เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2361 ขณะนักพฤกษศาสตร์ชื่อ Joseph Arnold กำลังสำรวจป่าสุมาตรา ลูกหาบชาวมาเลย์ในขบวนสำรวจของ Arnold ได้วิ่งตื่นเต้นกลับมาบอกว่า เขาได้เห็นดอกไม้ยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Arnold จึงตามไปดู และได้เห็นดอกไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 1 เมตร สีแดงสด บานติดดินอยู่กลางป่า ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแม่น้ำ Manna เขาจึงลงมือขุดเพื่อนำดอกและต้นมาศึกษาอย่างละเอียด และได้สังเกตเห็นว่า ดอกไม้ยักษ์นี้มีกลิ่นเหมือนเนื้อเน่าและที่ใกล้ดอกไม้นั้นมีมูลช้างกองโต
เขาจึงคิดว่า ช้างคงเป็นพาหะในการผสมพันธุ์ของดอกไม้ชนิดนี้ เพราะ Arnold เป็นหนึ่งในคณะนักสำรวจภายใต้การนำของ Sir Thomas Stamford Raffles ผู้เป็นรัฐบุรุษในการจัดตั้งรัฐ Singapore เขาจึงตั้งชื่อดอกไม้นั้นว่า Rafflesia arnoldii ในขณะที่คนอินโดนีเซียเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า bunga patma เพราะ patma เป็นคำสันสกฤตที่แปลว่า บัว และ bunga แปลว่า ดอกไม้ และหลังจากการพบดอกไม้ใหญ่ที่เป็นตำนานไม่นาน Arnold ก็ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย และเสียชีวิตลง
อีก 100 ปีต่อมา John H. Beaman แห่ง Royal Botanic Garden หรือที่รู้จักกันทั่วโลกในนามสวน Kew แห่งกรุง London ก็ได้เริ่มศึกษาดอกไม้พันธุ์นี้อีก ความสนใจในความพิสดารของดอกไม้ชนิดนี้จึงได้หวนกลับมาสู่โลกพฤกษศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง และ Beaman ก็ได้พบว่า ดอกไม้หายากนี้ชอบขึ้นในป่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะคนไทยนั้นมักเรียกชื่อแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น บัวตูม บัวตุม บัวสวรรค์และบัวพระพุทธเจ้า ซึ่งมักพบในป่าทางภาคใต้ ตั้งแต่ คอคอดกระ ระนอง ภูเก็ต จนกระทั่งถึงนราธิวาส โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาสก ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้นมีบัวผุดมากที่สุด และชาวบ้านบางคนคิดว่า ถ้านำดอกไม้นี้มาต้มให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรดื่ม มดลูกจะเข้าอู่เร็ว (ในความเป็นจริง ไม่มีผลใดๆ)
ข้อมูลชีววิทยา ณ วันนี้แสดงว่า บัวผุดเป็นพืชกาฝาก จึงต้องอาศัยการอยู่บนราก และลำต้นของเถาไม้เลื้อย หรือเถาวัลย์วงศ์องุ่นป่า ชื่อย่านไก่ต้ม การไม่มีใบที่จะสงเคราะห์อาหารด้วยแสง ทำให้มันต้องดูดกินแร่ธาตุ และน้ำจากย่านเถาวัลย์ไป โดยต้นเจ้าของบ้านก็ยังมีชีวิตอยู่ตามปกติ บัวผุดใช้ชีวิตเริ่มต้นในลักษณะเป็นเส้นบางๆ อยู่ตามลำต้นของต้นไม้ที่ให้อาศัย จนกระทั่งมีอายุ 5 ปี มันจึงออกดอก โดยตอนแรก ดอกจะปรากฏเป็นปุ่มเล็กๆ ที่ผิว อีก 9 เดือนต่อมา ดอกจะขยายขนาดจนใหญ่เท่าหัวกะหล่ำ จากนั้นอีก 7 วัน ดอกจะบาน กลีบดอกมีสีปูนแดงและมีจุดขาว ดอกมี 5 กลีบ กลิ่นดอกเหม็นเหมือนปลาเน่า ทั้งนี้เพื่อดึงดูดแมลงที่ชอบดมให้มาผสมเกสร ทั้งนี้เพราะดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่แยกกัน และหลังจากบานได้ 5 วัน กลีบดอกก็จะม้วนตัว และสีจะคล้ำลง ๆ จนดำโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วดอกก็จะตาย ตามปกติดอกจะบานในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน
คำถามหนึ่งที่นักพฤกษศาสตร์สนใจคือ บัวผุดเป็นพืชสายพันธุ์ใดและเกี่ยวข้องกับพืชชนิดอื่นอย่างไร เพราะบัวผุดไม่มีทั้งใบ และรากอีกทั้งไม่มี marker gene ดังนั้นถึงจะเอา chloroplast DNA ของดอกมาวิเคราะห์ก็ไม่ให้คำตอบใดๆ
