“ม.ล.วัลย์วิภา” นำทีมยื่นหนังสือ “มาร์ค” ให้เพิกถอนมติอัปยศ 28 ต.ค.51 ซึ่งเสี่ยงเป็นข้อผูกมัดว่าไทยรับแผนที่ 1:200,000 ของกัมพูชา ทำให้เสียดินแดนมหาศาล ทนายชี้ มติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีผลแบ่งแยกราชอาณาจักรชัดเจน หาก ส.ส.นำเข้าประชุมวาระต่อไป เท่ากับปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย
จากที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยหลักฐานต่อ “ASTVผู้จัดการรายวัน”ถึงเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ที่จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ในสมัยที่นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เป็นเอกสาร “กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ”
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยสอดแทรกแผนที่ฉบับ 1:200,000 ของกัมพูชาเป็นเอกสารในการประชุม ซึ่งได้มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาฯ ด้วยคะแนนเสียง 409 เสียงต่อ 7 เสียง ซึ่ง ม.ล.วัลย์วิภา ระบุว่า กัมพูชาอาจใช้เป็นข้ออ้างว่า ประเทศไทยยอมรับแผนที่ฉบับ 1:200,000 และนำมาสู่การเสียดินแดนจำนวนมหาศาล
**10 โมงยื่นหนังสือนายกฯถอนมติอัปยศ
วานนี้ (11 ต.ค.) ม.ล.วัลย์วิภา เปิดเผยว่า มติที่ผ่านจากที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ถือว่าเป็นการทำเกินอำนาจอธิปไตยของประชาชน เพราะอาจเป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนให้กับกัมพูชา ดังนั้น ในเวลา 10.00 น.วันนี้ (12 ต.ค.) ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ยกเลิกเพิกถอนมติดังกล่าว เพื่อไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาในกระบวนการต่อไป
“ขอย้ำอีกทีว่า ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้ เพราะเรายึดหลักสันปันน้ำ เป็นหลักเขตแดนของประเทศไทย การใช้แผนที่ 1:200,000 เป็นเอกสารกรอบการเจรจา จะทำให้เราสุ่มเสี่ยงต่อการต้องเสียดินแดน เป็นลักษณะเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ หรือ ปปช.ชี้มูลว่าการทำเอกสารความร่วมมือ หรือ Joint Communique ที่ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะอาจทำให้ไทยเสียดินแดน”
ม.ล.วัลย์วิภา กลาวอีกว่า ขอเรียกร้องรัฐบาลว่า อย่ากีดกันการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย ส่วนผู้ที่โจมตีว่าการเคลื่อนไหวเรื่องเขาพระวิหารเป็นเรื่องชาตินิยมนั้น สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องการจัดการความรู้ จึงเกิดความสับสนวุ่นวาย และประณามกัน ซึ่งผู้มีอำนาจควรลุกขึ้นมาพูดความจริง เพราะสิ่งที่ออกมาพูดในวันนี้ล้วนเป็นข้อมูลใหม่ที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องเสียอธิปไตยเพิ่มเติม ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องปราสาทเขาพระวิหารคืนมา
**ส.ส.เสี่ยงปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ
ด้าน นายวีรา ชัยฤทธิ์ไชย ทนายความ ซึ่งจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ ด้วยนั้น กล่าวว่า มติที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ถือเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 เนื่องจากมีผลต่อการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน นอกจากนี้มติดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจำนวนมาก แต่ประชาชนไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเลย ทั้งที่ควรมีการจัดทำร่างมติให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันก่อน
“เมื่อมติที่ประชุมสภาฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การผลักดันให้มติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่การประชุมวาระต่อไป ก็ต้องถือว่าสมาชิกสภาฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วย ดังนั้น จึงควรเพิกถอนมติดังกล่าวเสีย” นายวีรา กล่าว