ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ขอนแก่นทศวรรษหน้าเฟส 2 ชู 6 ประเด็นหนุนชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการพลังงาน กระทรวงพลังงาน แย้มไต๋ ต้นปีเตรียมชงโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าครม. นักวิชาการมข. บอกต้องเปิดใจให้กว้าง แนะรัฐหากจะสร้างต้องเปิดเผยผลดีผลเสีย ส่วนเอ็นจีโออีสาน สับโครงการปลูกสบู่ดำล้มเหลวทำชาวบ้านมีหนี้สิน ชี้รัฐต้องกระจายอำนาจการจัดการลงสู่ชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขอนแก่นทศวรรษหน้าไปสู่การปฏิบัติหน้า ได้จัดสัมมนาพลังงานขอนแก่นทศวรรษหน้า ( สถานการณ์และทางเลือกพลังงานไทย ) ที่ ห้องราชพฤกษ์ รร.แก่นอินน์ จ.ขอนแก่น โดยมีตัวแทนองค์กรต่างๆและชาวบ้านเข้าร่วมฟังการสัมมนาอย่างคับคั่ง
ในงานดังกล่าวมีการอภิปรายเรื่อง “ สถานการณ์และทางเลือกพลังงานไทย” วิทยากรประกอบด้วย นายเสมอใจ สุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน นางมีนา สุภวิวรรธน์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจน้ำมัน บมจ. ปตท. รศ.ดร.ธนากร วงศ์วัฒนาเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี วิศวกรอาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.)
นายเสมอใจ สุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานกล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันประกอบด้วย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งประเทศต่างๆในโลกส่วนใหญ่จะพึ่งพา ก๊าซธรรมชาติ และ ถ่านหิน แต่ในส่วนของไทย 70 % จะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า
ส่วนน้ำมันเราผลิตได้เอง 10 % ที่เหลืออีก 90 % ต้องนำเข้าจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวและราคาก็ผันผวนตลอดเวลา ที่ผ่านมามีการนำเข้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท สำหรับก๊าซธรรมชาติปัจจุบันก็มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าเป็นจำนวนมาก หากทางพม่าเกิดปัญหาหยุดจ่ายก็อาจเกิดผลกระทบทำให้ไฟฟ้าดับได้ แต่เชื่อว่า กฟผ.จะดูแลเรื่องนี้ได้
สำหรับทางออกจะต้องส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์โดยการปลูกพืชพลังงานซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตให้กับเกษตรกร และเป็นการกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาน้ำมันดิบ คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการพึ่งพาน้ำมันดิบจะลดลงเหลือแค่ 60-70 % นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซ NGV และ LPG เป็นการกระจายการใช้พลังงานไม่ให้มีการพึ่งพาชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป
สำหรับพลังงานทางเลือกอย่างชีวมวล และพลังงานทดแทนอย่าง ลม แสงอาทิตย์ และน้ำ ก็ถือว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่ง โดยจะมีการเสนอแผน 15 ปี ซึ่งจะทำให้มีพลังงานเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น และเราก็อยากเห็นตรงนี้
นายเสมอใจ กล่าวต่อว่า ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอแบบและทำการศึกษา ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์อีก 10 ปีข้างหน้าน่าจะเป็นผลดี แต่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้งหน่วยงานเรื่องความปลอดภัยมาดูแลให้พี่น้องชาวบ้าน เพราะเรื่องนี้จะต้องมีมาตรการที่มีความเข้มงวดและหน่วยงานรองรับ
“ ต้นปีหน้า กระทรวงพลังงาน จะเสนอเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานิวเคลียร์เข้าคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยจะเสนอในประเด็นข้อกฎหมายว่าจะต้องมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ หน่วยงานใดจะมีหน้าที่ดูแล จะใช้เทคโนโลยีอะไร สถานที่ตั้ง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า” นายเสมอใจ กล่าว
นางมีนา สุภวิวรรธน์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมันยังต้องอาศัยการพึ่งพาจากต่างประเทศ ซึ่งน้ำมันและถ่านหินภาคการขนส่งจะใช้ในสัดส่วนที่เยอะ แต่ในส่วนภาคอุตสาหกรรมจะมีการใช้พลังงานอย่างอื่นในสัดส่วนที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม น้ำมันก็ยังมีความต้องการที่มากขึ้น และเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น แต่การผลิตน้ำมันซึ่งต้องใช้ซากฟอสซิลนั้นก็มีอยู่อย่างจำกัด
ในส่วนของ ปตท.ก็มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเห็นได้จาก ยุคหนึ่งน้ำมันเบนซินมีการผสมสารตะกั่ว ต่อมาก็เป็น MTP และ เอทานอล นอกจากนี้ยังมีไบโอดีเซลที่ได้จากพืชในกลุ่มน้ำมัน อย่าง ปาล์ม ซึ่งได้มีการวิจัยว่าสามารถที่จะปลูกอีสานได้หรือไม่และได้มีการทดลองปลูกที่ จ.หนองคาย รวมทั้งการทดลองเรื่องสบู่ดำด้วย
