xs
xsm
sm
md
lg

ฤาถึงคราที่รัฐต้องสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ปัญญา ไกรทัศน์
การท่องเที่ยวชุมชน นำสัมผัสวิถีการทำนาแบบขั้นบันไดที่บ้านแม่กลางหลวง เชียงใหม่
การท่องเที่ยวโดยชุมชน ( Community Based Tourism) ถือเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชน และชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน

ดังนั้น หลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะต้องมีชุมชนเป็นเจ้าของ ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ยกระดับคุณภาพชีวิต มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนและท้องถิ่น และมีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าไปทำหน้าที่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดมหกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งสิ่งที่แกนนำท่องเที่ยวชุมชน อยากจะเห็นภาครัฐ เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน เริ่มนับจากการเตรียมความพร้อมชุมชน เช่น การสร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึก สร้างเป้าหมายร่วม กำหนดอนาคตของตนเองว่า ชุมชนอยากจะเป็นอะไร

นอกจากนี้ยังต้องการให้พัฒนาศักยภาพชุมชนตามบริบทของพื้นที่ ทั้งอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สร้าง พัฒนากิจกรรมและจุดขายที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของชุมชน พัฒนาวิทยากร ผู้นำท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อให้ข้อมูลให้กับคนภายนอกได้เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน
 นอนโฮมสเตย์สัมผัสการท่องเที่ยวชุมชนกลางทะเลสาบสงขลาที่เกาะยอ
ไม่เพียงเท่านั้นเครือข่ายองค์กรชุมชน 5 ภาค ยังเสนอบทบาทการหนุนเสริมของท้องถิ่น ประชาสังคม จังหวัดและภาคีอื่น ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดเวที การรวมกลุ่มของชุมชน เชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภายนอก และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ การรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน ยกตัวอย่าง เช่น

สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จัดการแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนที่จัดการท่องเที่ยว และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็ปไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อขยายตลาดท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งจัดมหกรรมการท่องเที่ยวระดับจังหวัด ภาคและประเทศ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่ การหนุนเสริมองค์กรชุมชน การรวมกลุ่มและการจัดกระบวนการเรียนรู้จัดการท่องเที่ยว การศึกษาดูงานในพื้นที่หรือชุมชนที่ประสบความสำเร็จ และปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการหนุนเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

สถาบันการศึกษา จะต้องสนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการ สถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชน หนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่นการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสนับสนุนที่ปรึกษาด้านวิชาการ ให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมาย ข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรชุมชน 5 ภาค ยังตั้งความหวังให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน และเรื่องอื่นๆ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากร ฯลฯ โดยพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน ซึ่งชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวชุมชน ควรบรรจุหลักสูตรเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในโรงเรียนประถม/มัธยมในพื้นที่ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความตระหนักในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว มีหลักสูตรที่คิดโดยคนในท้องถิ่น เป็นการจัดการวิถีเกษตรธรรมชาติ ซึ่งทุกพื้นที่ควรมีการผลักดันเรื่องนี้
วิถีแห่งอาชีพดั้งเดิม อีกหนึ่งจุดเด่นของการท่องเที่ยวชุมชน ที่บางแม่หม้าย สุพรรณ
อีกทั้งต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนชุดองค์ความรู้ ประสบการณ์การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ โดยการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วม อีกทั้งต้องการให้แต่ละจังหวัดหันมาพัฒนาคน ฝึกอบรม ให้องค์ความรู้เพิ่มเติม ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีให้แก่ชุมชนเพื่อการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การหาข้อมูลที่จำเป็น เช่น การใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อกับผู้ที่สนใจมาเที่ยวในชุมชน

ขณะที่ต้องการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เข้ามาสนับสนุนการตลาดและประชาสัมพันธ์ อีกทั้งจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจภายในจังหวัด พร้อมทั้งอยากจะเห็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ อยากจะให้กรมพัฒนาชุมชนจัดเวทีเรียนรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่เพื่อถอดแบบเรียน และอยากให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกิจกรรมที่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวชุมเช่นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 การท่องเที่ยวชุมชนสัมผัสวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวคลองร้อยสาย สุราษฎร์ฯ
นอกจากนี้แกนนำองค์กรเครือข่ายชุมชน 5 ภาคยังอยากเห็นการสนับสนุนของส่วนกลางและทางนโยบาย อาทิ รัฐบาลต้องประกาศ เรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ มีแผน นโยบายในการดำเนินงานในระยะยาวที่ชัดเจน โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะให้คณะทำงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมเข้ามาเป็นกลไกร่วมตั้งอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานภาคปฏิบัติ ต้องการเห็นส่วนกลางออกกฎกระทรวง แก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยไม่ทันต่อเหตุการณ์ ที่เป็นอุปสรรคต่อชุมชนในการดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น การใช้ประโยชน์จากพื้นที่อุทยานกับการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งส่วนกลางควรมีหน่วยประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีข้อขัดแย้งในพื้นที่ กรณีการจัดการทรัพยากร เช่น ป่าไม้ ชายฝั่ง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบวิธีการใช้งบประมาณที่สามารถสนับสนุนโดยตรงให้กับชุมชน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชุมชนกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการประสานความร่วมมือการท่องเที่ยวชุมชน

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีนโยบายเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นหลักสูตรหนึ่งของท้องถิ่น ภายในปี 2553 และควรสนับสนุนงบประมาณสำหรับการศึกษาดูงานของชุมชน โดยเน้นการศึกษาดูงานภายในประเทศที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน แทนที่จะให้งบประมาณเพื่อศึกษาดูงานในต่างประเทศที่มีบริบทที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หน่วยงานกลางด้านการเกษตร ท่องเที่ยว วัฒนธรรมอื่นๆ ควรร่วมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนก่อน แล้วค่อยลงมาในระดับปฏิบัติ

ระบบการประชาสัมพันธ์และการตลาด ควรสร้างเว็ปไซต์การท่องเที่ยวชุมชน ให้มีศูนย์ข้อมูลชุมชน 1 อำเภอ 1 ศูนย์ รวมถึงรายการ ทีวีด้านการท่องเที่ยวชุมชน รายการวิทยุท่องเที่ยวชุมชน
บ้านเมืองปอน แม่ฮ่องสอน ดึงเด็กๆมาเป็นส่วนร่วมในการท่องเที่ยวชุมชน
จากภายใต้กรอบข้อเสนอแนวคิดของเครือข่ายองค์กรชุมชน 5 ภาคและเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันระดมความคิดเห็นและแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามย่อมสะท้อนความนัยของความกระตือรือร้นในการอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น

และนี่คือบททดสอบบริบทแห่งการเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรชุมชนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ย่อมหาได้ขึ้นแต่เพียงงบประมาณอย่างเดียวไม่ หากจะต้องเหลียวกลับไปมองหน่วยงานหลักด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยว่า มีความพร้อมเพียงใดต่อเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น