xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เบรกลงทุนมาบตาพุด เครือปตท.-ปูนใหญ่กระอัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.อภิสิทธิ์ สร้างมาตรฐานใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยึดมั่นประชาชนต้องมาก่อน สั่งชะลอโครงการขยายและลงทุนใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางทั้งหมดระหว่างทบทวนแนวทางพัฒนาระยองใหม่ ให้การอนุมัติขยายโรงงานยึดตามมาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ โครงการลงทุนปิโตรเคมี 3แสนล้านสะเทือนหนัก นักลงทุนขาใหญ่เครือปตท. - ปูนใหญ่ กระอัก สอท.เรียกผู้ประกอบการหารือด่วนประเมินความเสียหายก่อนทำหนังสือร้องรัฐฯทบทวน สุดท้ายจะถูกเอกชนฟ้องร้องให้รัฐรับผิดชอบเพราะทำตามอีไอเออยู่แล้ว กลุ่มปตท.กัดฟันยิ้มไม่กังวลเตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปีนี้

วานนี้ (19 พ.ค.) นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง ผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง 5 ข้อ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอ (คสช.) ประกอบด้วย
1.ให้รัฐบาลทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวดระยอง โดยจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน วางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ ปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ พิจารณาปรับปรุงระบบมาตรการทางการคลัง และจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จังหวัด ระยอง จัดให้มีระบบและกลไกการป้องกัน และแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน และจัดให้มีการบริการทางสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน อย่างเพียงพอ โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในทุกั้นตอน
2.ให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูล ผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง รวมถึง เผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพในภาวะมลพิษ ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเร็วและต่อเนื่อง
3.ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการสำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม และการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมี ระดับจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรและประชาชนในพื้นที่
4.ให้ คสช.พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ กลไกกลางในการดำเนินงานและความเข้มแข็งของภาคประชาชน ได้แก่ การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการสำหรับการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชน และสนับสนุน ภาคประชาสังคมจังหวัดระยอง ติดตามการเคลื่อนไหว ทางนโยบาย โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่
“และ 5.ให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยให้มีการกำหนดแนวทางและกระบวนการตัดสินใจในการให้อนุมัติ/อนุญาต/ให้ความเห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ”
สำหรับข้อเสนอด้านนโยบายดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมามาจากการที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และประชาชนมาบตาพุดจังหวัดระยอง ได้ยื่นหนังสือต่อ คสช. ผ่านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขอให้สิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 5, 10, 11 และ 40 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 ระบุถึงปัญหามลพิษ ผลกระทบทางสุขภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และความกังวลต่อแนวโน้มการขยายอุตสาหกรรมตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 พ.ศ. 2547 - 2561 (นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย)
การยื่นใช้สิทธิของเครือข่ายฯ ถือเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่มาขอใช้สิทธิดังกล่าวภายหลังจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้ กระทั่งนำไปสู่การดำเนินโครงการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และจังหวัดระยอง โดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) ภายใต้การสนับสนุนของ สช. ซึ่งถือว่าเป็นการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งแรกเช่นกัน
กระบวนการดังกล่าว ประกอบด้วย การศึกษาวิจัยการประเมิลผลกระทบทางสุขภาพ การลงพื้นที่พูดคุยกลุ่มย่อย การจัดเวทีย่อย การสำรวจความคิดเห็นประชาชน การสื่อสารสาธารณะผ่านช่องทางและสื่อต่างๆ มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในจังหวัดรวม 3 ครั้ง รวมถึงนำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้มารับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง และจังหวัดระยอง นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร
จากกระบวนการดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่าแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบันก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพชาวระยองทั้ง 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สังคม และเศรษฐกิจ อีกทั้งในการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วจังหวัดระยอง พบว่า วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ชาวระยองต้องการ คือ ปลอดจากมลพิษอุตสาหกรรม มีการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีความสัมพันธ์ทางสังคมไปมาหาสู่กัน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนฐานการอนุรักษ์ทรัพยากร และการประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยองของภาครัฐในปัจจุบัน ขณะที่จังหวัดระยองมีศักยภาพ และทุนทางสังคมสำหรับทางเลือกการพัฒนาอื่นๆ
จากนั้น เมื่อเดือนส.ค. 2551 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) แถลงมติการพิจารณาข้อเสนอนโยบายจากการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเสนอให้รัฐบาลควรชะลอการขยายและการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐบาล จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ครม.จึงได้อนุมัติตามแนวทางที่ คสช.เสนอ

