เอ็มเทควิจัยพลาสติกชีวภาพสำเร็จหลากหลายรูปแบบ แถมปรับสูตรได้ตามใจชอบ ตั้งห้องแล็บทดสอบแห่งแรกในไทย ที่ได้มาตรฐานสากล ภาคเอกชนรับช่วงสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมร่วมพัฒนาต่อยอด ด้านนักวิจัยย้ำพลาสติกชีวภาพจะย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในภาวะที่เหมาะสมเท่านั้น แนะต้องมีระบบจัดการที่ดี จึงจะไม่มีปัญหาขยะ
"พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable plastic) คือพลาสติกที่ถูกออกแบบมาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงทำให้สมบัติต่างๆ ของพลาสติกลดลงภายในช่วงเวลาหนึ่ง โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีดังกล่าวต้องเกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ในธรรมชาติเท่านั้น สามารถวัดได้โดยวิธีการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น" ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย หัวหน้าโครงการวิจัย พลาสติกชีวภาพ เอ็มเทค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ให้คำจำกัดความของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือที่เรียกกันติดปากว่าพลาสติกชีวภาพ
ดร.ธนาวดี เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า เริ่มสนใจงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ศึกษาจบปริญญาเอกและเข้าทำงานเป็นนักวิจัยที่เอ็มเทคราวปี 2543 ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีการพูดถึงพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยกันแล้ว และมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งหลังจากที่ทุ่มเทวิจัยเรื่องนี้มานานร่วม 8-9 ปี ทีมวิจัยก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังที่สามารถปรับสัดส่วนของแป้งให้เหมาะสมกับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ถาด ช้อนส้อม ภาชนะใส่อาหาร แผ่นฟิล์ม ถุงขยะอินทรีย์ ถุงช็อปปิ้ง ถุงเพาะชำ เป็นต้น
นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพขึ้นเองจากข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล และถือเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของพลาสติกตามมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย ซึ่งจะดำเนินการทดสอบตั้งแต่องค์ประกอบของพลาสติกชีวภาพ การย่อยหรือการแตกสลายทางชีวภาพ การแตกละเอียด และความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพลาสติกชีวภาพที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และเมื่อย่อยสลายแล้วสามารถใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
"วิธีเดิมที่ใช้ทดสอบพลาสติกชีวภาพโดยทั่วไปมักใช้วิธีฝังดิน แต่ดินในแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานการทดสอบการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพได้ ซึ่งพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะถูกย่อยสลายได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น สภาวะในห้องแล็บ หรือในถังหมักขยะอินทรีย์" ดร.ธนาวดี อธิบาย
ดร.ธนาวดี เผยอีกว่า หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าการแตกคือการย่อยสลาย และคิดว่าพลาสติกชีวภาพจะถูกย่อยสลายได้เองเมื่อทิ้งลงในถังขยะหรือตามข้างถนน หรือแค่นำไปฝังดินเท่านั้น ซึ่งหากประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพ และไม่มีระบบการกำจัดขยะพลาสติกชีวภาพที่ดีพอ การส่งเสริมให้ใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และดำเนินการอย่างครบวงจร ก็ไม่สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้อยู่ดี
สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เอ็มเทคพัฒนาขึ้นผ่านการทดสอบโดยสามารถย่อยสลายได้ 90% ภายในเวลา 6 เดือน ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และความชื้น 50% จะไม่ย่อยสลายในสภาวะการใช้งานโดยปกติทั่วไป จึงสามารถหมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ได้เช่นเดียวกับพลาสติกทั่วไป นอกจากนั้น ดร.ธนาวดี จะวิจัยต่อเพื่อพัฒนาสูตรเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีความหลากหลายในการใช้งานมากขึ้น รวมถึงพัฒนาให้มีอายุการใช้งานยาวขึ้นด้วยสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพบางชนิด เช่น ถุงเพาะชำ
ทั้งนี้ เอ็มเทคได้แถลงข่าวผลสำเร็จงานวิจัยดังกล่าว พร้อมจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง โครงการร่วมทดสอบการผลิตเม็ด การขึ้นรูปถุง และการทดสอบการใช้งานสำหรับเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม ระหว่าง เอ็มเทค และ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 53 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.พิฑูร ตรีวิจิตรเกษม ประธานกรรมการ บริษัท ทานตะวันอุสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า หลังจากลงนามความร่วมมือกันแล้ว ทางบริษัทจะร่วมกับเอ็มเทคในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะนำเทคโนโลยีของเอ็มเทคมาผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพออกสู่ตลาดด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจากบรรจุภัณฑ์อาหารก่อน ซึ่งช่วยลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างชาติได้
อย่างไรก็ดี ดร.พิฑูร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังจัดทำ ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มประกาศใช้ได้ราวกลางปี 53 และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพแก่ประชาชน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านพลาสติกย่อยสลายได้ในประเทศไทย รณรงค์ให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพโดยหน่วยงานรัฐเป็นผู้นำร่อง และการบริหารจัดการขยะพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสมด้วย