อุดรธานี- คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.อุดรฯเชิญร่วมชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ “ฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ โดยจัดโครงการอบรมปฏิบัติการผลิตสื่อการสอนดาราศาสตร์ และสังเกตฝนดาวตก ให้แก่ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์
ดร.สุวิทย์ นามมหาจักร รองอธิการบดีและอาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ เปิดเผยว่า “ปรากฏการณ์ครั้งนี้ คนไทยทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจะมีโอกาสชมฝนดาวตกลีโอนิดส์นับร้อยดวง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 17 ไปจนถึงรุ่งเช้า 18 พฤศจิกายน ช่วงเวลาที่คาดว่าจะมองเห็นฝนดาวตกสูงสุด คือ เวลาประมาณ 04.00 น.ของวันที่ 18 พฤศจิกายน
โดยสามารถมองเห็นได้ราว 150-160 ดวงต่อชั่วโมง ส่วนสถานที่ที่เหมาะสมกับการดูฝนดาวตก ควรเป็นจุดที่ไม่มีแสงไฟรบกวน หรือห่างจากเมืองใหญ่ไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร หันหน้าไปทางดาวเหนือ”
ทั้งนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากเศษซากหลงเหลือของ “ดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัตเทิล” มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 33.2 ปี เมื่อถึงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก และทุกๆ 33 ปี ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้เกิดฝนดาวตกมากเป็นพิเศษ
ซึ่งการโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 และจะเข้าใกล้ครั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2556