xs
xsm
sm
md
lg

กลับมาอีกครั้งหวังว่าจะยิ่งใหญ่ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" ค่ำคืน 17 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพปรากฎการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 2544 ซึ่งบันทึกภาพโดย  นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ของ สดร.เมื่อปี 2551
กลับมาอีกครั้งหวังว่าจะยิ่งใหญ่ "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" ตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 17 ถึงเช้าตรู่ 18 พ.ย.นี้ คาดมีปริมาณมากถึงชั่วโมงละ 100-500 ดวง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเห็นได้ดีสุดในโลก แนะชมตั้งแต่ 5 ทุ่มจะเห็นภาพสวยกว่าช่วงเกิดฝนดาวตกสูงสุด

ระหว่างแถลงข่าวกิจกรรม "Winter Sky มหัศจรรย์ปรากฏการณ์และกิจกรรมดาราศาสตร์แห่งปี" เมื่อวันที่ 9 พ.ย.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า ระหว่างเดือน พ.ย.52-ก.พ.53 มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตามหลายปรากฏการณ์ และเป็นช่วงทีท้องฟ้าในประเทศไทยเหมาะแก่การดูดาว เนื่องจากมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดความเย็นและอากาศแห้งมายังภูมิภาคต่างๆ ของไทย

สำหรับวันที่ 17-18 พ.ย.นี้มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่เคยได้รับความสนใจมากในช่วงปี 2541 และปี 2544 โดยฝนดาวตกดังกล่าวเกิดจากสายธารฝุ่นดาวหาง 55พี/เทมเพล-ทัทเทิล (55p/tempel-Tuttle) และจากการคำนวณของนักดาราศาสตร์หลายคน ซึ่งรวมถึงนักดาราศาสตร์จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) พบว่า ฝนดาวตกลีโอนิดส์จะเกิดจากสายธารฝุ่นที่ดาวหางทิ้งไว้เมื่อปี พ.ศ.2009 และ 2076

ปีนี้นักดาราศาสตร์หลายสำนักคำนวณตรงกันว่าจะมีฝนดาวตกเป็นร้อยดวง แต่ก็มีความแตกต่างกันบ้างโดยอยู่ในช่วง 100-500 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งจะเกิดฝนดาวตกมากที่สุดประมาณ 04.00-05.30 น.ของวันที่ 18 พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ดร.ศรันย์กล่าวว่า จากที่ได้สังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกมากกว่า 20 ปี พบว่าช่วงเวลา 23.00 น.เป็นช่วงเวลาที่เห็นฝนดาวตกได้สวยที่สุด

เหตุผลที่ฝนดาวตกในช่วงเวลาดังกล่าวสวยที่สุด เพราะฝุ่นดาวหางจะผ่านชั้นบรรยากาศโลกแบบเฉียดๆ ไม่วิ่งเข้าตรงๆ เหมือนช่วงที่เกิดฝนดาวตกสูงสุด โดยจะเห็นดาวตกเป็นสายเหมือนขบวนรถไฟ และวิ่งผ่านชั้นบรรยากาศช้ากว่า ขณะที่ช่วงเกิดดาวสูงสุดซึ่งมีความเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที

“ฝนดาวตกลีโอนิดส์นี้น่าทึ่งตรงที่เมื่อเกิด "ฝนดาวตกลูกไฟ" (fireball) จะเกิดความร้อนสูงมาก และเกิดแสงสีเขียว ซึ่งเกิดจากความร้อนที่ถูกทิ้งไว้และทำให้ออกซิเจนในอากาศเกิดการเรืองแสง ส่วนบางครั้งที่เห็นแสงสีเขียวเป็นทางหยึกหยักนั้นเนื่องจากอากาศที่ถูกลมพัด" ดร.ศรันย์กล่าว

สำหรับฝนดาวตกลีโอนิดส์ครั้งนี้ ดร.ศรันย์บอกว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่หลายคนจะได้เห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ปริมาณมาก อีกทั้งทางเอเชียตะวันออกจะเห็นได้ดีที่สุด

อีกทั้ง นักดาราศาสตร์ที่วิจัยฝนดาวตกจะเดินทางมาศึกษาในภูมิภาคนี้ โดยการศึกษาฝนดาวตกทำให้ทราบสภาพแวดล้อมรอบโลก และการกระจายของฝุ่นละอองรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งที่สุดจะนำไปสู่ความเข้าใจกำเนิดระบบสุริยะ แต่สำหรับเมืองไทยยังไม่มีใครวิจัยฝนดาวตกอย่างชัดเจนนัก

