xs
xsm
sm
md
lg

“ดาวอังคาร" เพื่อนบ้านดวงสีแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลุมวิกตอเรีย บันทึกในลักษณะพานอรามาโดยยานสำรวจออปพอร์จูนิตี เห็นสภาพภูมิทัศน์บนพื้นผิวของดาวแดง (NASA/JPL-Cornell)
ช่วงนี้หากใครมองดวงดาวบนท้องฟ้า อาจจะสังเกตเห็นดาวสีแดงดวงโตสว่างสุกใส ดาวดวงนั้นคือ "ดาวอังคาร" เพื่อนบ้านของโลกเรานี่เอง แต่ที่เห็นชัดเจนในช่วงนี้ เพราะดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ของระบบสุริยะโคจรเข้ามาใกล้โลกในทุกๆ 26 เดือน จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สังเกตเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด

วันที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด คือช่วงเช้าของวันที่ 28 ม.ค.53 นี้ ที่ระยะทาง 99,331,411 กิโลเมตร โดยขนาดปรากฏบนท้องฟ้าคือ 14.11 ฟิลิปดา เมื่อเทียบกับดวงจันทร์ที่มีขนาดปรากฏ 30 ลิปดาแล้ว การเข้าใกล้ของดาวอังคารครั้งนี้ มีขนาดปรากฏประมาณหลุมดวงจันทร์เล็กๆ เท่านั้นเอง โดย 1 ลิปดา มีค่าเท่ากับ 60 ฟิลิปดา

ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ข้อมูลไว้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.53 เราจะเห็นดาวอังคารบนท้องฟ้าได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกเกิดขึ้นทุกๆ 26 เดือน และในวันที่ 30 ม.ค. ดาวอังคารจะอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้เราเห็นดาวอังคารในวันนั้นได้ตั้งแต่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และเห็นชัดเจนตลอดทั้งคืนจนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าในตอนเช้า และช่วงนี้หากใช้กล้องโทรทรรศน์เราจะสังเกตเห็นพื้นผิวและปรากฏการณ์ฟ้าหลัว (Haze) บนดาวอังคารได้ชัดเจนกว่าปกติ

สำหรับปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 28 ส.ค.46 ซึ่งครั้งนั้นดาวอังคารมีขนาดปรากฏถึง 25 ฟิลิปดา ทางด้านองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่าเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 60,000 ปี ทั้งนี้เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ที่ค่อนข้างเป็นวงรีมากกว่าโลก และโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เร็วกว่าดาวอังคาร 2 เท่า ดังนั้นจึงมีโอกาสที่โลกกับดาวอังคารจะอยู่ไกลกันมาก และมีช่วงเวลาที่โลกกับดาวอังคารอยู่ใกล้กันมากเช่นกัน แต่สถิติเมื่อ 7 ปีก่อนจะถูกทำลาย เมื่อดาวอังคารเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2830

เพื่อนบ้านลำดับที่ 4 มีอะไรคล้ายโลก

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หิน โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะเป็นตำแหน่งที่ 4 ด้วยระยะห่าง 228.5 ล้านกิโลเมตร ด้วยความเร็ว 23.3 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่าโลก 6.4 กิโลเมตรต่อวินาที โดยรอบปีหรือคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวอังคารคือ 687 วัน แต่มีความยาวของวัน หรือเวลาในการหมุนรอบตัวเองใกล้เคียงกับโลก คือ 24 ชั่วโมง 37 นาที มีแรงโน้มถ่วงเพียง 0.375 ของแรงโน้มถ่วงโลก และรัศมีในแนวเส้นศูนย์สูตร 3,396 กิโลเมตร จึงมีขนาดเล็กกว่าโลกกว่าครึ่ง

นาซาระบุว่า ดาวอังคารมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับโลก มีระบบหลายอย่างบนดาวอังคารที่มีลักษณะคล้ายกับโลก บนดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศ ที่ประกอบไปด้วยชั้นแอทโมสเฟียร์ (atmosphere) ชั้นไฮโดรสเฟียร์ (hydrosphere) ชั้นไครโอสเฟียร์ (cryosphere) และชั้นลิโธสเฟียร์ (lithosphere)

หรือกล่าวได้ว่าบนดาวอังคารมีทั้งระบบอากาศ น้ำ น้ำแข็งและธรณีวิทยา ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกันกลายเป็นสภาพแวดล้อมของดาวแดง

ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารประกอบไปด้วยก๊าซหลายชนิด แต่หลักๆ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีถึง 95.72% รองลงมาได้แก่ก๊าซไนโตรเจน 2.7% ส่วนออกซิเจนมีเพียง 0.2% ที่เหลือเป็นก๊าซอื่นๆ ได้แก่ อาร์กอน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอน้ำ ไนตริคออกไซด์ นีออน คริปตอน ฟอร์มัลดีไฮด์ ซีนอน โอโซน และมีเทน

โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารเพียงหนึ่งเดียว แต่ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารอยู่ 2 ดวงเล็กๆ ได้แก่ ดวงจันทร์โฟโบส (Phobos) และดวงจันทร์ไดมอส (Deimos) ซึ่งชื่อของดวงจันทร์ทั้งสองหมายถึง "ความหวาดกลัว" และ ความหวั่นวิตก" ตามลำดับ และเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อม้าศึกของ "เอเรส" (Ares) เทพเจ้าแห่งสงครามตามความชื่อของกรีก ซึ่งเป็นองค์เดียวกับ "มาร์ส" (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามตามความเชื่อโรมัน

ทั้งโฟโบสและไดมอสถูกค้นพบเมื่อปี 2420 โดยอาสาฟ ฮอลล์ (Asaph Hall) นักดาราศาสตร์อเมริกัน แต่เนื่องจากพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งสองดูคล้ายกับดาวเคราะห์น้อยทั่วไป ที่เห็นอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี จึงทำให้นักดาราศาสตร์หลายๆ คนเข้าใจว่า เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกดึงดูดไว้ เหมือนดาวเคราะห์น้อย 5261 ยูเรกา (5261 Eureka)

จากตำนานเทพเจ้าแห่งสงคราม สู่การเดินทางสำรวจ

ด้วยสีแดงคล้ายเลือดของดาวอังคาร เนื่องจากองค์ประกอบของดาวที่เต็มไปด้วยธาตุเหล็ก ทำให้ยามปรากฏบนท้องฟ้าถูกแปลความหมายเป็นสงครามและการรุกราน ความเชื่อนี้คงอยู่ยาวนานหลายพันปี (แม้ปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ก็ยังคงความเชื่อเช่นนั้น)

นอกจากนี้มนุษย์ยังมีจินตนาการต่อดาวเพื่อนบ้านว่า บนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญายิ่งกว่ามนุษย์อาศัยอยู่ และเมื่อมีนักสำรวจส่องกล้องสังเกตดาวอังคารเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน และพบร่องรอยคล้ายคลองที่สร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้เกิดความกลัวและหวั่นวิตกว่า สักวันชาวดาวอังคารที่ชื่นชอบสงครามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะบุกรุกโลก

ทุกวันนี้เราทราบว่า ไม่มีอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาบนดาวอังคาร หากแต่การสำรวจดาวอังคารยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความหวังว่าดาวอังคารจะเป็นที่ตั้งรกรากใหม่ของมนุษย์ และถึงแม้ไม่พบสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา แต่เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า ดาวอังคารจะพัฒนาขึ้นไปสู่ดาวที่มีสิ่งแวดล้อมให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้หรือไม่ หรือมีชั้นบรรยากาศเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่

ปัจจุบันมียานอวกาศที่ยังทำงานโคจรรอบดาวอังคารอยู่ 3 ลำ ได้แก่ มาร์ส โอดิสซีย์ (Mars Odyssey) มาร์ส เอกซ์เพรส (Mars Express) และมาร์ส เรคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ส่วนยานอวกาศที่ลงจอดบนดาวอังคารและกำลังสำรวจพื้นผิวดาวอังคารอยู่คือยานสำรวจ มาร์ส เอกซ์พลอเรชัน โรเวอร์ (Mars Exploration Rover) 2 ลำ ได้แก่ ยานสปิริต (Spirit) และยานออปพอร์จูนิตี (Opportunity) ซึ่งทั้งหมดเป็นยานสำรวจของนาซา ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการทำงาน และก่อนหน้านั้นมีการส่งยานไปสำรวจดาวอังคารหลายครั้ง

นาซายังมีกำหนดส่งยานมาร์สไซน์แลบอราทอรี (Mars Science Laboratory: MSL) หรือเอ็มเอสแอลไปสำรวจดาวอังคารในปี 2554 ด้วย ซึ่งเอ็มเอสแอลนี้มีเทคโนโลยีตรวจหาจุลินทรีย์ ที่น่าจะมีอยู่บนดาวแดง และเทคโนโลยีที่สามารถปรับการบินระหว่างลงจอดผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเชิงวิศวกรรมให้ขับเคลื่อนไปบนพื้นผิวหยาบๆ ของดาวอังคารได้มากกว่ายานสำรวจก่อนหน้านี้ รวมถึงแบกรับน้ำหนักเครื่องมือมากกว่ายานคู่แฝดสปิริตและยานออปพอร์จูนิตี รวมกันถึง 10 เท่า