ด้าน รศ.ดร.ธนากร วงศ์วัฒนาเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าปฏิเสธการใช้น้ำมันไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ใช้กันทุกคนและมากขึ้น และเราก็ต้องใช้ไฟฟ้า ถ้าเราไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนมาใช้
“ ผมเห็นว่ากรณีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เราจะต้องเปิดใจให้กว้างเพราะเทคโนโลยีมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ผลกระทบต่างๆก็ต้องมีเป็นธรรมดา ซึ่งนักวิชาการหรือนักวิจัยก็ทราบแต่เราก็ต้องดูว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบัน หากในอนาคตจะต้องสร้างเราจะใช้เทคโนโลยีแบบเดิมหรือแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะสร้างไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร” รศ.ดร.ธนากร กล่าว
นักวิชาการพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า การใช้พลังงานจะต้องคำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่า ส่วนงานวิจัยเรื่องพลังงานทดแทนไม่สามารถจะวิจัยได้ภายใน1-2 ปี ปัจจุบันก็พยายามหาทางออกอย่างอื่น เช่น เอทานอล จาก อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆอย่างข้าวฟ่าง ตอนนี้อยู่ในขั้นงานวิจัยหากผลิตออกมาก็จะมีต้นทุนที่สูง
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี วิศวกรอาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 24 , 418.50 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตได้เอง 48 % อีก 51 % มาจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่และรายเล็ก รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของก๊าซ 70 % ผลิตได้เอง และอีก 20-30 % ซื้อจากพม่า
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ปัจจุบันมีอยู่ 30 ประเทศทั่วโลกและอีกหลายประเทศก็กำลังจะสร้าง อย่างอีสานมีลมแรงเหมาะกับการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่มีค่าเชื้อเพลิง แต่จะผลิตได้เฉพาะตอนที่มีลมพัดและใช้พื้นที่มาก หากผลิตในตอนนี้ต้นทุนจะอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังเป็นอัตราที่สูง
วิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของ กฟผ. มีแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 15 ปี โดยจะเน้นการผลิตไปที่ ลม แสงอาทิตย์ แต่การลงทุนซื้อแผงรับแสงอาทิตย์ ก็ถือเป็นต้นทุน ส่วนการผลิตจากชีวมวลเอกชนทำได้ดีกว่าหาก กฟผ. ไปผลิตก็เท่ากับเป็นการแย่งแหล่งวัตถุดิบกับเอกชน อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าย่อมมีมลภาวะเกิดขึ้น เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ส่วน นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช. อีสาน) ที่เข้าร่วมฟังการอภิปรายได้ตั้งข้อสังเกตว่า บทเรียนที่ผ่านมาการจัดการพลังงานถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งทิศทางข้างหน้าควรจะต้องกระจายอำนาจไปให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการด้านพลังงานของเขา นอกจากนี้ในเชิงความรู้ ภูมิปัญญา จะมีการถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ยังไม่สมบูรณ์
“ผลกระทบเรื่องการสร้างพลังงานเริ่มจะมีออกมาให้เห็น อย่างเรื่องการปลูกพืชสบู่ดำเพื่อเป็นพลังงานทดแทน ตอนนี้เกิดภาวะหนี้สินกับเกษตรกรที่ปลูกเพราะไม่เหมือนกับที่โฆษณาไว้ จนชาวบ้านถามว่าปลูกแล้วจะเอาไปขายที่ไหน หรือการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ได้จากแกลบ ตอนนี้ก็มีการรับซื้อไม้มาทำการผลิตทำให้ชาวบ้านมีการตัดไม้กันมากขึ้น ซึ่งมันสวนทางกับภาวะโลกร้อน ตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร” นายวิพัฒนาชัย กล่าว
สำหรับในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็นในเรื่องพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน สำหรับ จ.ขอนแก่น โดยมีข้อสรุปแนวทางการจัดการด้านพลังงานคือ 1.ภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการใช้พลังงาน 2.ส่งเสริมชาวบ้านให้มีการเรียนรู้การใช้พลังงาน 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านในการผลิตพลังงาน
4. เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพลังงานในโรงเรียน 5. บุคลากรในชุมชนต้องมีการแลกเปลี่ยนเพื่อระดมความรู้ 6.1ให้มีการเรียนรู้และศึกษาดูงานการผลิตพลังงานในเขต จ.ขอนแก่น