xs
xsm
sm
md
lg

ไทยกำลังจะมีโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์แห่งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (ซ้าย) จับมือกับ ดร.สมชาย นิติกาญจนา กรรมการ บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด ในระหว่างพิธีลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด ที่จะดำเนินการเป็นโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศไทย (ภาพจาก สวทช.)
สวทช. จับมือภาคเอกชน ลงทุน 100 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์แห่งแรกในไทย เน้นใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ผลการวิจัยรับรอง สุกรโตเร็ว แข็งแรง อัตราแลกเนื้อสูงขึ้น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการเลี้ยงหมูขุนได้ 130 บาทต่อตัว คาดสามารถลดการนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์ได้ 200 ล้านบาทต่อปี พร้อมใช้โรงงานเป็นฐานวิจัยการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ชนิดใหม่ๆ ให้ภาคเอกชนที่สนใจ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามร่วมกับ กลุ่มนิติกาญจนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์และอาหารหมักชีวภาพแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พ.ย.52 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

นายสรพหล นิติกาญจนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ

"ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีนักวิจัยที่มีความสามารถ และมีจุลินทรีย์หลายชนิดที่ศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้ แต่ประเทศไทยยังช้ากว่าหลายประเทศในเรื่องของการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ ไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมเลย ขณะที่เกาหลีมีความหลากหลายของชนิดจุลินทรีย์มากกว่าไทย แต่มีโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมแล้วหลายแห่ง" นายสรพหล กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มนิติกาญจนาเป็นเอกชนที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกรและโรงงานผลิตอาหารสัตว์มาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งต้องนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ชีวภาพ จึงเกิดแนวคิดผลิตเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นใช้เองภายในประเทศ จึงได้ร่วมวิจัยกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ มจธ. เพื่อค้นหาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการใช้หมักอาหารสัตว์ชีวภาพ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงศึกษาการเลี้ยงสุกรด้วยอาหารสัตว์หมักชีวภาพดังกล่าว

หลังจากที่ 3 องค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมกันวิจัยจนได้สายพันธุ์จุลินทรีและเทคโนโลยีการผลิตระดับอุตสาหกรรมแล้ว จึงได้จัดตั้ง บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อผลิตอาหารสัตว์หมักชีวภาพโดยใช้เชื้อ บาซิลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ที่ได้จากการวิจัยมาเป็นหัวเชื้อตั้งต้นในการผลิต โดยมีกำลังการผลิต 4 ตันต่อเดือน

เมื่อดำเนินการมาได้ 2 ปี บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด มีความต้องการที่จะขยายโรงงานให้มีกำลังการผลิตสูงขึ้น และ สวทช. เล็งเห็นศักยภาพในการตั้งเป็นโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย จึงร่วมลงทุนด้วยกันด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมี สวทช. ร่วมลงทุน 49 ล้านบาท, กลุ่มนิติกาญจนา 49 ล้านบาท และ กลุ่มนักวิจัย มจธ. 2 ล้านบาท

ขณะนี้โรงงานกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างใน จ.ราชบุรี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตเชื้อจุลินทรีย์และอาหารสัตว์หมักชีวภาพได้ในราวกลางปี 2553 โดยมีกำลังการผลิต 1,000 ตันต่อเดือน และคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์ได้ประมาณ 20% หรือประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ผลจากการทดลองเลี้ยงสุกรด้วยอาหารสัตว์หมักชีวภาพที่มีส่วนผสมของเชื้อ บาซิลัส ซับทิลิส พบว่าอัตราการตายของลูกสุกรต่ำลง มีอัตราการแลกเนื้อสูงขึ้น สุกรโตเร็ว สุขภาพ ทั้งนี้เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก ช่วยทำลายเชื้อ อีโคไล (E. coli) และ ซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงในสุกร ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้ และยังมีเอ็นไซม์หลายชนิดที่ช่วยให้สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น มีแร่ธาตุและสารอาหารหลายชนิดที่สัตว์สามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตสุกรขุนได้ราว 130 บาทต่อตัว

นายสรพหลบอกกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า โรงงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะดำเนินการ 2 ส่วนหลัก คือ ผลิตเชื้อจุลินทรีย์และอาหารสัตว์หมักชีวภาพสำหรับใช้ในการปศุสัตว์ โดยใช้เชื้อ บาซิลัส ซับทิลิส เป็นหัวเชื้อตั้งต้น และอีกส่วนคือศึกษาวิจัยการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) รวมทั้งยีสต์และเชื้อราด้วย ทั้งการวิจัยภายใต้บริษัทเอง และวิจัยให้กับเอกชนรายอื่นที่สนใจ

"ที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายที่สนใจจะผลิตเชื้อจุลินทรีย์ใช้เองในระดับอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยมีโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมมาก่อน ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่สามารถทำการวิจัยหรือทดลองผลิตเชื้อในระดับอุตสาหกรรมที่ไหนได้ แต่หลังจากนี้ บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ให้กับเอกชนที่สนใจได้ ก่อนที่เขาจะไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานเองต่อไป" นายสรพหล กล่าว

นอกจากผลิตเชื้อจุลินทรีย์สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด มีแผนที่จะขยายสู่งการผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการเกษตรด้วย เช่น ปุ๋ยชีวภาพ แต่ในส่วนของการผลิตเชื้อจุลินทรีย์สำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและยาสำหรับมนุษย์ ทางบริษัทคงยังไม่ดำเนินการในเร็วๆ นี้ แต่อาจเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งจะต้องให้บริษัทเป็นที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากในระดับหนึ่ง รวมถึงต้องพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐานสำหรับการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่จะใช้กับคนได้อย่างปลอดภัยด้วย.
ตัวแทนจากกลุ่มนิติกาญจนา, สวทช. และ มจธ. ร่วมลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด (ภาพจาก สวทช.)
นายสรพหล นิติกาญจนา (ภาพจาก สวทช.)
เชื้อจุลินทรีย์ (ซ้าย) และหัวเชื้อจุลินทรีย์สำหรับผสมในอาหารสัตว์ (ขวา) ที่ผลิตโดย บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด (ภาพจาก สวทช.)
หัวเชื้อจุลินทรีย์สำหรับผสมในอาหารสัตว์ (ภาพจาก สวทช.)
ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์สำหรับผสมในอาหารสัตว์ที่ผลิตโดย บริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด (ภาพจาก สวทช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น