การสำรวจดาวอังคารนั้นนาซาตั้งเป้าหมายไว้ 4 เป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นกุญแจสู่ความเข้าใจศักยภาพทั้งในอดีต ปัจจุบันและ อนาคตของดาวอังคาร ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ได้แก่ เป้าหมายแรกคือการประเมินว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ เป้าหมายที่ 2 คือการศึกษาลักษณะของภูมิอากาศบนดาวอังคาร เป้าหมายที่ 3 คือศึกษาลักษณะทางธรณีบนดาวอังคาร และเป้าหมายสุดท้ายคือการเตรียมพร้อมสำหรับส่งคนไปสำรวจดาวอังคาร

สภาพสุดขั้วแบบดาวอังคารบนโลก

สภาพแวดล้อมบนดาวอังคารเป็นสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว มีแต่ความแห้งแล้ง เต็มไปด้วยหิน หนาวเหน็บและปราศจากสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แม้แต่คนที่ชอบกีฬาเอกซ์ตรีมยังต้องล่าถอยกับสภาพของดาวแดง ซึ่งมีภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีหุบเขาที่ลึกที่สุด มีสภาพอากาศและอุณหภูมิที่เลวร้าย มีอุณหภูมิเฉลี่ย -46 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ -87 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ -5 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี มีสภาพแวดล้อมบนโลกที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร (แม้จะไม่เลวร้ายเท่าก็ตาม) อย่างหลุมอุกกาบาตในเขตขั้วโลกเหนือของแคนาดา มีสภาพแห้งแล้งคล้ายกับพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งนาซาใช้เป็นสถานที่ทดสอบชุดอวกาศสำหรับใช้สำรวจดาวอังคาร และยังมีพื้นที่อื่นๆ อาทิ หุบเขาแห่งความตาย (Death Valley) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่มีปล่องภูเขาไฟและหุบเขาเหมือนบนดาวอังคาร ทะเลสาบโมโนเลค (Mono Lake) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งน้ำได้ระเหยไปนานกว่า 700,000 ปี เหมือนแอ่งน้ำบางแห่งบนดาวอังคาร เป็นต้น

แม้จากการสำรวจที่ผ่านมาจะชี้ให้เห็นว่าดาวอังคารเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปจากโลกนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตที่ทรงปัญญากว่าหรือมีปัญญาใกล้เคียงกับมนุษย์อาศัยอยู่ แต่ประเทศทั้งหลายทั้งสหรัฐฯ รัสเซียและญี่ปุ่น ที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างแสดงความสนใจที่จะไปสำรวจดาวอังคาร โดยมีเป้าหมายอันใกล้กว่าคือส่งคนไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2563

อย่างไรก็ดี นโยบายของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่า และไม่ได้ให้สัญญากับนาซาว่าจะสนับสนุนให้ใช้เงินมหาศาลไปกับการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก

อย่างไรก็ดี วันนี้เราอาจยังเดินทางไปไม่ถึงดาวอังคาร แต่ดาวอังคารก็โคจรมาใกล้กับโลกให้เราสังเกตเพื่อนบ้านได้ชัดๆ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตามปกติของการโคจรของดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยะ
โลกและดาวอังคารเปรียบเทียบให้เห็นทั้งขนาดและพื้นผิวของดาวสีน้ำเงิน กับดาวแดง (NASA)
****************


FWD : จริงหรือเปล่า "ดาวอังคาร" สว่างเท่า "ดวงจันทร์"



หลายคนคงเคยได้รับฟอร์เวิร์ดเมล ที่มีข้อความระบุถึงปรากฏการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลก” ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (ซึ่งถูกแก้ไขให้ทันสมัยอยู่ตลอด) ว่าในยามค่ำคืนนั้น จะเห็นดาวอังคารส่องแสงชัดเจนที่สุด ด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ประดุจดังพระจันทร์เต็มดวง

ปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารจะส่องสว่างเท่าดวงจันทร์นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้

ดาวอังคารมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าโลกประมาณ 1 เท่า และใหญ่กว่าดวงจันทร์ประมาณ 1 เท่า และแม้ว่าดาวอังคารจะมีโอกาสเข้าใกล้โลกได้มากที่สุด แต่ก็ไม่มีทางสว่างเท่าดวงจันทร์ได้ เพราะดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ยเพียง 380,000 กิโลเมตรเท่านั้น

อีกทั้ง ดาวอังคารในช่วงที่เดินทางเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็จะสว่างได้เทียบเท่ากับดาวพฤหัสเท่านั้น
ขั้วโลกเหนือของดาวอังคารเป็นน้ำแข็ง ในยามใกล้โลกแค่กล้องมือสมัครเล่นก็อาจจะเห็นได้
สันทรายและฝุ่นที่เรียงกันเป็นแนวเช่นนี้ พบได้ทั่วไปตามหลุมต่างๆ ของดาวแดง (NASA/JPL-Caltech)
รูปปั้นของเทพเอเรสหรือมาร์สในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิตาลีที่กรุงโรม
กำลังโหลดความคิดเห็น