xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยมูลค่าป่าชุมชนบ้านดง “ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด เรียนรู้วิถีคนกับป่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพผืนป่าที่เริ่มคืนความอุดมสมบูรณ์
การจัดการป่าเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดในรูป “ป่าชุมชน” ซึ่งขยายกว้างออกไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อทัดทานกระแสบุกรุกทำลายป่า มาถึงวันนี้ ป่าชุมชนสามารถสร้างรายได้ สร้างคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คน ดังกรณี “ป่าชุมชนบ้านดง” อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ที่ทีมนักวิจัยชุมชนสำรวจวิจัย เก็บเกี่ยวข้อมูลและประสบการณ์นำมาถ่ายทอดสู่กันฟัง


สมบูรณ์ สังข์เครือยู นายก อบต. บ้านดง เท้าความหลังครั้งประวัติศาสตร์ถึงเรื่องปรัมปราที่ได้ฟังมาแต่เด็ก ว่า ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก่อตั้งมาประมาณ 268 ปี โดยผู้มาคนแรกอพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ของประเทศลาว ในช่วงสมัยที่นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพในสมัยกรุงศรีอยุธยาตีแตก จนหนีมาตั้งรกรากที่บ้านดง เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์

ต่อมามีชาวบ้านอพยพมาจากหลายๆ จังหวัด ทำให้กลายเป็นหมู่บ้านไปในที่สุด และสาเหตุที่ตั้งชื่อว่า “บ้านดง” เพราะในสมัยก่อนเป็นป่าดงดิบมีต้นไม้ขนาดใหญ่ สภาพมีภูเขาล้อมรอบ มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอย่างชุกชุม การคมนาคมสัญจรไปมาต้องใช้การเดินด้วยเท้า

ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนกับป่าถูกผูกโยงเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่มากขึ้นเป็นลำดับ คนอยู่ป่าได้เปลี่ยนมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อส่งออก มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น ขณะเดียวกัน วิถีการดำเนินชีวิตในแบบคนเมืองก็เข้ามาเกี่ยวพันและส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีภาวะผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกที่คาดเดาได้ยาก

“วิถีคนกับป่า” จะปรับตัวได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นโจทย์ใหญ่ที่ชุมชนบ้านดงต้องเผชิญหน้าและแสวงหาคำตอบร่วมกัน

สมบูรณ์ เล่าต่อว่า ขบวนการบุกรุกพื้นที่ป่า มีการซื้อขายที่ดินในเขตพื้นที่ป่าสงวนมีมากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชน ทางหน่วยงานราชการจึงได้กันเขตที่ดินออกจากป่าอนุรักษ์ ต่อมา ทางกลุ่มผู้นำได้ตระหนักถึงการลดปริมาณของป่าจึงคิดทำเรื่องป่าชุมชนของหมู่บ้าน ห้ามตัดไม้ แผ้วถางป่า รวมพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยเพิ่มพื้นที่ป่าโดยเฉพาะ 60 ไร่ นอกนั้นเป็นพื้นที่ทำไร่ ทำสวน ของชาวบ้าน

กระทั่งปี 2538 ตำบลบ้านดงได้มีการริเริ่มโครงการอนุรักษ์ป่าในชุมชน โดยได้ร่วมโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน คนในชุมชนได้รับการเสริมสร้างกระบวนการเกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม การอบรมให้ความรู้ให้คนรักป่าไม้ และจัดให้มีการปลูกป่าทดแทนป่าที่เสื่อมโทรม ปรับปรุงรั้วบ้านให้เป็นรั้วผักกินได้ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้ ขยายเครือข่ายและอนุรักษ์ป่าชุมชนจนมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เกือบ 10,000 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โดยความร่วมมือกับทุกหน่วยงานปลูกป่าเพิ่มเติมกว่า 10,400 ไร่ โครงการปลูกป่าไม้เศรษฐกิจเฉลิมพระเกียรติของรัฐบาล จำนวน 50 ไร่ โครงการป่ารักษ์น้ำของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 199 ไร่ ป่าเลี้ยงสัตว์ 100 ไร่ ป่าไม้ใช้สอย 200 ไร่ และป่าอนุรักษ์ 1,651 ไร่ โดยการนำขององค์กรราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า (รสทป.) ตำบลบ้านดง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน 7 หมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ป่าไม้จังหวัดพิษณุโลก

น้อยหน่า สายธำรง นักวิจัยชุมชนแห่งบ้านดง เล่าว่า ป่าชุมชนบ้านดงมีรูปแบบการจัดการป่า โดยการแบ่งพื้นที่สาธารณะ ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย และป่าสวนสมุนไพร ซึ่งรูปธรรมในการจัดการป่าให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมโดยแต่งตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน มีการออกกฎระเบียบในการดูแลป่า และมีกิจกรรมร่วมกันของชุมชนในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลรักษาป่า

