xs
xsm
sm
md
lg

ไทยร่วมถอดจีโนมหารากเหง้าชาติพันธุ์เอเชีย พบแนวคิดอพยพครั้งใหญ่ค้านของเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ขวา) แสดงความยินดีกับ รศ.ดร.ดาวรุ่ง กังวานพงศ์
นักวิจัยไทยเผยความสำเร็จร่วมนานาชาติ ถอดจีโนมหารากเหง้าชาติพันธุ์เอเชีย ได้ข้อมูลพันธุกรรมแย้งความเชื่อเดิมว่า "การอพยพครั้งใหญ่จากทวีปแอฟริกาเข้าสู่ทางใต้ของทวีปเอเชีย ไม่ใช่การอพยพหลายระลอกทั้งเหนือ-ใต้อย่างที่เคยเข้าใจ" ผลงานความร่วมมือ 13 ประเทศเอเชีย ศึกษาชนกลุ่มน้อย 73 กลุ่ม เกือบ 2,000 คน และยังพบกลุ่มที่มีภาษาเดียวกันมีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน

รศ.ดร.ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยไทยที่ร่วมโครงการ "ตามรอยชาติพันธุ์ของประชากรภูมิภาคเอเชีย" (Mapping Human Genetic Diversity in Asia) เผยผลการศึกษาพันธุกรรมชนกลุ่มน้อยทั้งหมด 1,928 คนจาก 73 กลุ่มใน 13 ประเทศเอเชีย ได้ข้อมูลคร่าวๆ ที่แย้งกับข้อมูลเดิมว่า การอพยพครั้งใหญ่ของมนุษย์ที่ย้อนกลับไปหลายปีจากทวีปแอฟริกานั้น เป็นการอพยพเข้าสู่ทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าจะเป็นการอพยพหลายระลอก เข้าสู่ทางเหนือและทางใต้ของเอเชีย

เดิมทีการศึกษาประชากรจะศึกษาในด้านภาษา ภูมิศาสตร์ แต่โครงการนี้เป็นการศึกษาพันธุกรรมร่วมด้วย ซึ่งในส่วนของ รศ.ดร.ดาวรุ่ง ได้ศึกษาพันธุกรรมของชาวเผ่าในภาคเหนือของไทย 13 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ไทยวน ไทยอง ไทเขิน ลัวะ มอญ ถิ่น ปะหล่อง พล่าง และมลาบรี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มภาษา คือ ไซโน-ทิเบแทน ไทกะได มอญ-เขมร และ ม้ง-เมี่ยน ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ศึกษาในกลุ่มประชาชนกลุ่มน้อยเช่นกัน เนื่องจากมีความปนเปของชาติพันธุ์น้อย และพบว่ากลุ่มที่มีภาษาเดียวกันมีลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงกัน

สำหรับขั้นตอนการศึกษานั้น ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของชาวเขาเผ่าต่างๆ มาสกัดดีเอ็นเอ แล้วนำไปทำจีโนไทป์ (Genotype) ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันจีโนมแห่งสิงคโปร์ (Genome Institute of Singapore) ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์เดี่ยวทั้งหมด 50,000 จุด จากทั้งหมดที่มี 3,000 ล้านจุด จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างประชากร การย้ายถิ่น และความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์

ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานโครงการตามรอยชาติพันธุ์ของประชากรภูมิภาคเอเชีย กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า เป็นพื้นฐานในการทราบเอกลักษณ์ของกลุ่มพันธุกรรมที่สำคัญต่อการศึกษาพันธุศาสตร์และพันธุศาสตร์เภสัชกรรมในเอเชีย เช่น การตรวจสอบเชื้อชาติทางกฎหมาย การตรวจสอบเอกลักษณ์บุคคล การตรวจสอบความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การตรวจสอบประสิทธิผลของการใช้ยา และการตรวจสอบการแพ้ยา พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ยาที่ใช้ได้ผลกับกลุ่มพันธุกรรมยุโรป แต่อาจใช้ไม่ได้ผลและก่อให้เกิดการแพ้ยาในกลุ่มพันธุกรรมเอเชียได้

สำหรับการศึกษาระยะต่อไป ศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่าจะศึกษาความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์เดี่ยวที่ละเอียดขึ้น เป็น 600,000-1,000,000 จุด ซึ่งทางด้าน รศ.ดร.ดาวรุ่ง ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า อนาคตกำลังหาแนวร่วมเพื่อขยายสู่การศึกษากลุ่มประชากรไทยในภาคกลาง อีสานและใต้ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อหาคำตอบว่าคนไทยมาจากไหน

การเปิดเผยครั้งนี้เกิดขึ้นภายในงานแถลงข่าว ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 ธ.ค.52 โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมแสดงความยินดี และเป็นการแถลงข่าวพร้อมกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมในโครงการ และผลงานวิจัยในโครงการนี้ยังได้ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) ฉบับออนไลน์วันที่ 10 ธ.ค.52
ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ
(กลาง) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ร่วมแสดงความยินดีกับคณะนักวิจัย (ซ้ายไปขวา) ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ.ดร.ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ และ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ (ภาพประกอบทั้งหมดจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
กำลังโหลดความคิดเห็น