xs
xsm
sm
md
lg

เปิด“โรงไฟฟ้ากังหันลม”โคราชใหญ่สุดของไทย - กฟผ.เล็งทุ่มอีกพันล้าน -ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ใหญ่ที่สุดของไทยบริเวณอ่างพักน้ำตอนบนเขื่อนลำตะคอง เขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา วันนี้ (15 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “รมว.พลังงาน” ประธานเปิด“โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง”ใหญ่ที่สุดของไทย บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว เผยเป็นพลังงานสะอาดลดก๊าซเรือนกระจกปัญหาโลกร้อน ประเดิมติดตั้งกังหันลม 2 เครื่องมูลค่า 145 ล้าน ผลิตไฟฟ้าได้ 2.5 เมกะวัตต์ ระบุเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมากในหลายพื้นที่ ด้านผู้ว่า กฟผ.เผยทดลองใช้ 1 ปี ก่อนทุ่มงบฯ อีกกว่า 1,000 ล้าน ผุดเพิ่ม 15 เครื่องกำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ พร้อมหวังเนรมิตเป็นทุ่งกังหันลมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

วันนี้(15 พ.ค.) ที่ บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนของเขื่อนลำตะคอง เขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีเปิด “โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง” ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2, นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนชาว จ.นครราชสีมากว่า 2,000 คนเข้าร่วมพิธีเปิด

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จ.นครราชสีมาถือเป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทน เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนจากพืชเกษตรโดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อยใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ , พลังงานจากขยะ, พลังงานน้ำ และภายในปี 2554-55 นี้ โครงการวางท่อส่งแก๊ส NGV ของ ปตท. จะมาถึง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะทำให้โคราชเป็นศูนย์กลางกระจายแก๊สNGV ของภาคีสาน

ล่าสุดวันนี้โคราชมีโรงไฟฟ้ากังหันลมซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังที่สะอาด และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้ในพื้นที่เดียวกันนี้ได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองสูบกลับไปแล้ว ซึ่งนับเป็นการพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดในประเทศที่มีศักยภาพสูง เพิ่มทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งจะเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาในด้านการวิจัยด้านพลังงานสะอาดสนองนโยบายรัฐบาล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจ.นครราชสีมา ด้วย

โดยระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลม ดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน แต่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน มีความสูง 68 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 64 เมตร ขนาดกำลังการผลิต 1.25 เมกะวัตต์/ชุด ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 2 ชุด รวมกำลังการผลิต 2.5 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 145 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 4.6 ล้านหน่วย ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1.1 ล้านลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,300 ตันต่อปี

สำหรับพื้นที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนของเขื่อนลำตะคอง เขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แห่งนี้มีศักยภาพของพลังงานลมดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย สามารถรับกระแสลมได้ทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ย.-เม.ย) และ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พ.ค.-ต.ค.) มีความเร็วเฉลี่ย 5-6 เมตรต่อวินาที และ พื้นที่ จ.นครราชสีมา ยังมีอีกหลายอำเภอที่มีศักยภาพในการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้ากังหันลม เช่น อ.ด่านขุนทด เป็นต้น

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้นแม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่าพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ ก็ตาม แต่ถือเป็นพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมดและมองระยะยาวถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยรัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหน่วยละ 3.50 บาท เพื่อสร้างแรงจูงในให้ภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเสนอตัวเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปีของไทย เราจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 6.4% ของพลังงานทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 20% ในอีก 15 ปี ข้างหน้า โดยครึ่งหนึ่งหรือ 10% จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานร่วมทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ พลังงานจากชีวมวล ไบโอแก๊ส เช่น พลังงานลมจาก 2.5 เมกะวัตต์ในวันนี้ จะเพิ่มเป็น 800 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องติดตั้งกังหันลมถึง 670 ตัวเป็นอย่างน้อย ส่วนอีกที่เหลือ 10% เป็น พืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง, กากน้ำตาลมาผลิตเป็นเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซิน เป็นแก๊สโซฮอล์ และสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV ในภาคการขนส่ง

ด้านนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าว่า การติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง เป็นหนึ่งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี พ.ศ. 2547-2562 (PDP 2004) ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกังหันลม ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฟผ. ห่วงใยเรื่องพลังงานสะอาดมาก ซึ่งมีแผนใหญ่ที่วางไว้อยู่แล้วแต่ต้องใช้เวลา โดย กฟผ.มีแผนจะสร้างพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดให้ได้ 211 เมกะวัตต์ ภายในปี 2561 ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปมากแล้ว โดยได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปแล้ว 84 เมกกะวัตต์ ลงทุนไป 4,000 กว่าล้านบาท

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เริ่มต้นที่ ลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในวันนี้จำนวน 2 เครื่อง ใช้เงินลงทุน 145 ล้านบาท ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุด ส่วนผลกระทบด้านต่างๆ นั้นเท่าที่ศึกษาแล้วไม่มี ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการให้การสนับสนุน และในอนาคตประมาณ 1 ปีข้างหน้า กฟผ.มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมที่นี่อีก 15 ชุด มีกำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

“หากดำเนินการสำเร็จ ที่นี่จะกลายเป็นทุ่งกันหันลม เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ไปในตัวด้วย โดยทั้งนี้จะดูศักยภาพของกังหันลม 2 เครื่องนี้ไปประมาณ 1 ปี รวมถึงดูการตอบรับจากชาวบ้าน จากนั้นจึงจะขยายเพิ่มเติมตามแผนดังกล่าว ส่วนพื้นที่อื่นที่ กฟผ.มองไว้และมีศักยภาพลมพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมได้ คือ จ.ลพบุรี และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์” นายสมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะแพงกว่าพลังงานทดแทนชนิดอื่น แพงกว่าเท่าตัว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนจึงมีเงินมาชดเชยให้ ขณะเดียวกันเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้านี้อย่างมาก

นายสมบัติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ตามแผนในปี 2553 จะเสนอข้อสรุปต่อรัฐบาล โดยตอนแรกที่ทำการศึกษาได้สำรวจอยู่ใน 10 พื้นที่ แต่ตอนนี้เหลือ 4 พื้นที่ ที่ดีที่สุด จ.ชัยนาทก็เป็น 1 ใน 4 ดังกล่าว ซึ่งการสำรวจจะเสร็จสิ้นเดือน ต.ค. นี้ ถึงเวลานั้นจะมาดูข้อมูลและความเหมาะสมก่อนนำเสนอรัฐบาล

“จากการลงพื้นที่ประชาชนหลายพื้นที่ก็สนับสนุน และประชาชนมีความรู้มากขึ้น ข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือไม่ก่อให้โลกร้อน ประเทศตะวันตกเริ่มมาก่อสร้างกันมาก อย่างประเทศเพื่อนบ้านก็มีการก่อสร้างคือ ประเทศเวียดนาม” นายสมบัติ กล่าว

นพ.วรรณรัตน์  ชาญนุกูล

ร่วมกันกดปุ่มเปิดใบพัด โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง








กำลังโหลดความคิดเห็น