นักวิชาการแนะ ไทยควรเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชูพลังงานลม น้ำ และชีวมวล เป็นหลัก ไทยมีศักยภาพสูง ต้นทุนต่ำกว่าจากแสงอาทิตย์ ควรส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ชุมชนจะได้ประโยชน์โดยตรง พร้อมเสนอภาครัฐปรับค่าแอดเดอร์ให้สูงขึ้น จะจูงใจให้มีการลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนของประเทศ ในระหว่างการประชุมวิชาการพลังงานทดแทนของ วช. ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค 53 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น โดยบอกว่าประเทศไทยควรเน้นให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศต่อไปในอนาคต และลดการพึ่งพาหรือนำเข้าเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า จากปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่เกิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรายงานของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติระบุว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งมีการคาดการณ์ด้วยว่า หากมนุษย์ยังทำกิจกรรมเผาไหม้เชื้อเพลิงเช่นเดียวกับปัจจุบันนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเป็น 550 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ในปี 2593 จากในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 380 ppm
ส่วนในประเทศไทย หากยังมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินเป็นปกติเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะสูงเกินค่าเฉลี่ยของโลกภายใน 5 ปีนี้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน ซึ่งการหันมาใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนจะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างมาก
"การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ไทยควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล พลังงานลม และพลังงานน้ำ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูง และมีความเป็นไปได้ที่จะให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพลังงานลม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง สามารถทำได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบนภูเขา พื้นที่ราบ และชายฝั่งทะเล ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยก็มีศักยภาพ แต่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ราว 6 เท่า จึงควรเก็บไว้เป็นทางเลือกต่อจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ" ศ.ดร.ปรีดา ให้เหตุผล
ทั้งนี้ ขณะนี้มีหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาหลายแห่งทดลองติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในบางพื้นที่บ้างแล้ว เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และในเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จะทดลองติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าเป็นโครงการนำร่องใน จ.ปัตตานี
"ส่วนโครงการวิจัยศักยภาพพลังงานลมในประเทศไทยที่ วช. ได้ให้การสนับสนุน ได้ศึกษาไปแล้วในเขตภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นฟาร์มกังหันลมได้ในอนาคต และต่อจากนี้ วช. มีโครงการจะให้ทุนศึกษาวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางด้วยในเร็วๆนี้" ศ.ดร.ปรีดา กล่าว พร้อมเสนอแนะด้วยว่าภาครัฐควรมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดเล็กในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่อาจให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน
"ประเทศไทยยังต้องนำเข้ากังหันลมจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก อาจเป็นปัญหาในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทยได้ ดังนั้น ภาคเอกชนของไทยควรมีการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติในการตั้งโรงงานผลิตกังหันลมในประเทศไทยในลักษณะคล้ายกับโรงงานผลิตรถยนต์ ขณะเดียวกันอาจลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือระบบควบคุมกังหันลมขึ้นเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ทางหนึ่ง" ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง
ด้านนายรังสรรค์ สโรชวิกสิต ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเสริมว่า กระทรวงพลังงานมีแผนจะปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยจะปรับการใช้พลังงานลมให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดการพัฒนาพลังงานลมไว้ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งปัญหาของการพัฒนาพลังงานลมในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่ความเร็วลม แต่อยู่ที่พื้นที่สำหรับติดตั้งกังหันลม ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังเจรจากับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาใช้เป็นพื้นที่พัฒนาพลังงานลม ขณะเดียวกันก็ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการติดตั้งกังหันลมในพื้นที่นั้นๆด้วย
นอกจากนี้ วช. ก็ได้สนับสนุนการศึกษาศักยภาพและการพัฒนาพลังงานน้ำขนาดเล็กบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปิงในภาคเหนือ พื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้มี กฟผ. และ พพ. ได้เริ่มศึกษาการศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปบ้างแล้ว รวมถึงการพัฒนาพลังงานชีวมวล ซึ่งมีการศึกษาศักยภาพของพืชหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้เป็นชีวมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พืชกลุ่มกระถิน ใช้เลี้ยงสัตว์และเป็นพลังงานชีวมวลได้
"การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำควรส่งเสริมให้ทำเป็นระบบขนาดเล็ก ทำโดยชุมชนในท้องถิ่นหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เช่นเดียวกับพลังงานชีวมวล ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์โดยตรงจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวล และการใช้พลังงานน้ำต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำของผู้ใช้น้ำที่มีหลากหลายด้าน และต้องคำนึงถึงกฎหมายป่าไม้ด้วย" ศ.ดร.ปรีดา กล่าว
ทั้งนี้ ศ.ดร.ปรีดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในปี 2550 พบว่าประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม รวม 1,745 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 12,700 เมกะวัตต์ ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ข้อด้วยของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนคือ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือแอดเดอร์ (Adder) เช่น พลังงานลม น้ำ และชีวมวล ยังมีราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ หลายเท่า แต่หากภาครัฐมีการปรับราคาส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นสิ่งจูงใจให้มีการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากยิ่งขึ้น