หลายคนได้ยลดาวอังคารใกล้โลกด้วยตาเปล่าของตัวเองมาแล้วเมื่อค่ำคืนวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณตี 2 ขณะที่อีกหลายคนทนง่วงเหงาหาวนอนไม่ไหว จนผลอยหลับไป แต่ไม่เป็นไร เพราะนักดาราศาสตร์เขาเก็บภาพสวยๆ ของดาวอังคารยามอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบ 2 ปีกว่า มาให้ดูกันชัดๆ
ค่ำคืนวันที่ 27 ต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ "ดาวอังคาร" โคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 26 เดือน ทั้งนักดาราศาสตร์ตัวจริงและนักดูดาวมือสมัครเล่นต่างเฝ้าติดตามปรากฏการณ์นี้อย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะสามารถสังเกตเห็นดาวเพื่อนบ้านดวงนี้ได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า โดยเห็นเป็นดวงสีส้มแดงสุกใสและโดดเด่นกว่าดาวอื่นๆ หรือใช้เพียงกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ก็สามารถสังเกตเห็นสภาพพื้นผิวและชั้นบรรยากาศบนดาวอังคารได้แล้ว และถ้าโชคดีก็ยังจะได้เห็นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือของดาวอังคารด้วย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งได้ติดตามปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด บอกว่า ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกมาที่สุดในรอบ 26 เดือน เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 28 ม.ค.53 โดยมีความสว่างประมาณ -1.3 โชติมาตร และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 99,331,400 กิโลเมตร หรือมีขนาดปรากฏประมาณ 14.10 ฟิลิปดา บริเวณกลุ่มดาวปู
หลังจากนั้นในวันที่ 30 ม.ค. 53 ดาวอังคารจะเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ฉะนั้นในคืนวันดังกล่าวเราจะสังเกตเห็นดาวอังคารปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ และคล้อยต่ำลงในช่วงรุ่งเช้าด้านทิศตะวันตก ซึ่งเราจะเห็นดาวอังคารได้ชัดเจนเช่นนี้ไปจนถึงเดือน ก.พ.