ค่ำคืนแห่งฝนดาวตกเจมินิดส์ 13 ธันวาคม 52 "น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว" ครูใหญ่แห่งหอดูดาวเกิดแก้ว เป่าเค้กฉลองครบรอบ 13 ปี หอดูดาวล่วงหน้า 1 วัน พร้อมย้อนวันวานให้ลูกศิษย์นักดูดาวรุ่นเยาว์ที่รอฟังอย่างตั้งใจ
"ตอนเด็กผมเคยสงสัยว่าดวงจันทร์นั้นเป็นโคมไฟดวงใหญ่ จนกระทั่งสหรัฐฯ ส่งยานอพอลโล 11 ไปยังดวงจันทร์ จึงรู้ว่าที่แท้ดวงจันทร์ก็ไม่ใช่โคมไฟอย่างที่คิดไว้" น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว เจ้าของหอดูดาวเกิดแล้ว ในฐานะหัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ย้อนวันวานในวัยเยาว์ให้เหล่าลูกศิษย์ลูกหายุวิจัยได้ฟังกันในคืนวันฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันที่หอดูดาวเกิดแก้วจะมีอายุครบ 13 ปีเต็ม
ตั้งแต่มนุษย์คนแรกได้ประทับรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ เด็กชายฐากูรก็สนใจติดตามเรื่องราวของดาราศาสตร์เรื่อยมา จนเมื่อเขาสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ทำให้ต้องเหินห่างจากดวงดาวไปชั่วระยะหนึ่ง กระทั่งเรียนจบและรับราชการเป็นทหารอากาศ เขาก็ได้พบนิตยสารเกี่ยวกับดวงดาวเล่มหนึ่งเข้าโดยบังเอิญและเรียกความสนใจที่มีอยู่เดิมกลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากนั้นเขาก็เริ่มหาความรู้และซื้อกล้องดูดาวเพื่อที่จะศึกษาดาราศาสตร์อย่างจริงจัง
ตัดใจจากเครื่องบินส่วนตัว เพราะหัวใจมอบให้ดวงดาว
เจ้าของหอดูดาวเกิดแก้วเล่าว่า เมื่อครอบครัวเริ่มหันมาทำธุรกิจที่ดิน เขาก็อยากมีหอดูดาวเป็นของตัวเอง ปี 2538 จึงตัดสินใจสร้างหอดูดาวขึ้นบนเนินภายในที่ดิน 805 ไร่ ของครอบครัวใน ต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าชอบที่ดินผืนนี้มาก เพราะมีทั้งแหล่งน้ำและภูเขา สงบและร่มรื่น
"ก่อนสร้างหอดูดาว ผมคิดอย่างมีเครื่องบินส่วนตัวเอาไว้บินท่องเที่ยวต่ำๆ เหมือนแล่นเรือใบ คงมีความสุขน่าดู แต่พอมาคิดๆ ดูแล้ว ใช้เงินลงทุนเท่ากัน เครื่องบินนั่งได้แค่ 2 คน แต่กล้องดูดาวดูได้เป็นพันๆ คน สะสมไปได้เรื่อยๆ ดูแล้วคุ้มค่ากว่ามาก และที่สำคัญปลอดภัยกว่าด้วย อันตรายอย่างมากสุดก็แค่ตาบอด จึงตัดสินใจเลือกซื้อกล้องดูดาว" น.อ.ฐากูร เผยการตัดสินใจครั้งสำคัญ
ส่วนที่มาของชื่อหอดูดาวเกิดแก้ว น.อ.ฐากูร บอกว่าเห็นสถานที่ราชการหลายแห่งมักนำชื่อบุคคลมาตั้งเป็นชื่ออาคาร เช่น ใช้ชื่อของนายพล ก็เลยมีความคิดเล่นๆ ว่าเขาไม่จำเป็นต้องเป็นถึงระดับนายพลก็เอาชื่อตัวเองมาตั้งชื่อหอดูดาวได้ ก็เลยตั้งชื่อว่า "หอดูดาวเกิดแก้ว" ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นของตัวเอง แต่ตั้งเพื่อให้เป็นของพ่อและแม่ของเขา
สร้างหอดูดาว หวังตั้งโรงเรียนสอนดูดาว
ช่วงที่กำลังก่อสร้างหอดูดาว ได้มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น สุริยุปราคาเต็มดวง 24 ต.ค.38 และ ดาวหางเฮียกูตาเกะเข้าใกล้โลก เดือน มี.ค.39 ทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวและสนใจดาราศาสตร์กันมากขึ้น จนกระทั่งสร้างหอดูดาวเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 39 โดย ศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์ขวัญใจคนไทยรวมทั้ง น.อ.ฐากูร ที่ติดตามผลงานของอาจารย์ระวีมาตั้งแต่เด็ก
"ผมอ่านหนังสืออาจารย์ระวี มาตั้งแต่เด็ก และอยากรู้จักอาจารย์ แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาส เพราะอาจารย์เป็นนักดาราศาสตร์มีชื่อเสียง แต่เราโนเนม คงไม่มีโอกาสได้เจอ แต่ก็มีเหตุการณ์บังคับ เมื่อผมไปช่วยงานสมาคมดาราศาสตร์ไทย แล้วก็ได้พบกันกับอาจารย์" น.อ.ฐากูร เล่าอย่างอารมณ์ดี
