xs
xsm
sm
md
lg

วิถีพึ่งตนเองด้วยความรู้แห่ง “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุนทร โต๊ะดำ (เสื้อเขียว) และสมาชิกในหมู่บ้านแม่ข่ายฯ กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เกิดจากความร่วมมือในการศึกษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ภาพประกอบทั้งหมดจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์” ที่ ก.วิทย์ส่งหน่วยงานเข้าไปสนับสนุนความรู้ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ แล้วยก 30 หมู่บ้านเป็น “ต้นแบบ” ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาชุมชนแล้วประสบความสำเร็จ

“หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” คือโครงการที่มีจุดเริ่มต้นมายาวนานนับแต่ปี พ.ศ.2527 จากแนวคิดของ นายเจริญ วัชระรังสี อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในขณะนั้น ที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือการประกอบอาชีพให้กับชุมชนในชนบท

จากนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้ง “หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 60 พรรษา โดยคัดเลือก 9 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตโครงการสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อนำเทคโนโลยีไปทดลองใช้ในหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกนี้ แต่โครงการนี้ก็เงียบไปนาน

จนกระทั่งในโอกาสครบ 30 ปีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หมู่บ้านวิทยาสาสตร์ฯ ก็ถูกนำขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งและต่อยอดเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี 30 หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านในโครงการนี้

เกณฑ์ในการคัดเลือกหมู่บ้านต่างๆ ขึ้นเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายนั้น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า พิจารณาจากความสำเร็จของหมู่บ้านที่ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาให้ชุมชน

ทั้งนี้มี 14 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่นำองค์ความรู้วิทยาศาสตรืไปช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีความต้องการและปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นก่อนจะมีโครงการ “หมู่บ้านแม่ข่ายฯ”

“หมู่บ้านดาหลา” ของชุมชนบ้านบาลาและเจ๊ะเด็ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในหมู่บ้านแม่ข่ายฯ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุและป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส”

หน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมฯ ดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อเพื่อสร้างเครือข่ายทำงานและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งนายสุนทร โต๊ะดำ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการร่วมวิจัยทางธรรมชาติวิทยาฯ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มี 17 โรงเรียนใน จ.นราธิวาส ใกล้ๆ ป่าฮาลา-บาลาเป็นโรงเรียนเครือข่ายวิทยาศาสตร์ ทีร่วมวิจัยทางธรรมชาติวิทยา และทำให้โรงเรียนในเครือข่ายได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ถึง 2 ปีซ้อน

นอกจากนี้ทางชุมชน ยังได้ใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาชุมชนอีกหลายอย่าง อาทิ การส่งเสริมปลูกดาหลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายดอกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือ อนุรักษ์ป่าสาคู ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นด้วยการเลี้ยงเป็ด โดยผลิตแป้งจากต้นสาคูให้เป็นอาหารเป็ด เพื่อให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าและร่วมอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ เป็นต้น

สำหรับชาวชุมชนบ้านโพนงามท่า ต.นาแก้ว อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร นายแสงเพชร บัวพรม ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่าหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเกิน และต้องการลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนลง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเข้าไปสำรวจก็ได้เสนอ เทคโนโลยีต้นแบบในการหมักก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่มีต้นทุนสูงถึง 60,000 บาท จึงได้ขอให้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สร้างต้นแบบที่มีต้นทุนต่ำ ชาวบ้านผลิตและซ่อมเองได้

ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นคลีนิคเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงได้ออกแบบถังหมักก๊าซชีวภาพจากถังพีวีซี ซึ่งมีต้นทุน 5,000 บาท และเป็นเทคโนโลยีที่ชาวบ้านสามารถผลิตเองและซ่อมแซมเองได้ โดยขณะนี้หมู่บ้านติดตั้งก๊าซชีวภาพต้นแบบ 3 เครื่อง ติดตั้งที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน 1 เครื่อง และตามบ้านเรือนประชาชนอีก 2 เครื่อง โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา และทางหมู่บ้านก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในชื่อ "หมู่บ้านพลังงานชีวภาพ"

"ตอนนี้ได้ขอกังหันวิดน้ำพลังงานลมต้นทุนต่ำจากกระทรวงวิทยาศาสรต์ฯ ซึ่งกระทรวงรับแล้วว่าจะหาให้ โดยขอเป็นเทคโนโลยีง่านๆ ทำเองได้ ชาวบ้านซ่อมเองได้ และต้นทุนไม่สูง" นายแสงเพชรเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ

ตลอด 5 ปีในการสนับสนุนหมู่บ้านต่างๆ ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใช้งบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท และในปีนี้ได้งบปกติเพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายนี้ สำหรับภารกิจของหมู่บ้านแม่ข่ายนั้น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า อยากให้หมู่บ้านที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน เข้าไปเรียนรู้กับหมู่บ้านแม่ข่ายเหล่านี้ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
นายแสงเพชร บัวพรม
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานของหมู่บ้านแม่ข่ายฯ ต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น