***ส.อ.ท.เรียกประชุมด่วน

นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด และบ้านฉาง ในระหว่างการทบทวนแผนพัฒนาในจังหวัดระยองตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)เสนอนั้น
ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน เพียงแต่จะมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องมีความชัดเจนว่าจะให้ชะลอการลงทุนในขั้นตอนไหน หากเป็นการชะลอการลงทุนโรงงานที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างแต่ผ่านการเห็นชอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)แล้ว มีเพียง 7-8 โครงการ มูลค่าความเสียหายจะมีไม่มากแค่หลักหมื่นล้านบาท

แต่หากรวมไปถึงโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และรัฐบาลอาจจะถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโครงการเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ ไม่ได้ทำผิดกฎกติกา รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจด้วย

ปัจจุบันมีโรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยผ่านความเห็นชอบจากอีไอเอแล้วถึง 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (20 พ.ค.) ทางกลุ่มปิโตรเคมีเคมีจะมีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งหากมติครม.ดังกล่าวสร้างความเสียหายมากก็จะทำเรียกร้องให้มีการทบทวนผ่านทางส.อ.ท.ต่อไป

" หากมติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมาก ก็จะทำเรื่องขอให้ทบทวนผ่านทางสภาอุตสาหกรรมฯ แม้ว่าในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นภาพชัดเจน แต่ในแง่เศรษฐกิจโดยรวมเอกชนได้รับความเสียหายมาก ที่ผ่านมาภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนี้ หากภาคเอกชนไม่แข็งแรงแล้ว จะยิ่งทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยยิ่งแย่ลง "

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ ทางส.อ.ท.ได้มีการทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งพบว่ายังไม่มีโครงการใดที่ลงทุนไปแล้วถอนการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพียงแต่โครงการใหม่ที่จะมีการลงทุนเพิ่มเติมนั้น เชื่อว่านักลงทุนก็คงพิจารณาผลดี-ผลเสียเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไม่ได้วิตกถึงความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ต้องมีความชัดเจนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนว่าจะยังลงทุนในมาบตาพุดหรือไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน ขณะเดียวกันถ้ารัฐกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานให้มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากแล้ว หน่วยงานรัฐมีอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ตรวจสอบหรือไม่

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการลงทุนปิโตรเคมีทั้งส่วนขยายและโรงงานใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากอีไอเอแล้วทั้งสิ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปลายปีนี้ไปจนถึงปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกฎหมาย
เชื่อว่าการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและแหลมฉบังเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้นจะมีแนวทางการปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งบริษัทไม่ได้มีความกังวลาในเรื่องนี้

"ในสายตานักลงทุนต่างชาติไม่ได้กลัวเรื่องความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลัวความไม่ชัดเจน เมื่อรัฐวางกฎระเบียบใหม่ออกมา ภาคเอกชนก็ต้องพิจารณาว่าจะลงทุนหรือไม่ ซึ่งผมอยากเห็นภาครัฐ เอกชนและชุมชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเชื่อว่ามาตรการใหม่ที่จะประกาศออกมานั้นจะมีความสมเหตุสมผล มีความเป็นสากล ไม่ใช่นั่งคิดกันเองและควรดูว่าที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชนและชุมชนในพื้นที่ได้มีการทำอะไรไปแล้วบ้าง "

สำหรับกลุ่มทุนที่กำลังขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมสนับสนุน ในพื้นที่มาบตาพุดมีทั้งหมด 35 โครงการ โดยกลุ่มทุนใหญ่ เช่น เครือปตท., เครือปูนซีเมนต์ไทย ฯลฯ (ดูกราฟฟิก ประกอบ)

***ส.ส.ระยอง แนะ!! นักลงทุนอย่าหวั่นไหว

นายสาธิต ปิตุเดชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มติครม.ที่สั่งให้ชะลอขยาย-ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง นั้น ยอมรับว่า การลงทุนและการขยายตัวในพื้นที่คงจะชะงักไปบ้าง แต่อาจจะไม่เสียหายอะไรจนเกินไปเพราะเป็นการทบทวนมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อรองรับการดำเนินการในระดับจังหวัดเพื่อสนับสนุนในการตั้งกรอบเพื่อมอบหมายไปยังระดับท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นขั้นตอนที่ระดับจังหวัดกำลังทำอยู่ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ 120 วัน