"มีการศึกษาว่าทุกๆ กว่า 30 ปีจะมีฝนดาวตกลีโอนิดส์ปริมาณมหาศาลที่เป็น "พายุฝนดาวตก" และมีรายงานกว่าในปี 2376 ที่สหรัฐฯ ได้เห็นฝนดาวตกมากถึง 100,000 ดวงต่อชั่วโมง และเมื่อปี 2541 ก็คำนวณว่าจะเกิดพายุฝนดาวตก แต่ก็ผิดคาด จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มคำนวณเก่งขึ้นและพยากรณ์ว่าปี 2544 จะเกิดพายุฝนดาวตกอีกครั้ง 17-18 พ.ย.ตอนนั้นคาดว่าจะได้เห็นเยอะสุดในวันที่ 18 แต่ปรากฎว่ากลับเห็นเยอะในวันที่ 17” ดร.ศรันย์กล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.ศรันย์บอกว่า การเกิดฝนดาวตกนั้นมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจไม่เกิดฝนดาวตกปริมาณ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสมากถึง 50%

นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่สวยงามแล้ว ยังมีฝนดาวตกเจมินิดส์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 ธ.ค. โดยปีนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ติดตาม เพราะปีนี้ไม่มีแสงรบกวนจากดวงจันทร์ โดยฝนดาวตกชนิดนี้มีปริมาณมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง แต่เป็นฝนดาวตกที่สว่างไม่มากนัก มีความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อนาที ซึ่งมีเวลาพอที่จะชี้ชวนกันดูได้ ไม่เหมือนฝนดาวตกลีโอนิดส์

สำหรับข้อแนะนำในการชมฝนดาวตกนั้น ดร.ศรันย์บอกว่า ให้นอนดูโดยช่วงเกิดฝนดาวตกสูงสุดจุดศูนย์กลางจะอยู่กลางศรีษะพอดี ส่วนการถ่ายภาพนั้นไม่อาจบอกได้ว่าจะถ่ายมุมไหน ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง เนื่องจากฝนดาวตกมีอัตราเร็วสูงมาก

ระหว่างเดือน พ.ย.จนถีง ก.พ.ปีหน้ายังมีปรากฎการณ์ดาราศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจและประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตได้ อาทิ ปรากฎการณ์จันทรุปราคารับปีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.53 ในเวลา 01.52-02.52 น. แต่เกิดคราสบังเพียงแค่ 10% เท่านั้น

จากนั้นเป็นปรากฎการณ์สุริยุปราคาบางส่วนวันที่ 15 ม.ค.53 ซึ่งทางจังหวัดในภาคเหนือ อย่าง จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่จะเห็นการบดบังของคราสได้มากที่สุดในพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ และเห็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่เกิดคราสเริ่มต้นที่แอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย อินเดียตอนใต้ ศรีลังกาตอนบน พม่าและสิ้นสุดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ส่วนปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายฤดูหนาวคือการเข้าใกล้ของดาวอังคารในเดือน ม.ค.-ก.พ.53 ซึ่ง ดร.ศรันย์กล่าวว่า จะเห็นดาวสีแดงบนท้องฟ้าเด่นชัดมาก และในวันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดคือช่วงเช้าของวันที่ 28 ม.ค.เป็นระยะทาง 99,331,411 กิโลเมตร มีขนาดปรากฏ 14.11 ฟิลิปดา หรือประมาณหลุมเล็กๆ บนดวงจันทร์ โดยดวงจันทร์มีขนาดปรากฏ 30 ลิปตา ซึ่ง 1 ลิปคาเท่ากับ 60 ฟิลิปดา

ทั้งนี้ในวันที่ 30 ม.ค.53 เป็นที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาิทตย์ ซึ่ง ดร.ศรันย์กล่าวว่าเราจะได้เห็นดาวอังคารในช่วงพร้อมกับที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และจะเห็นชัดตลอดทั้งคืนจนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าในตอนเช้า และในช่วงนี้เราจะได้สังเกตพื้นผิวและปรากฏการณ์ฟ้าหลัว (Haze) บนดาวอังคารได้ชัดเจนขึ้น

ปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกนี้เกิดขึ้นทุกๆ 26 เดือน โดยครั้งที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดคือเมื่อ 28 ส.ค.46 ซึ่งเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 5,000 ปี โดยดาวอังคารมีขนาดปรากฏ 25 ฟิลิปดา และเนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารเป็นวงรี โอกาสที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกโดยมีขนาดใกล้เคียงกับ 25 ฟิลิปดานี้ จะเกิดขึ้นทุกๆ 18 เดือน

ปรากฏการณ์นี้ ยังทำให้เกิดการส่งฟอร์เวิร์ดเมลที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อนว่า เราจะได้เห็นดาวอังคารขนาดเท่าดวงจันทร์ เวียนมาถึงกล่องจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของเราทุกๆ 2 ปีด้วย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีจุดเรเดียนท์ (Radiant) หรือจุดกระจายฝนดาวตกอยู่ที่กลุ่มดาวสิงโต
กำลังโหลดความคิดเห็น