยห้ามเข้าใกล้ในระยะรัศมี 3 เมตร ซึ่งมีแถบเส้นสีเหลืองกำหนดบริเวณไว้ และจะไม่มีกำหนดเวลาในการค้นหา เมื่อได้ตำแหน่งของกล่องที่คาดว่ามีสารวัตถุระเบิดแล้ว จะแจ้งกรรมการฝ่ายค้นหา เพื่อบันทึกข้อมูลลงในเอกเอกสารปิดผนึกและลงนามรับรอง ในทุกครั้งที่มีการทดสอบ ดังนั้นจะมีเอกสารจากการทดสอบทั้งหมด 20 ซอง ซึ่งทุกซองจะเก็บเข้าตู้เซฟและจะเปิดพร้อมกันหลังทดสอบทั้งหมดแล้วเสร็จ

ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไม่เครียดเนื่องจากทุกอย่างได้เตรียมไว้พร้อม ทั้งนี้จะทราบคร่าวๆ ว่าการทดสอบจะใช้เวลาต่อเนื่องถึงวัน 15 ก.พ.หรือไม่นั้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 ก.พ. และตลอดทั้งวันของการทดสอบจะมีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ

ดร.พันธ์ศักดิ์ได้แถลงข่าวความคืบหน้าในการทดสอบ ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 10.00 น. ว่า การทดสอบไม่มีปัญหาขัดข้องใดๆ โดย ทีมทดสอบได้ค้นหาสารวัตถุระเบิดผ่านไปแล้ว 5 รอบ โดยเฉลี่ยใช้เวลารอบละ 25 นาที เป็นเวลาซ่อน 5 นาที และค้นหา 20 นาที ซึ่งคาดว่าในเวลาประมาณ 19.00 น.จะทำการทดสอบแล้วเสร็จทั้ง 20 รอบ และจะเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าพื้นที่ทดสอบได้

ส่วนผลจากการทดสอบจะนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเช้า 15 ก.พ. แต่ก่อนหน้านี้ได้กำหนดคร่าวๆ ถึงวันเปิดเผยผลทดสอบต่อที่ประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 15 ก.พ.หรือเช้าวันที่ 16 ก.พ. ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผลการทดสอบในห้องปิดนี้จะตอบโจทย์ในเชิงประสิทธิภาพทางวิชาการได้

ในเวลา 17.45 น. ดร.พันธ์ศักดิ์ได้เผยความคืบหน้าการทดสอบอีกครั้ง โดยระบุว่าการทดสอบได้ผ่านไปแล้ว 15 รอบ เหลือการทดสอบอีก 5 รอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 20.00 น. ซึ่งทีมทดสอบต่างปฏิบัติภารกิจอย่างแข็งขัน โดยไม่หยุดพัก และยังไม่มีการเปลี่ยนใจขอทดสอบใหม่ อีกทั้งยังมีเสียงเฮจากทีมค้นหาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีความมั่นใจมาก

สำหรับเอกสารที่เก็บผลการทดลองจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และจะเผยผลช้าสุดไม่เกินเช้าวันอังคารที่ 16 ก.พ. ซึ่งสาธารณชนจะได้รับทราบข้อมูลดิบ ส่วนรายงานอย่างเป็นทางการคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

ทั้งนี้การทดสอบได้แล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ซึ่งยังคงมีสื่อมวลชนรวมถึงทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ติดตามสถานการณ์ และได้เข้าดูสถานที่ทดสอบ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงเวลาประมาณ 20.20 น. โดยมี ดร.พันธ์ศักดิ์ เป็นผู้นำชมห้องของฝ่ายซ่อนวัตถุ ห้องฝ่ายค้นหา ห้องกรรมการกลางและห้องทดสอบ

ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า คณะกรรมการจะประชุมและเปิดเผยผลการทดสอบในเวลา 16.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อไม่ต้องเคลื่อนย้ายข้อมูลจากการทดลอง ส่วนผลจากการทดลองจะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเร่งรัดหรือไม่

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในบางช่วงที่ ดร.พันธ์ศักดิ์ได้แถลงต่อสื่อมวลชนนั้น ได้เผยว่าทีมค้นหาส่งเสียง "เฮ" เป็นระยะๆ ซึ่งขัดกับข้อมูลที่ระบุทีมค้นหาและทีมซ่อนจะไม่ทราบอย่างเด็ดขาดว่ากล่องใดมีสารระเบิดหรือไม่

อีกทั้ง พันเอกทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ หัวหน้าฝ่ายค้นหา ซึ่งร่วมทำการทดลองค้นหาสารระเบิดด้วยนั้น กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการทดลองเสร็จสิ้นว่า รู้สึกมั่นใจ และเขาได้ทดลองใช้เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 มาเป็นเวลา 5-6 ปีแล้ว แต่ผลการทดลองอื่นๆ ต้องรอการประชุมของคณะกรรมการในวันถัดไป

นอกจากนี้กรรมการทุกคนยังสงวนท่าทีในการให้ข้อมูลการทดสอบแก่ผู้สื่อข่าวอย่างเคร่งครัด และระบุว่าเป็นหน้าที่ของ ดร.พันธ์ศักดิ์ ในฐานะโฆษกผู้เดียวเท่านั้น ทั้งนี้ หากมีความเคลื่อนไหวใดๆ ทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จะรายงานให้ทราบต่อไป
เจ้าหน้าที่ทีมค้นหาประชุมกันก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจ
วัตถุตัวอย่างทั้ง 4 จัดวางไว้ตามมุ่มต่างๆ ของห้องทดสอบ 4 ,มุม โดยมีเส้นวงกลมสีเหลืองบอกระยะรัศมี 3 เมตร ที่ห้ามเข้าใกล้ และจะสับเปลี่ยนตำแหน่งในการค้นหาทุกครั้ง
วัตถุ ตัวอย่างทั้ง 4 จัดวางไว้ตามมุ่มต่างๆ ของห้องทดสอบ 4 ,มุม โดยมีเส้นวงกลมสีเหลืองบอกระยะรัศมี 3 เมตร ที่ห้ามเข้าใกล้ และจะสับเปลี่ยนตำแหน่งในการค้นหาทุกครั้ง
ห้องสำหรับคณะกรรมการกลาง
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช แถลงข่าวพร้อมคณะกรรมการทดสอบ (แถวหลัง)
เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักวัตถุตัวอย่าง
ภาพจากกล้องวงจรปิดขณะเจ้าหน้าที่ใช้เครื่อง CT Scan ตรวจหาสารระเบิด






กำลังโหลดความคิดเห็น