xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ร่วมมือยูเนป-สต็อคโฮล์ม ช่วยชาวบ้านรับมือปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ซ้าย) และ รูพา รักชิท (Ms. Roopa Rakshit) ตัวแทนจากยูเนป ร่วมในการแถลงข่าว
ดร.อานนท์ นำทีม ศรภอ. ร่วมมือกับนานาชาติศึกษาสถานการณ์ด้านภูมิอากาศในไทย หวังเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนากลยุทธ์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นำร่องที่ 4 หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ในยโสธร พร้อมเร่งระดมความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มากกว่าแค่ป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยกับองค์กรระหว่างประเทศ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ศรภอ. ได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์ม (Stockholm Environment Institute: SEI) และสำนักงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนป (UNEP) ดำเนินงานภายใต้โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย (Adaptation Platform) ในการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทั่วไปในประเทศไทย และเชื่องโยงความรู้สู่ชุมชนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

"ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาหรือรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่วนใหญ่ดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งยังไม่เกิดผลเต็มที่ จึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินงานด้วย แต่ต้องทำด้วยความถูกต้องตามหลักการ ฉะนั้นจึงต้องสร้างความถูกต้องของข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัญหาขาดองค์ความรู้ด้านนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย การจัดตั้งเวทีแลกเปลี่ยนความรู้นี้ขึ้นมา จะช่วยสร้างองค์ความรู้ที่เป็นระบบได้มากขึ้น ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกัน และมีการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้นำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด" ดร.อานนท์ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของประเทศไทย ดร.อานนท์ เผยว่าที่ผ่านมามีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ซึ่งผลงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีอยู่ค่อนข้างมาก แต่องค์ความรู้เหล่านั้นไม่เชื่อมโยงไปสู่ผู้ปฏิบัติจริงหรือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งปัญหาผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ซึ่งเวทีนี้จะช่วยให้นักวิจัยและชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะกันและเพื่อนำข้อมูลและองค์ความรู้ไปใช้พัฒนากลยุทธ์ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยยึดเอาผู้ปฎิบัติหรือผู้ใช้เป็นตัวตั้ง

ผู้อำนวยการ ศรภอ. เผยอีกว่าเบื้องต้นโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยอันดับแรกจะมุ่งแก้ปัญหาเร่งด่วนของไทย คือการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตอนบนของอ่าวไทย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดย 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติเกิดขึ้นจากที่นี่ และที่สำคัญพื้นที่ส่วนนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เพียงแก้ปัญหาด้วยการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแต่เพียงเท่านั้น โดยต้นปีหน้า ศรภอ. จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และพิจารณาว่าจะนำเทคโนโลยีใดเข้าไปช่วยเหลือได้บ้าง

นอกจากนี้ยังได้เลือกพื้นที่นำร่องจำนวน 4 หมู่บ้าน ใน อ.กุดชุม, อ.เลิงนกทา และ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่มีความเข้มแข็ง แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับฝนแล้งหรือน้ำมากจนทำให้ทำการเกษตรไม่ได้ จึงพิจารณาว่าจะนำเอาความรู้หรือเทคโนโลยีด้านไหนเข้าไปช่วยเหลือหรือส่งเสริมได้บ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำองค์ความรู้ไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชน และเป็นต้นแบบสำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ศรภอ. เดิมคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศวภอ.) ซึ่งภายหลังได้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังกล่าว ส่วนโครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 13 ประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (SIDA) และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานด้วย อาทิ สำนักเลขาธิการสิ่งแวดล้อมประจำภูมิภาคเอเชีย (SENSA) และศูนย์ทรัพยากรระดับภูมิภาคแห่งเอเชียและแปซิฟิก (RRC.AP)
กำลังโหลดความคิดเห็น