ทีมนักวิจัยแคนาดาพัฒนาวิธีทำแผนที่ยีนในเซลล์ยีสต์ได้สำเร็จ แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของยีนในเซลล์ และลักษณะภายนอกที่ปรากฏให้เห็น หวังพัฒนาสู่แผนที่ยีนในเซลล์มนุษย์ เป็นแนวทางใหม่ใช้ศึกษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรมบกพร่อง และพัฒนายาใหม่ให้รักษาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
จีโนมเว็บนิวส์เปิดเผยว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) แคนาดา ได้นำข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างยีนในเซลล์ของยีสต์ ที่ได้จากการศึกษาทดลอง มาพัฒนาเป็นแผนที่ยีนในเซลล์ยีสต์ ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันของแต่ละยีนภายในเซลล์ และส่งผลถึงลักษณะภายนอกที่ปรากฏออกมา ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารไซน์ (Science) เมื่อไม่นานมานี้
"แผนที่ข้อมูลทางพันธุกรรมนี้ จะเป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีโนไทป์ (genotype : ลักษณะของพันธุกรรมของแต่ละบุคคล) และฟีโนไทป์ (phenotype : ลักษณะที่แสดงออกอันเป็นผลของยีนของแต่ละบุคคล) และการหาข้อสรุปหลักการโดยทั่วไปของโครงตาข่ายความสัมพันธ์อันซับซ้อนของพันธุกรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงโรคต่างๆ ของมนุษย์ด้วย" ศ.ชาร์ลส์ บูน (Prof. Charles Boone) นักพันธุศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยโตรอนโต เขียนระบุไว้ในรายงานการวิจัย
ทั้งนี้ ยีสต์มียีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตอยู่ราว 6,000 ยีน ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยได้ศึกษาไปแล้วประมาณ 1,712 ยีน และพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างยีนได้แล้วกว่า 170,000 ความสัมพันธ์ ซึ่งได้นำมาทำเป็นแผนที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของยีนต่างๆ โดยยีนที่มีหน้าที่สัมพันธ์กันจะถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน และจากการทดลองพบว่ากลุ่มยีนต่างๆ เหล่านี้สามารถช่วยทำนายหน้าที่ของยีนที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนด้วยว่ายีนมีบทบาทอย่างไร
นอกจาก สามารถสร้างแผนที่ยีนในเซลล์ของยีสต์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทำความเข้าในถึงสาเหตุของโรคทางพันธุกรรมแล้ว ทีมวิจัยยังพบความสัมพันธ์ระหว่างยีนและสารเคมีด้วย ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาเป้าหมายของยารักษาโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงเข้าใจกลไกของยาที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ด้วย
ทีมวิจัยหวังว่า การพัฒนาแผนที่ยีนในเซลล์ยีสต์จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาเป็นหนังสือแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างยีนในเซลล์มนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต และช่วยแปลความหมายหน้าที่หรือบทบาทของยีนจำนวนหลายพันยีนที่มีอยู่ในเซลล์ ช่วยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพันธุกรรมและลักษณะที่ปรากฏภายนอก เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับความผิดปกติของพันธุกรรมและการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งการพัฒนายาและวิธีรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"ด้วยแผนที่เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถใช้ยารักษาโรคได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต" ศ.เบรนดา แอนดรูว์ (Prof. Brenda Andrews) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว.