xs
xsm
sm
md
lg

ขี้เลื่อยจากไม้เหลือทิ้งทำด้ามไม้ปิงปอง-เสริมความแกร่งให้โต๊ะกล่องนม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพประกอบจาก www.ukschoolgames.com)
ทีมนักศึกษา มจธ. แก้ปัญหาเศษไม้เหลือทิ้งในอุตสาหกรรมทำไม้ปิงปอง นำมาบดเป็นขี้เลี่อย แล้วอัดขึ้นรูปใหม่ใช้ทำด้ามไม้ปิงปองได้ หรือนำไปผสมเศษกล่องนมทำโต๊ะนักเรียนแข็งแรงขึ้น 30% ขยายช่องทางเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้ง และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

น.ส.กนกกาญจน์ พูลไชย, น.ส.กรรณิการ์ อนุพงศ์ และ น.ส.สราลี จันดารศรี นักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาการทำด้ามไม้ปิงปองจากเศษขี้เลื่อยไม้เหลือทิ้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศษไม้เหลือทิ้งจำนวนมากจากโรงงานผลิตไม้ปิงปองของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บิ๊กแมนสปอร์ต โดยมี ผศ.ดร.ปานจันทร์ ศรีจรูญ และ ดร.จินดารัตน์ พิมพ์สมาน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยเรื่องดังกล่าว

ผศ.ดร.ปานจันทร์ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าการศึกษาการทำด้ามไม้ปิงปองจากเศษขี้เลื่อยไม้เหลือทิ้ง เป็นงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาตรี ในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสะอาด ประจำปี 2551 ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม

"หลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้เข้าร่วมฝึกงานที่โรงงานผลิตไม้ปิงปองของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บิ๊กแมนสปอร์ต พบว่าโรงงานมีปัญหากับการจัดการของเสียจำพวกเศษไม้และเศษขี้เลื่อยที่เหลือทิ้งจากการทำไม้ปิงปองเป็นจำนวนมากถึง 30% ของวัตถุดิบไม้ที่ใช้ ทั้งไม้ยางพารา ไม้ฉำฉา และไม้อัด จึงนำเศษไม้เหล่านี้มาศึกษาสำหรับใช้เป็นวัตถุทำด้ามไม้ปิงปอง" ผศ.ดร.ปานจันทร์ เผยที่มาของงานวิจัย

ทีมวิจัยนำเศษไม้ดังกล่าวมาบดเป็นขี้เลื่อยแล้วร่อนด้วยตะแกรงร่อนขนาดต่างๆ เพื่อคัดขนาดขี้เลื่อยที่ได้ แล้วผสมขี้เลื่อยกับกาวชนิดต่างๆ ในปริมาณแตกต่างกัน ได้แก่ กาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์, กาวเมลามีน-ฟอร์มัลดีไฮด์, กาวฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์ และกาวไอโซไซยาเนต จากนั้นนำไปอัดขึ้นรูปด้วยเครื่องกดอัดแบบให้ความร้อน โดยทดลองที่อุณหภูมิและเวลาการกดอัดต่างๆ แล้วนำด้ามไม้ปิงปองที่ได้ไปทดสอบคุณสมบัติต่างๆ

ผลการทดลองปรากฏว่า ด้ามไม้ปิงปองจากขี้เลื่อยขนาด 425-600 ไมโครเมตร มีคุณสมบัติดีกว่าใช้ขี้เลื่อยขนาด 300-425 ไมโครเมตร โดยที่กาวฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์ และกาวไอโซไซยาเนต ทำให้ด้ามไม้ปิงปองมีความแข็งใกล้เคียงกัน และมากกว่ากาวอีก 2 ชนิด แต่กาวฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์ ทำให้ด้ามไม้ปิงปองมีสีสันใกล้เคียงกับด้ามไม้ปิงปองทั่วไป ขณะที่กาวไอโซไซยาเนตทำให้ด้ามไม้ปิงปองมีสีเทาขุ่น ไม่สวยงามเท่า ดังนั้นกาวฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้มากกว่า และยังมีราคาถูกกว่าด้วย

อย่างไรก็ดี ความแข็งแรงของด้ามไม้ปิงปองที่ดังกล่าวยังต่ำกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากจะนำวิธีการนี้ไปใช้จริงในระดับอุตสหกรรม จะต้องวิจัยและพัฒนาต่อไปอีก เพื่อด้ามไม้ปิงปองจากเศษไม้เหลือทิ้งที่มีความแข็งแรงเท่าหรือใกล้เคียงกับด้ามไม้ปิงปองทั่วไปที่ได้มาตรฐาน และมีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ศึกษาการนำขี้เลื่อยจากเศษไม้จากการผลิตไม้ปิงปองไปทดลองผสมกับเศษกล่องนม สำหรับการทำแผ่นประกอบหรือโต๊ะนักเรียนจากเศษกล่องนม พบว่าเมื่อผสมขี้เลื่อยเข้าไปด้วยในอัตราส่วน 40% สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับโต๊ะจากเศษกล่องนมราว 30-40% ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำเศษไม้ที่เหลือทิ้งจากโรงงานไม้ปิงปองไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากเศษกล่องนมและขี้เลื่อยได้หลากหลายประเภท ช่วยเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.ปานจันทร์ ศรีจรูญ (ซ้าย) และ ดร.จินดารัตน์ พิมพ์สมาน
กำลังโหลดความคิดเห็น