xs
xsm
sm
md
lg

"นกพงปากยาว" หนึ่งในนกหายากสุดๆ โผล่ให้พบที่อัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนรักนกตื่นเต้นดีใจไม่แพ้นักวิทยาศาสตร์ หลังผลตรวจดีเอ็นเอยืนยัน นกหายากที่พบในดินแดนอัฟกัน ที่แท้คือ "นกพงปากยาว" หนึ่งในนกหายากที่สุดของโลก เดิมเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 139 ก่อนพบอีกครั้งที่แหลมผักเบี้ย จนมาล่าสุดพบเพิ่มอีกราว 20 ตัว ในพื้นที่ห่างไกลของอัฟกานิสถาน ส่วนบนเกาะบอร์เนียวมีนกสปีชีส์ใหม่เพิ่งได้รับการค้นพบเมื่อปีที่แล้วด้วย

ทีมนักวิจัยของสมาคมนักอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) นำโดย โรเบิร์ต ทิมมินส์ (Robert Timmins) สำรวจพบนกพงตัวเล็ก ปากยาว ขนสีน้ำตาล ในพื้นที่ห่างไกลแถบฉนวนวาคาร (Wakhan Corridor ) และแม่น้ำปาร์มีร์ ใกล้กับเทือกเขาปาร์มีร์ (Pamir Mountains) ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ในปี 2008 และสะดุดกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของนกดังกล่าว จึงได้อัดเทปเก็บเอาไว้

หลังจากนั้นเขาได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในเมืองทริง (Natural History Museum in Tring) ประเทศอังกฤษ เพื่อตรวจสอบผิวหนังของนก ซึ่งตอนแรกเขาคิดว่านกที่พบนั้นคือนกพงนาพันธุ์อินเดีย (Blyth's reed warblers) แต่กลับพบว่าไม่ใช่ และต่อมา ลาร์ส สเวนส์สัน (Lars Svensson) ผู้เชี่ยวชาญด้านนกพงและเสียงร้องของนกพงชาวสวีเดน ได้ฟังเสียงของนกพงที่ทิมมินส์อัดเทปไว้ บอกกับเขาว่านี่น่าจะเป็นการบันทึกเสียงของนกพงปากยาว (large-billed reed warbler) ได้เป็นครั้งแรก




นกพงปากยาว หนึ่งในนกชนิดที่หายากที่สุดในโลก ซึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 139 ปี ก่อนจะปีอีกครั้งในประเทศไทยเมื่อปี 2006 และล่าสุดสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) พบอีกครั้งกว่า 20 ตัว ในประเทศอัฟกานิสถาน (ภาพจาก เอพี/WCS)


ต่อมาในช่วงเดือน ก.ค. 2009 ทีมนักวิจัยได้กลับไปยังพื้นที่ในอัฟกานิสถานบริเวณที่พบนกดังกล่าวอีกครั้ง โดยในครั้งนั้นได้เตรียมตาข่ายดักนกไปด้วย และเปิดเสียงนกพงที่ทิมมินส์อัดไว้เมื่อปีก่อนล่อนกตัวอื่นๆ เข้ามา ซึ่งสามารถจับนกพงชนิดเดียวกันทั้งหมดได้ราว 20 ตัว แล้วเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากขนนกกลับไปตรวจพิสูจน์ในแล็บ

จากการเปรียบเทียบขนาด ลักษณะจากภาพถ่าย กับตัวอย่างที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และผลการตรวจดีเอ็นเอ ยืนยันชัดเจนว่าฝูงนกที่พบนั้นเป็นนกพงปากยาวอย่างแน่นอน

โคลิน พูล (Colin Poole) ผู้อำนวยการสมาคมนักอนุรักษ์สัตว์ป่าภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนกสปีชีส์นี้เลย ดังนั้นการค้นพบบริเวณที่มีนกเผ่าพันธุ์นี้อาศัยอยู่ เสมือนว่าเราแหล่งได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับนกพงปากยาว และความรู้ใหม่นี้ยังบ่งชี้ว่าบริเวณฉนวนวาคานยังเก็บงำความลับทางชีววิทยาเอาไว้อยู่ และนี่เป็นเรื่องสำคัญมากด้วยในอนาคตสำหรับการพยายามอนุรักษ์พื้นที่นี้เอาไว้ในอัฟกานิสถาน



นกพงปากยาว ที่พบในพื้นที่โครงการแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2006 (ภาพจาก บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี)


ทั้งนี้ เอพีรายงานว่านกพงปากยาวถูกพบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อปี 1867 จากนั้นไม่เคยมีใครพบเห็นอีกเลยจนเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเป็นเวลาถึง 139 ปี กระทั่งในปี 2006 มีรายงานการค้นพบนกพงปากยาวครั้งที่สองโดยบังเอิญ ในพื้นที่ของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ซึ่งพบเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น จนในปี 2006 องค์กรเบิร์ดไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Birdlife International) ในสหราชอาณาจักร ได้ระบุว่านกพงปากยาว เป็นนกที่หายากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง

ล่าสุดพบนกดังกล่าวอีกครั้งในอัฟกานิสถานดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของนักอนุรักษ์ในประเทศอัฟกานิสถานอย่างยิ่ง เนื่องจากสงครามที่ยังครุกรุ่นอยู่ในอัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ มีรายงานในบีบีซีนิวส์การค้นพบนกสปีชีส์ใหม่ในป่าดิบบนเกาะบอร์เนียว ในเขตประเทศมาเลเซีย โดยในรายงานข่าวระบุว่า ริชาร์ด เว็บสเตอร์ (Richard Webster) นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (Leeds University) ในอังกฤษ สังเกตเห็นนกดังกล่าวครั้งแรกในป่าขณะที่นกบินเกาะกิ่งไม้ที่สูงจากพื้นดินราว 35 เมตร



นกสปีชีส์ใหม่ที่นักชีววิทยาอังกฤษเพิ่งค้นพบในป่าบนเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว (ภาพจาก บีบีซีนิวส์)


เว็บสเตอร์เห็นนกดังกล่าวกำลังจิกกินดอกของกาฝากบนต้นไม้ ซึ่งเป็นนกที่ขนาดเล็กพอๆกันนกกระจิบ ขนที่ลำตัวมีสีเทา และมีสีขาวบริเวณรอบดวงตา อก และท้อง

จากการวิเคราะห์นกชนิดนี้ในภาพถ่าย ดร.เดวิด เอ็ดเวิร์ดส์ (Dr David Edwards) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาเขตร้อน ได้จำแนกนกชนิดนี้ให้เป็นสปีชีส์ใหม่ แต่เนื่องจากยังมีข้อมูลเกี่ยวกับนกนี้ไม่มากนัก จึงยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ แต่หลังจากการพบครั้งแรกเมื่อช่วงฤดูร้านของปีที่แล้ว ทีมวิจัยก็พบเห็นนกชนิดนี้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งพวกเขาปักหลักทำงานกันในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์หุบเขาดานัม (Danum Valley Conservation Area) รัฐซาบาห์ ในมาเลเซีย

"การค้นพบนกสปีชีส์ใหม่ในบริเวณที่เป็นหัวใจของบอร์เนียว ย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันเหลือเชื่อของพื้นที่พิเศษแห่งนี้" อดัม โทมาเสก (Adam Tomasek) ผู้อำนวยการโครงการเฮิร์ท ออฟ บอร์เนียว ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (WWF's Heart of Borneo) กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น