xs
xsm
sm
md
lg

มองหา "ฉลากประสิทธิภาพสูง" ต่อจากฉลากประหยัดไฟ "เบอร์ 5"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย ประมวล จันทร์พงษ์
เราทราบกันดีว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลาก "เบอร์ 5" คือสัญลักษณ์ของการประหยัดไฟฟ้า แต่ตอนนี้มีฉลากอีกประเภทที่ออกมาเป็นมาตรฐานเพื่อบ่งบอกการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำร่องในอุปกรณ์ไม่ใช้ไฟฟ้าแล้ว 4 ประเภท เตาแก๊ส อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ฉนวนกันความร้อนและกระจกอนุรักษ์พลังงาน

นายประมวล จันทร์พงษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า กระทรวงพลังงานมีฉลากประหยัดพลังงาน 2 แบบ คือ "ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5" ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และ "ฉลากประสิทธิภาพสูง" ที่ใช้สัญลักษณ์เลข 5 บอกประสิทธิภาพขั้นสูงของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การเกิดขึ้นของฉลากประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งนายประมวลกล่าวว่า กฟผ.ได้นำร่องฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ไปก่อนจนเป็นที่รู้จัก และขณะนี้ พพ.กำลังนำร่องโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับอุปกรณ์ไม่ใช้ไฟฟ้า 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนหรือเตาแก๊ส อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ฉนวนกันความร้อนและกระจกอนุรักษ์พลังงาน โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนำร่องในผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทประมาณ 10 กว่าราย และได้อนุมัติฉลากไปแล้ว 200,000 ฉลาก

เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องผู้ประกอบการที่ดำเนินการขอติดฉลาก จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทดสอบผลิตภัณฑ์ว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ แต่หลังจากปี 2552 แล้วจะมีผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งที่จะประกาศมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงผ่านกฎ กระทรวง ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการติดฉลากดังกล่าวให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทดสอบ โ

ทั้งนี้ ในการทดสอบนั้น พพ.ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการในการหาห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมในการทดสอบประสิทธิภาพการ ใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ขอติดฉลากประสิทธิภาพสูงต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการเหล่านั้น

นอกจากนี้ พพ.ยังได้ว่าจ้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งอนาคตยังจะได้เชิญสถาบันการศึกษาอื่นๆ เข้าร่วม อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

เมื่อถึงเดือน ก.ค.52 มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมประกาศประสิทธิภาพขั้นสูงตามกฎกระทรวงแล้ว 8 ผลิตภัณฑ์ และตามแผนดำเนินการถึงปี 2554 ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 54 ผลิตภัณฑ์

ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเตาแก๊สซึ่งเป็น 1 ในอุปกรณ์นำร่อง 4 ชนิด ตามที่ ผศ.บรรยงวุฒิ จุลละโพธิ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ได้แจกแจงไว้นั้น เตาแก๊สมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนขั้นสูงเริ่มต้นที่ 53% ซึ่งค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนยิ่งสูงแสดงว่าเตาแก๊สนั้นยิ่งให้ความร้อนได้ดี และจากการสำรวจได้ค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนเฉลี่ยของเตาแก๊สอยู่ที่ 49.8% เมื่อใช้เตาแก๊สที่ผ่านมาตรฐานประสิทธิภาพเชิงความร้อนขั้นสูง จะประหยัดเชื้อเพลิงได้ปีละ 6.488 กิโลกรัม

สำหรับฉลากประสิทธิภาพสูงนี้ ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ แต่เป็นมาตรฐานที่อาศัยความสมัครใจในการเข้าร่วม โดย ดร.สราวุธ เวชกิจ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดลกล่าวไว้ภายในงานสัมมนาเปิดตัว "ฉลากประสิทธิภาพสูง" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค.52 ณ โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ค ว่าผลจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า เมื่อมีฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานแล้ว ค่าเฉลี่ยของประสิทธิภาพพลังงานยกระดับขึ้นเรื่อยๆ

"ของไทยเห็นได้ ชัดในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งตั้งแต่มีเบอร์ 5 ตลาดก็พยายามยกระดับให้ผ่านเบอร์ 5 ตอนนี้เครื่องปรับอากาศแทบจะเป็นเบอร์ 5 ทั้งหมด ตัวที่ต่ำกว่าเบอร์ 5 หาได้ยากมาก หรือตู้เย็นจะเห็นแต่เบอร์ 5 จะไม่เห็นเบอร์ที่ต่ำกว่าเลย" ดร.สราวุธกล่าว

พร้อมกันนี้เขาได้ชี้แจงด้วยว่า ระยะเวลาในการขอติดฉลากนั้นใช้เวลาประมาณ 60 วัน ซึ่งเวลาส่วนใหญ่จะเสียเวลาไปกับการทดสอบ และการพิมพ์ฉลากซึ่งจะบอกค่า ประสิทธิภาพ และรหัสที่ไม่สามารถนำฉลากไปคัดลอกได้ สำหรับฉลากประสิทธิภาพสูงจะให้กับผลิตภัณฑ์เฉพาะรุ่นที่ผลิตในแต่ละครั้งเท่านั้น

ส่วนการทดสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะดำเนินไปตามมาตรฐานของการทดสอบผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น การทดสอบประสิทธิภาพเชิงความร้อนของเตาแก๊สจะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เลขที่ 2312-2549 (มอก. 2312-2549) เป็นต้น

สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์นำร่องติดฉลากประสิทธิภาพสูงนั้น ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีห้องปฏิบัติการทดสอบสมรรถนะของอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊ส และห้องปฏิบัติการทดสอบสมรรถนะมอเตอร์ไฟฟ้า 2.คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งรับทดสอบกระจกอนุรักษ์พลังงาน และ 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งรับทดสอบฉนวนกันความร้อน.
นาย ประมวล จันทร์พงษ์ กับตัวอย่างฉลากประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 ที่แสดงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขั้นสูง
ตัวอย่างฉลากประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 ที่แสดงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขั้นสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น