xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่นสอบ “วิชาญ” มีชื่อนั่งอนุกรรมการ สกว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ส.ว.จอมแฉ ยื่นประธาน กกต.ตรวจสมาชิกภาพเพื่อ ส.ว.สรรหา “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” ชี้อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 เพราะเคยมีตำแหน่งเป็นอนุกรรมการของ สกว. ด้าน “วิชาญ” ท้าให้ตรวจสอบ แต่สงสัยทำไมถึงออกมาช้า เชื่อเกมการเมืองอยู่เบื้องหลัง เชื่อมโยงหลังจากหนังสือวุฒิสภาล่มแจกจ่ายเผยแพร่ต่อสาธารณชน

วันนี้ (21 ธ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถือประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา มีรายชื่อเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดทำนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อันเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักฐานตามสำเนาเอกสารการสัมมนาของคณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล สกว. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 หัวข้อ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อวงกรอบการดำเนินงานการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในเอกสารข้อที่ 6 ซึ่งกล่าวถึงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดทำนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล ที่มี รศ.ดร.พิพัฒน์ ตั้งสืบกุล เป็นประธานอนุกรรมการนั้น ปรากฏว่า มีชื่อของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง อยู่ในลำดับที่ 7 คือ นายวิชาญ เป็นอนุกรรมการอยู่ด้วย

นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 265 (1) ที่บัญญัติว่า ส.ว.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งนายวิชาญ เป็น ส.ว.สรรหาภาควิชาชีพ ที่ กกต.ประกาศผลการสรรหาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 จึงถือว่า นายวิชาญ มีสมาชิกภาพของ ส.ว.มาตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 (5) บัญญัติว่า สมาชิกภาพของ ส.ว.สิ้นสุดลง เมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 116 มาตรา 265 หรือมาตรา 266

“กรณีจึงอาจถือได้ว่า การที่นายวิชาญที่มีสถานภาพเป็น ส.ว.แล้วไปมีตำแหน่งเป็นอนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายที่ใช้อำนาจบริหารนั้น อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (1) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ว.ต้องสิ้นสุดลงตามความในมาตรา 119 (5) จึงขอให้ประธาน กกต.โปรดพิจารณาตรวจสอบ” นายเรืองไกรกล่าว

ด้าน นายวิชาญกล่าวว่า สมัยที่ตนเป็นอนุกรรมการดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่จากกฤษฎีกามาเป็นอนุกรรมการด้วย 1 คน และตนได้สอบถาม ซึ่งก็ได้รับเอกสารที่กฤษฎีกาเคยตีความในกรณีแบบนี้ว่า ไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 (1) เพราะการมาเป็นอนุกรรมการไม่เกี่ยวในรูปบุคคลที่เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียและมีอิทธิพลต่อการทำงานของใคร ทั้งนี้ กรณีของตนยังเป็นอนุกรรมการในแง่วิชาการ อย่างไรก็ดี เป็นสิทธิของเพื่อนสมาชิกที่จะตรวจสอบ และนายเรืองไกร ก็ตรวจสอบทุกคนอยู่แล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และตนไม่มีปัญหา

“แต่ผมสงสัยว่าทำไมถึงออกมาช้า สงสัยกลัวตกขบวน เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะเชื่อมโยงกับการที่ผมออกหนังสือเรื่อง “ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาและสภาฯล่มซ้ำซาก” แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะผมยังยืนยันว่า หนังสือดังกล่าว มีเจตนาให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนกลับมาทบทวนการทำงานอย่างอิสระ แต่บางคนไปจับแค่ปลายทางจึงมีการตีกลับมา” นายวิชาญกล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นกระบวนการจัดการผู้ที่ไม่ยอมทำตามหรือไม่ นายวิชาญกล่าวว่า ตนไม่มีปัญหากับการถูกตรวจสอบ และหากสุดท้ายต้องพ้นตำแหน่งก็ไม่เป็นไร แต่หลังจากที่ตนออกหนังสือนี้ก็มีการออกข่าวโจมตีตนมาตลอดว่า ตนขาดประชุมบ้าง มารอโหวตบ้าง แต่ข้อเท็จจริงไปตรวจสอบได้เลยว่า สมัยประชุมนี้ 25 ครั้ง ตนลาเพียง 2 ครั้ง และการโหวตเฉพาะการประชุมวุฒิสภาวันที่ 16 พฤศจิกายน ในคราวพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วาระ 2 และ 3 มีการโหวตทั้งหมด 12 ครั้ง ตนโหวต 12 ครั้ง ขาด 10 ครั้งซึ่งรวมทั้งการแสดงตนและโหวตลงคะแนน หรือประมาณ 5-6 มาตราเท่านั้น เพราะมีประชุมที่อาคารรัฐสภา 2 จึงเดินกลับมาห้องประชุมอาคารแรกไม่ทันไปบ้าง อย่างไรก็ดี ไม่เสียกำลังใจ และกำลังเขียนหนังสือเรื่องการดูงานของกรรมาธิการของ ส.ส.และ ส.ว. และปัญหากลไกรัฐสภาที่ไม่ทำงาน ซึ่งคิดว่าจะพยายามออกหนังสือให้ได้ทุกเดือน เพื่อเป็นประสบการณ์ให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนหันกลับมาช่วยกันแก้ไขการทำหน้าที่ของตนเองเพื่อให้สภาเป็นที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือเรื่อง “ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาและสภาฯล่มซ้ำซาก” ของนายวิชาญมีการแจกจ่ายสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเมื่อเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ภายในหนังสือมีส่วนที่โฟกัสไปถึงวุฒิสภาโดยตรงจากกรณี “วุฒิสภาองค์ประชุมครบ แต่มีคนอยากให้ประธานฯ ปิดประชุม” ซึ่งมุ่งตรงไปที่การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 52 ในคราวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วาระ 2 และ 3 ซึ่งมี ส.ว.ที่ใกล้ชิดกับ “เจ๊” ผู้มีภาพลักษณ์ดี และเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา ส.ว.ด้วย ทำให้ช่วงที่ผ่านมา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางในหมู่ ส.ว.ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น