"ตอนนั้นมีความคิดว่าโรงเรียนสอนพิเศษ โรงเรียนสอนดนตรี กีฬา สอนเต้นรำ ก็มีมากมาย มันก็น่าจะมีโรงเรียนสอนดูดาวบ้าง แต่ก็คิดเหมือนกันว่าจะมีใครส่งลูกมาเรียนหรือเปล่า ซึ่งเราก็อยากทำให้เป็นโรงเรียนสอนดูดาว แต่เฉพาะหอดูดาวอย่างเดียว เหมาะสำหรับการศึกษาวิจัยมากกว่าที่จะเรียนรู้ท้องฟ้าทั้งหมด ดังนั้นจึงปรับพื้นที่โดยรอบหอดูดาวให้เหมาะสำหรับการฝึกหัดดูดาว" น.อ.ฐากูร เล่า
ใช้ดินเลี้ยงดาว ก่อนปั้นดินให้เป็นดาว
น.อ.ฐากูร เล่าต่อว่า ตอนสร้างหอดูดาวก็สร้างได้ไม่มีปัญหา แต่พอสร้างเสร็จแล้วต้องดูแลมาก เพราะมีทรัพย์สินมีค่าเยอะ ซึ่งมีคนเฝ้าประมาณ 2-3 ครอบครัว ค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 3-4 หมื่นบาท จะเอาสตางค์ที่ไหนไปจ่ายไหว
"ก็เลยตัดสินใจทำไร่ ปลูกผักชี เดือนแรกขายได้ราคาดีมาก ประมาณ 2-3 หมื่นบาท แต่เดือนที่สอง ไม่เป็นอย่างนั้น ผักชีก็งอกงามดี แต่ราคาตก คนขายเยอะกว่าคนซื้อ ก็ต้องยอมขายส่งไปในราคาถูกๆ ครั้งหนึ่งต้องเอาผักชีทั้งคันรถไปแลกก๋วยเตี๋ยวกินฟรี เพราะไม่มีคนซื้อ ต้องขายผักชีดึกดื่นถึงตีสองตีสาม พอเช้าก็ต้องไปขับเครื่องบิน เริ่มรู้สึกว่าเรามาไม่ถูกทาง ในที่สุดก็เลยเลิกไป" น.อ.ฐากูร เล่าถึงความยากลำบากในยุคแรกเริ่มของหอดูดาว ซึ่งเขาเรียกว่า "โครงการดินเลี้ยงดาว"
หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนมาทำธุรกิจเชิงท่องเที่ยวและรีสอร์ท โดยเปิดหอดูดาวให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งภายในหอดูดาวเกิดแก้วมีที่พักเป็นบ้านแคปซูลจำนวน 24 หลัง ขณะเดียวกันก็เปิดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมค่ายดูดาวสำหรับเด็กด้วย โดยเยาวชนกลุ่มแรกที่มาร่วมกิจกรรมที่หอดูดาวเกิดแล้วเป็นนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และได้ วิภู รุโจปกร (ขณะนั้นเป็นนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม) มาช่วยจัดกิจกรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาวิภูกลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ในวงการดาราศาสตร์ของไทย
"กิจการรีสอร์ทหอดูดาวก็ไปได้ไม่ดี เพราะนักท่องเที่ยวส่วนมากที่มาพัก เขาต้องการความสะดวกสบาย เราต้องตามใจเข้าถ้าอยากได้เงินเยอะ ซึ่งบางอย่างก็ให้ได้ บางอย่างก็ไม่ได้ และเมื่อเขามาแล้วไม่ดูดาว เขาก็หาว่าเราเก็บเงินเขาแพงอีก ก็มีปัญหา ในที่สุดก็ไม่รับนักท่องเที่ยวอีก เลยต้องเก็บหินขายเพราะที่นี่มีหินเยอะ (ตัวอย่างหินสำหรับการเรียนการสอน)" น.อ.ฐากูร เล่าอย่างขำขันและอารมณ์ดี
กำเนิด "ลีซา"
หอดูดาวเกิดแก้วเป็นโรงเรียนสอนดูดาวให้เด็กๆ อยู่ประมาณ 3-4 ปี ก็เข้าตา รศ.ดร.สุชาตา ชินะจิตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่รู้จักหอดูดาวแห่งนี้จากอินเทอร์เน็ต และเห็นว่ามีจุดประสงค์และความสนใจไปในทางเดียวกัน จึงสนใจที่จะสนับสนุนอย่างจริงจัง ส่วน น.อ.ฐากูร ก็ตระหนักได้ว่าหอดูดาวควรจะเป็นของรัฐ ไม่ควรจะเป็นของเอกชน เพราะต้องอาศัยทุนจึงจะอยู่ได้ เช่นเดียวกับท้องฟ้าจำลองที่ไม่สามารถเก็บค่าบริการในราคาเดียวกับโรงภาพยนตร์ได้
ในที่สุดจึงเกิดเป็น ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือ ลีซา (LESA) ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยมี น.อ.ฐากูร เป็นหัวเรือใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นลีซาเน้นจัดกิจกรรมอบรมครูและนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้นโดยเรียนรู้และปฏิบัติรจริง และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนดาราศาสตร์สำหรับเยาวชนไทย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาดาราศาสตร์ขั้นพื้นฐานของไทยที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2544