ในปี 2550 Charles C. Davis แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ที่ Cambridge ในสหรัฐอเมริกา กับคณะได้วิเคราะห์ mitochondrial DNA โดยนำ base pair ของบัวผุดกว่า 100 ชนิดมาดูและพบว่าบัวผุดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ดอกจึงมีขนาดเล็กลักษณะเดียวกับดอกของต้นคริสต์มาส (poinsettias) ที่คนทั่วไปมักเห็นเป็นดอกแดงใหญ่ แต่นักชีววิทยาเห็นใบสีแดงนั้นเป็นใบเกล็ดที่แฝงอยู่ใต้กลีบเลี้ยงของดอกจริง ใบสีแดงจึงห้อมล้อมดอกจริงที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 2 มิลลิเมตร เท่านั้นเอง
ในวารสาร Current Biology ฉบับที่ 18 ในปี 2551 Todd Barkman แห่งมหาวิทยาลัย Western Michigan ที่ Kalamazoo ในสหรัฐอเมริกา และคณะได้ตั้งสมมติฐานว่า กว่าบัวผุด Rafflesia arnoldii ที่มีขนาดของดอกใหญ่กว่า 100 เซนติเมตร และ Rafflesia kerrii ที่มีดอกเล็กกว่าคือ 50-90 เซนติเมตร จะวิวัฒนาการจากดอกขนาดเล็ก (เท่าดอกคริสต์มาส) มาจนมีขนาดมโหฬารนั้น ดอกจะต้องมีวิวัฒนาการด้านโครงสร้างอย่างมาก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักดอกที่มากได้ แต่เมื่อ Todd Barkman ได้ศึกษาโดยวิเคราะห์ยีน เขาก็ได้พบว่าบัวผุดที่อยู่ในลำดับ Malpighiales ได้เพิ่มขนาดขึ้น 2 เท่า ภายในเวลา 1-2 ล้านปี ดังนั้นถ้าวิวัฒนาการของบัวผุดด้านนี้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ดอกบัวผุดก็จะใหญ่ขึ้น 4 เท่าในอีก 4 ล้านปีอย่างแน่นอน
ในประเด็นการปลูกบัวผุด ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะบัวผุดเป็นปรสิตที่ไม่มีรากและใบ มันจึงมีปัญหาในการปลูก ปัจจุบันโลกมี 4 สถานที่ที่ปลูกบัวผุดได้สำเร็จ เช่น ที่สิงคโปร์มีการนำเถาวัลย์ Tetrastigma lanceolarium มาปลูกก่อน แล้วเอาเมล็ดของดอกที่ตายไปแล้วมาหว่านลงบนเถาวัลย์ ซึ่งวิธีนี้ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ยังไม่ให้ผล 100% ในขณะเดียวกัน บัวผุดหลายชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้นวงการพฤกษศาสตร์จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการอนุรักษ์ โดยเฉพาะเมื่อป่าที่อยู่ของบัวผุดกำลังถูกทำลาย เช่นถูกเผาไปทุกวัน คนปลูกบัวผุดจึงคิดนำดอกไม้หายากนี้ไปปลูกในที่ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการดูแลเป็นอย่างดี แต่บัวผุดต้องใช้เวลาในการปรับตัวนาน ถึง 10 ปี จึงจะขึ้นได้ดี ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องพยายามหาทางให้มันขึ้นในที่มันคุ้นเคยอยู่แล้ว
ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมานี้ หน่วยงานอนุรักษ์บัวผุด ชื่อ Rafflesia Conservation Incentive Scheme ได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่ Sabah Parks ในเมือง Kota Kinabalu ใน Malaysia เพื่ออนุรักษ์บัวผุดในป่า และชาวบ้านในป่าก็ได้พบว่า นักท่องเที่ยวชอบเข้าไปดูบัวผุดที่ระยะใกล้เพื่อถ่ายรูป ชาวบ้านจึงตัดย่านองุ่นป่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถดูได้ใกล้ๆ ซึ่งจะทำให้ตนได้เงิน แต่หน่วยงานนี้ก็ได้เตือนและให้ความรู้เรื่องย่านองุ่นป่า (ซึ่งเป็นบ้านของบัวผุด) แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านจะได้อนุรักษ์ดอกไม้หายากนี้ให้โลกได้เห็นอีกนาน และถ้าได้นานถึง 46 ล้านปี ดอกก็จะใหญ่ขึ้นถึง 80 เท่า ซึ่งใหญ่กว่าบ้านคนครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.