xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านลุ่มน้ำสรอย-ต้นน้ำยมรุมค้านสัมปทานเหมืองเหล็กแพร่-คว่ำเวทีฟังความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีสัมปทานสำรวจแร่ลุ่มน้ำสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ต้องล้มเลิกก่อนได้ข้อสรุป หลังชาวบ้านกว่า 500 คนที่เข้าร่วมต่างไม่เห็นด้วยที่จะมีการให้สัมปทานทำเหมืองแก่นายทุน
แพร่ - ชาวบ้านลุ่มน้ำสรอย-ต้นน้ำยม รวมตัวคว่ำเวทีรับฟังความคิดเห็นสัมปทานเหมืองเหล็กเมืองแพร่ เชื่อกระทบป่าต้นน้ำ-ระบบนิเวศ ในอนาคต แม้ จนท.รัฐ-ตัวแทนบริษัทพยายามโน้มน้าวเต็มที่แต่ไร้ผล

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า นายชัชพงษ์ เอมสุวรรณ นายอำเภอวังชิ้น จ.แพร่ เปิดประธานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนในการขออนุญาตประทานบัตรสำรวจแร่เหล็ก ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่สรอย บ้านม่วงคำ ต.สรอย อ.สรอย จ.แพร่ จำนวน 1,000 ไร่ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม อบต.สะหรอย โดยมีตัวแทนหน่วยราชการ อาทิ ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ สาธารณสุขอำเภอ วัฒนธรรมอำเภอ พัฒนาชุมชนอำเภอ ผกก.สภ.วังชิ้น และป่าไม้ รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้เชิญนายสุริยะ ศรีตุลานุกูล ตัวแทนบริษัท ณภัทรไมนิ่ง จำกัด กลุ่มทุนที่ขอสัมปทาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่และเยาวชนรวม 500 คนเข้าร่วมเวที

การเปิดระดมความคิดเห็นด้วยการทำความเข้าใจขั้นตอนของกฎหมายในการขออนุญาต และนายสุริยะ ศรีตุลานุกูล ตัวแทนผู้ประกอบการได้กล่าวถึงการขออนุญาตเป็นเพียงเพื่อเข้าไปสำรวจเท่านั้น ยังไม่มีการทำเหมือง ถ้าพบว่าไม่คุ้มทุนก็ไม่ดำเนินการ แต่ถ้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ ก็จะดำเนินการต่อในขั้นขอประทานบัตรต่อไป ซึ่งการสำรวจไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเพียง เจาะรูลงไปในพื้นดินกว้าง 3 นิ้วเท่านั้น ไม่มีการขนแร่ออกจนกว่าจะได้รับสัมปทานถูกต้อง

หลังจากนั้นประชาชนได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น ผลปรากฏว่า ประชาชนที่เข้าร่วมทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการให้สัมปทานสำรวจแร่เหล็กตามที่ บริษัทณภัทรไมนิ่ง จำกัด ร้องขอ โดยชาวบ้านพยายามให้เหตุผลในการอยู่ในชุมชนอย่างปลอดภัยไม่มีมลภาวะ และเสนอการดูแลรักษาป่า-ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยชาวบ้าน เพราะต้องการอยู่ในชุมชนดั้งเดิมด้วยความปลอดภัยมีสุขภาพที่ดีมากกว่าการให้สัมปทานเหมือง แล้วส่งผลถึงมลภาวะในอนาคตซึ่งจะไม่มีทางแก้ได้

กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นยืนยันว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการสำรวจ หรือทำเหมืองแร่ใดๆ ทางราชการก็ไม่จำเป็นต้องสอบถามผู้ประกอบการว่า จะทำหรือไม่ทำอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เข้ามาจัดเวทีรับฟังพยายามโน้มน้าวชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและพากันเดินออกนอกห้องประชุมก่อนที่จะได้ข้อสรุป

พระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขอทำเหมือง และแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ภาครัฐยังพยายามให้มีการทำเหมืองต่อไป ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง กรณีที่ชาวบ้านใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมิได้ขัดขวางความเจริญของประเทศ แต่เป็นการมองไกลถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยลุ่มน้ำสรอย เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำยม ชุมชนมองเห็นการฟื้นฟูแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสภาวะโลกร้อน จึงไม่ต้องการให้กลุ่มทุนเข้ามาทำลายต้นน้ำโดยการเปิดหน้าดินทำเหมือง

นายเกียรติ คำน้อย ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง ชาวกะเหรี่ยง (โพล่) ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านเลือกการอยู่อาศัยกับลุ่มน้ำ กับป่าไม้ เพราะการอยู่กับธรรมชาติไม่ต้องใช้เงินมาก สามารถยังชีพได้เพราะป่ามีอาหารนานาชนิดสามารถยังชีพได้เป็นอย่างดี การทำเหมืองอาจทำให้ประชาชนเพียงกลุ่มเล็กๆ ได้มีงานทำ แต่ระยะหนึ่งก็หมดไปทิ้งพื้นที่ลุ่มน้ำให้เสื่อมโทรม

นายเอนก นาคะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ท้องถิ่น กล่าวว่า ขณะนี้ทุนกำลังรุกเข้าไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศ และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ ชุมชนจำเป็นที่ต้องออกมาปกป้องดูแล แต่ปัญหาใหญ่คือการปกป้องของชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างพันธมิตรหาแนวร่วมสู้กับทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะทำอย่างไรให้คนในลุ่มน้ำสรอย สื่อให้คนในลุ่มน้ำยมและคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เห็นปัญหาและเห็นประโยชน์จากการต่อสู้ของคนต้นน้ำ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะไม่สามารถสู้กับกลุ่มทุนได้เลย ฉะนั้นการให้ข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นยังไม่พอต้องใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ในการเผยแพร่ข่าวสารให้ท้องถิ่นอื่นได้รับทราบ

กำลังโหลดความคิดเห็น