คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ - ครุศาสตร์-วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ ลีซา จัดงาน "มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553" หน้าลานพระบรมรูปสองรัชกาล เตรียมแผ่นกรองแสงดูดวงอาทิตย์กว่า 1,000 ชุด พร้อมแจกจ่ายให้เยาวชนและประชาชนที่มาร่วมงานได้สัมผัสปรากฏการณ์สุริยุปราคาด้วยตัวเอง คนกรุงเทพฯ จะเห็นจันทร์บดบังอาทิตย์มากกว่าครึ่ง แต่แม่ฮ่องสอนมืดเยอะสุดกว่า 77%
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม, ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัด “มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมกล้องโทรทรรศน์กว่า 40 ชุด พร้อมอุปกรณ์กรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์กว่า 1,000 ชิ้น บริการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดมหกรรมสุริยุปราคาครั้งนี้ว่า จะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป บริเวณพื้นที่ของสนามและลานพระบรมรูปสองรัชกาลในการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ เพื่อการสังเกตสุริยุปราคาทางตรง และการใช้กล้องรูเข็มพร้อมฉากรับภาพ เพื่อการสังเกตสุริยุปราคาทางอ้อม พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับแผ่นพับแนะนำการดูสุริยุปราคาที่ถูกวิธี โดยการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมประมาณ 1,000 คน
ด้าน ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเตรียมการในส่วนของคณะครุศาสตร์ ว่า ทางคณะได้ให้นิสิตประกอบกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงจำนวน 25 ชุด และประดิษฐ์แผ่นกรองแสงอาทิตย์จำนวน 1,000 แผ่น เพื่อการสังเกตการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้จะมอบแผ่นกรองแสงให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานทุกคน นอกจากนั้นโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้จัดเตรียมท้องฟ้าจำลองกลางแจ้งไว้ให้บริการ และจัดเตรียมวิทยากรคอยให้ความรู้ และเล่นเกมส์ตอบถามปัญหาดาราศาสตร์ตลอดงาน จึงอยากเชิญชวนให้โรงเรียนต่างๆ พานักเรียนมาเรียนรู้ร่วมกัน
สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. 53 นั้น เป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาแบบวงแหวน” โดยมีเส้นทางของแนวคราสวงแหวนกว้างกว่า 300 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแนวคราสใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 45 นาที แนวคราสวงแหวนได้เริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา ผ่านประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา เคนยา และโซมาเลีย จากนั้นออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย แล้วจึงผ่านเข้าสู่ทวีปเอเชีย ผ่านบังกลาเทศ อินเดีย พม่า และเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน สามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้างตามบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน เช่น ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย โดยสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน ที่กรุงเทพฯ นั้นดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่สัมผัสที่ 1 ในเวลาประมาณ 14.00 น. บังมากที่สุด 15.37 น. ร้อยละ 57.3 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์ และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 16.58 น. ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะได้เห็นการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้จะเกิดนานที่สุด ประมาณ 3 ชั่วโมง 6 นาที และจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุดร้อยละ 77 ของพื้นที่ดวงอาทิตย์