จากการที่ชุมชนรวมตัวกันดูแลรักษาป่า ปลูกป่าเพิ่มเติม ส่งผลให้ป่าในชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารธรรมชาติ เมื่อชุมชนประกาศเขตอนุรักษ์และเขตป่าชุมชน ทำให้สัตว์ป่ามีการแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น

นี่คือ ภาพที่ค่อยๆ เกิดขึ้นกับชาวชุมชนตำบลบ้านดงในยุคแห่งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ และอาจเป็นคำอธิบายสำหรับคำถามของคำว่า ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด เรียนรู้วิถีคนกับป่า และเห็นเป็นมูลค่า คุณค่า ที่นำไปสู่การวิจัยป่าชุมชน

คะนึง วันวิเศษ นักวิจัยภาคเหนือ บอกว่า ตำบลบ้านดงมีกลุ่มนักวิจัยที่รวมกลุ่มกันจากทั้งหมด 16 หมู่บ้าน พยายามหาทางออกของปัญหาและพอป่าฟื้นคืนมาจึงพยายามสร้างทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้วิถีคนกับป่า ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด ที่จะเป็นหนทางสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชุมชน แรงบันดาลใจดังกล่าวทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นทีมวิจัย ซึ่งมีความต้องการค้นหารูปแบบการวิจัยป่าชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศว่า ทางออกจะเป็นเช่นไร? และจะนำผลวิจัยนี้ไปสร้างความเชื่อมั่นต่อคนกับป่าในการอนุรักษ์ป่าได้หรือไม่ อย่างไร?

ในช่วงแรกของการพัฒนาโจทย์วิจัย กลุ่มนักวิจัยได้เข้ามาทบทวนบทเรียนและภูมิปัญญาของชาวบ้านเมื่ออดีต ว่ามีการจัดการความรู้ได้อย่างไรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุบัน

จากการที่ทีมนักวิจัยไปลงพื้นที่สัมภาษณ์ครูภูมิปัญญา ชาวบ้านในหมู่บ้านและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ร่วมกัน พบว่า ในแต่ละครอบครัวเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมและทุกคนต่างไม่เคยรู้เลยว่าป่าที่เขาร่วมกันฟื้นมานั้นมีมูลค่ามหาศาล

การเข้าไปสำรวจของของนักวิจัยชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และผู้เกี่ยวข้อง ยังทำให้ทราบว่าในเขตป่าอนุรักษ์ของตำบลบ้านดงยังมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่-เล็ก เข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และพืช-ผัก ที่เป็นอาหารของมนุษย์อีก ทั้งสมุนไพรที่หายากก็พบหลายชนิดมากขึ้นกว่าเดิม ทางเจ้าหน้าที่ยังพบไม้ประดับพวกกล้วยไม้ป่า จันทน์ผา จันทร์แดง และประเภทเฟิร์นขึ้นตามลำห้วยในเขตป่าอนุรักษ์และป่าชุมชน

สาโรจน์ อุ่นเมือง นักวิจัยชุมชนแห่งบ้านนาซาน เล่าเสริมว่า ในส่วนของชาวบ้านภายหลังจากได้ทำการทำวิจัย และเก็บข้อมูลจากป่าพบว่าได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์ป่าอย่างมหาศาล เช่น ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรกรรม อากาศและสิ่งแวดล้อมดี มีอาหารและพืชผักตามธรรมชาติไว้กินตลอดปี เช่น ปลาน้ำจืด กบ เขียด ผักพื้นบ้าน หน่อไม้ เห็ดต่างๆ ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ต่อครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ทำให้ปัญหาครอบครัวแตกแยกลดลง

ที่สำคัญ ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการป่า คือ น้ำที่ได้จากการทำประปาภูเขา มูลค่าการเก็บหาผักป่า 336,800 บาทต่อปี เห็ดต่างๆ 297,200 บาทต่อฤดูกาล ผลผลิตจากไผ่ 1,434,800 บาทต่อปี และสัตว์ป่า เช่น ปลา หนูป่า หอย กุ้ง 1,340,000 ต่อปี คิดมูลค่ารวมจากป่า 4,000,000 กว่าบาทต่อปี นี่ยังไม่นับรวมขาจรที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าผืนนี้ที่ชาวตำบลบ้านดงได้ร่วมฟื้นกันมา

...................................

รายงานโดย ..... ประพันธ์ สีดำ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
แนวกันไฟใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
หน่อไผ่ผลผลิตจากป่าชุมชนที่มีมูลค่านับล้านบาทต่อปี
รอยยิ้มของทีมนักวิจัยชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น