*** 35 โครงการ เข้าข่ายชะลอ

สำหรับโครงการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด 35 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการโรงแยกคอนเดนเสท (นิคมฯมาบตาพุด) เจ้าของบ. เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย 2. โครงการศูนย์สาธารณูปการส่วนกลาง แห่งที่ 2 (โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ) ต.มาบตาพุด บ. พีทีที ยูทิลิตี้ 3. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนตของโรงงานที่ 2 (นิคมฯผาแดง) บ. ไทยโพลีคาร์บอเนต 4. โครงการโรงงานผลิตอีพอกซี่ เรซิน (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด) บ. อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) 5. โครงการโรงงานพีวีซี (ส่วนขยาย) ต.มาบตาพุด บ. เอเพ็ค ปิโตรเคมิคอล จก.
6. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน (นิคมมาบตาพุด) บ. สยาม โพลิเอททีลีน 7. โครงการโรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเข็มพีด เหล็กกล้ารีดร้อน (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. สยามยามาโตะ 8. โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ต.มาบตาพุด บ. ปตท. 9. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและไอน้ำ 90.2 เมกกะวัตต์ ก๊าซธรรมชาติ (นิคมเอเชีย) บ. โกลว์ พลังงาน10. โครงการโรงงานผลิตผลพลาสติกพีวีซี (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด) บ. วีนิไทย
11. โครงการโรงงานผลิตสารเอทานอลเอมีน (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. ไทยเอทานอลเอมีน 12. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 700 เมกกะวัตต์ (นิคมมาบตาพุด) บ. โกลว์ เอสพีพี 3 13. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรท์และสารเมทิลเมตะคริเลต (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. พีทีที อาซาฮี เคมิคอล 14. โครงการโรงงานผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์ และสารโพรพิลีนไกลคอล (นิคมเอเชีย) บ. เอ็มทีพี เอชพีพีโอ แมนูแฟคเจอริ่ง 15. โครงการขยายกำลังการผลิตฟอร์มัลดีไฮด์และยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. วนชัย เคมีคอล อินดัสทรี่ส์
16. โครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. ทีโอซี ไกลคอล 17. โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตคลอร์-แอลคาไล (นิคมตะวันออก) บ. ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ 18. โครงการส่วนขยายหน่วยการผลิตเม็ดพลาสติก (เขตประกอบการ สยามอีสเทิร์นฯ) บ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) 19. โครงการโรงงานผลิตอีทอกซีเลท (นิคมตะวันออก) บ. ไทย อีทอกซีเลท 20. โครงการโรงงานผลิตสารโอเลฟินส์และสารอะโรเมติกส์ (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด) บ. ระยองโอเลฟินส์ จก.
21. โครงการอีเทนแครกเกอร์ (นิคมผาแดง) บ. พีทีที โพลีเอทิลีน 22. โครงการโรงงานผลิตสารโพรพิลีน (นิคมตะวันออก) บ. พีทีที โพลีเอทิลีน 23. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีเอททิลีน (นิคมมาบตาพุด) บ. สยามโพลีเอททิลีน 24. โครงการแอลดีพีอี (นิคมผาแดง) บ. พีทีที โพลีเอททิลีน 25. โครงการโพลีโพรพิลีน (นิคมมาบตาพุด) บ. ปตท.
26. โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตคลอ-อัลคาลีและอีพิคลอโรไฮดริน (นิคมตะวันออก) บ. ไทยออแกนิกเคมีคัลส์ 27. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนตของโรงงานที่ 1 และ 2 (นิคมมาบตาพุด) บ. ไบเออร์ไทย 28. โครงการปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตโพลีอะซีทัล (นิคมผาแดง) บ. ไทยโพลีอะซีทัล 29. โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง จากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (นิคมตะวันออก) บ. อีสเทิร์น อินดัสเตรียลเอสเตท จก. และบ.เหมราช วอเตอร์ 30. โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (การปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3) ต.มาบตาพุด บ. ปตท. จก.
31. โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนฯ (นิคมมาบตาพุด) บ. ปตท. เคมิคอล 32. โครงการนิคมตะวันออก ส่วนขยาย เขตเทศบาลมาบตาพุด กนอ. ร่วมกับ บ. อีสเทิร์นอินดัสเตรียลเอสเตท 33. โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงงานอะโรมาติกส์ หน่วยที่ 2 เขตประกอบการอาร์ ไอ แอล ต.มาบตาพุด บ. อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) 34. โครงการโรงงานผลิตยูเรียฟอร์มอลดีไฮด์เรซิน (นิคมฯอาร์ ไอ แอล) บ. สตาร์พลัส เคมีคอล 35. โครงการแอลแอลดีพีอี (นิคมผาแดง) บ. พีทีที โพลีเอทิลีน
กำลังโหลดความคิดเห็น