อมตะจับมือ 8 มหาวิทยาลัย สร้าง "เมืองวิทยาศาสตร์" หวังเป็นสมองของประเทศ ผลิตงานวิจัยเสริมศักยภาพให้ไทยเป็นฐานวิจัยและพัฒนาแห่งภูมิภาค พร้อมดึง สวทช. ร่วมเป็นที่ปรึกษา หวังดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มและดึงสมองไทยให้ไหลกลับเข้าประเทศ คาดปลายปีนี้เริ่มตอกเสาเข็ม ปีหน้าได้เห็นหน่วยวิจัยเอกชนรายแรกในเมือง
บริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดตั้ง "เมืองวิทยาศาสตร์อมตะ" เมื่อวันที่ 7 ม.ค.53 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้การสนับสนุนและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โครงการดังกล่าวด้วย
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า เมืองวิทยาศาสตร์เป็นวิวัฒนาการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหมือนนิคมวิจัย ซึ่งเมืองวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วยนิคมวิจัยเช่นกัน แต่เพรียบพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วย เสมือนกับเมืองเมืองหนึ่ง แต่เป็นเมืองที่เข้มข้นไปด้วยวิทยาศาสตร์ และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการเข้ามาจัดตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมของตนเองภายในเมืองแห่งนี้
"หลังจากที่บริษัทอมตะได้เสนอแนวคิดการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ในภาคตะวันออกขึ้นเป็นแห่งแรกในไทย ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมจาก สวทช. และ อมตะ ขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 52 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญทางด้านการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นปลายเดือน ม.ค. นี้ เพื่อศึกษาว่าจะดำเนินการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ในรูปแบบใดให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด คาดว่าจะได้ผลการศึกษาออกมาราวปลายเดือน พ.ค. นี้" ศ.ดร.ชัชนาถ ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์อมตะ กล่าว
ด้านนางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ บริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองวิทยาศาสตร์อมตะ จะจัดตั้งขึ้นบนพื้นที่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี บนพื้นที่ประมาณ 500-1,000 ไร่ ด้วยงบประมาณราว 200-300 ล้านบาท ในเบื้องต้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวกรอบด้านและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคได้ราวปลายปีนี้ และภายในปีหน้าน่าจะเริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาจัดตั้งหน่วยวิจัยในเมืองวิทยาศาสตร์แน่นอน โดยภาคเอกชนกลุ่มแรกที่จะดึงให้เข้ามาร่วมตั้งหน่วยวิจัยในเมืองวิทยาศาสตร์ น่าจะมาจากบริษัทที่มีอยู่แล้วภายในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงกัน ที่มีอยู่กว่า 700 โรงงาน ซึ่งเป็นของต่างชาติกว่า 30 ประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ เหล็ก เคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิด
ส่วนมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ที่จะเป็นแกนหลักในการสร้างฐานวิจัยและพัฒนาในเมืองวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
นางสมหะทัยกล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากฐานการผลิต ไปสู่ฐานการวิจัยและพัฒนา และพร้อมจะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาของอาเซียนและกลุ่มประเทศบิมสเทค (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ที่ไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างบุคลากรด้านการวิจัยรุ่นใหม่ป้อนให้ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต และเป็นสถานที่รองรับคนไทยที่มีศักยภาพจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศด้วย