ต่อมาพบว่าความรู้จากหนังสือไม่สามารถให้คำตอบแก่นักเรียนได้ทั้งหมด ครูและนักเรียนของลีซาจึงต้องหาเริ่มต้นหาความรู้ด้วยตัวเอง และเป็นที่มาของโครงการครุวิจัยและยุววิจัยลีซา ที่ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนทำงานวิจัยเกี่ยวกับโลกและดาราศาสตร์ เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้และกระบวนการค้นคว้าและทำงานวิจัยให้เด็กไทยตั้งแต่วัยเยาว์
ค้นฟ้า คว้าดาว
การวิจัยด้านดาราศาสตร์ของเยาวชนไทยยังมีข้อจำกัดเพราะขาดแคลนข้อมูลหลายด้าน เมื่อวิภู ศิษย์เอกของหอดูดาวเกิดแก้วไปศึกษาต่อด้านดาราศาสตร์ในสหรัฐฯ ก็ได้สร้างสะพานดาวด้วยการขอข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวในสหรัฐฯ หลายแห่งส่งมาให้ยุววิจัยลีซาศึกษาค้นฟ้า
หลายคนคว้าดาวได้สำเร็จ ดาวเคราะห์น้อยและดาวหางหลายดางถูกค้นพบโดยนักวิจัยตัวน้อย แม้บางดวงเด็กไทยอาจจะไม่ใช่ผู้พบคนแรกสุด (เพราะใช้ข้อมูลภาพถ่ายท้องฟ้าที่บันทึกไว้นานแล้ว) แต่พวกเขาก็สังเกตและค้นพบมันด้วยตัวเองก่อนที่จะรู้ว่าดาวดวงนั้นมีผู้คว้ามันไปก่อนหน้านั้นแล้ว หลายคนกำลังจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ บางคนได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ต่างชาติ ได้รับการทาบทามให้ไปร่วมนำเสนอผลงานวิจัย ฝึกใช้งานกล้องดูดาวขนาดใหญ่ในหอดูดาวชั้นนำของโลกหลายแห่งทั้งที่ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส
วันนี้ลีซามีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพี่เลี้ยงร่วมกับ สกว. ขณะเดียวกันลีซาก็เป็นพี่เลี้ยงให้ว่าที่พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ เป็นแหล่งปั้นครูดาราศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของลีซา 320 โรงเรียนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มี 21 โรงเรียน ที่บ่มเพาะยุววิจัย
ทิศทางข้างหน้าของหอดูดาวหลังก้าวเข้าสู่วัยทีน
หอดูดาวเกิดแก้วยืนหยัดปั้นดินเป็นดาววิจัยมานานร่วม 13 ปี ครูและนักเรียนนับร้อยนับพันคนรู้จักดาราศาสตร์อย่างแท้จริงจากที่นี่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
"13 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำก็ยิ่งสำเร็จ แต่ก็ยิ่งเหนื่อย เพราะสังคมไทยยังไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้" คำตัดพ้อของ น.อ.ฐากูร ที่วันนี้เขาเริ่มรู้สึกขาดแรงจูงใจ เพราะระบบการศึกษาไทยและสังคมไทยยังไม่เอื้อต่อสิ่งนี้ ที่เขาเปรียบเปรยว่าคนทั่วไปที่อยากกินโอเลี้ยง แต่เขาอยากชงเอสเปรสโซ แม้แต่หน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนอย่าง สกว. ก็เริ่มท้อแท้ เพราะต้องการสร้างลีซาให้เป็นต้นแบบ แต่กลับหาผู้รับไปสานต่อยากยิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่หมดหวัง
น.อ.ฐากูร ตั้งใจจะมอบหอดูดาวเกิดแก้วในวัย 13 ปี ให้อยู่ในความดูแลของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ทว่าผู้ถูกวางตัวให้รับช่วงต่อยังอยากให้ครูใหญ่คนเดิมกุมบังเหียนต่อไป หรือหากยังได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจาก สกว. เขาก็จะสานต่อด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่เป็นตามนั้น โรงเรียนสอนดูดาวของเยาวชนไทยแห่งนี้ก็อาจต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและยังมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนช่วยผลักดันเด็กไทยให้ไต่บันไดดาวไปได้อีกยาวไกล