xs
xsm
sm
md
lg

วศ. เปิดเวทีให้ความรู้ "บรรจุภัณฑ์แบบไหน ควรใช้กับอาหารแบบใด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเทียน นิลดำ (ซ้ายสุด) รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการการเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ เชี่ยวชาญงานวิเคราะห์ : ภาชนะบรรจุอาหาร
บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องแข็งแรง ทนทาน ไม่แพร่กระจายสารตกค้าง และรักษาคุณภาพอาหารได้ แต่อาหารแบบไหนควรจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบใด วศ. ให้คำตอบได้ พร้อมแนะผู้บริโภคให้สังเกตสัญลักษณ์ มอก. บนบรรจุภัณฑ์ รับรองได้ว่าตรวจสอบแล้วปลอดภัย

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "กรมวิทยาศาสตร์บริการ เชี่ยวชาญงานวิเคราะห์ : ภาชนะบรรจุอาหาร" เมื่อวันที่ 14 พ.ค.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีนายวิเทียน นิลดำ รองประธานสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังเสวนาร่วมกับผู้สนใจอีกมากมาย

นางจินตนา ลีกิจวัฒนะ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม วศ. กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์ช่วยในการเก็บรักษาอาหารไม่ให้เสื่อมสภาพและสูญเสียคุณค่าทางอาหาร จากน้ำ ความชื้น แสง และอากาศ รวมทั้งใช้ห่อหุ้มสินค้าเพื่อความสะดวกในการลำเลียงหรือขนย้ายไปยังที่ต่างๆ และยังเป็นที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบและวิธีใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

"บรรจุภัณฑ์ที่ดี ต้องปลอดภัยจากสารพิษที่อาจแพร่กระจายมาสู่อาหารที่บรรจุอยู่ในนั้น และต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่เกิดการฉีกขาดหรือรั่วตั้งแต่การบรรจุสินค้าในโรงงานผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา จนมาถึงมือผู้บริโภค" นางจินตนากล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง เช่น ถุงบรรจุข้าวสารหรือน้ำตาลทราย คุณสมบัติของถุงพลาสติกที่ใช้ต้องต้านแรงดึงได้ เพื่อป้องกันการฉีกขาดหรือยืดขาดของถุงในระหว่างการขนส่ง หรือขวดบรรจุน้ำผลไม้ ขวดต้องแข็งแรง รับน้ำหนักของน้ำผลไม้ได้โดยไม่บุบ ป้องกันอากาศและไอน้ำจากภายนอกได้ดี มีฝาจุกปิดสนิท ขวดต้องใสและเห็นสีสันของน้ำผลไม้ชัดเจน

ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารทั้งที่เป็นถุงพลาสติก กระสอบพลาสติก รวมทั้งภาชนะบรรจุอาหาร ว่าจะต้องทดสอบคุณสมบัติทางฟิสิกส์ในเรื่องของความกว้าง ยาว หนา ความต้านแรงดึงสูงสุด ความยืด ความทนต่อแรงกระแทก ความแข็งแรงของตะเข็บ การรั่ว ความคงทนของการพิมพ์ และความทนที่อุณหภูมิสูง

แต่ละผลิตภัณฑ์ จะมีการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่ทุกผลิตภัณฑ์จะต้องทดสอบมิติ ความต้านแรงดึง การยืดตัว และความทนแรงกระแทก ซึ่งเป็นสมบัติพื้นฐานที่สำคัญที่จะบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความแข็งแรงและสามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด


นางจินตนาแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า การเลือกพลาสติกสำหรับทำบรรจุภัณฑ์นั้น ต้องพิจารณาว่าจะนำมาใช้งานในลักษณะใด เช่น หากนำมาใช้บรรจุขนมปังกรอบ ซึ่งจะเสื่อมคุณภาพได้ง่ายเมื่อได้รับความชื้นเพิ่มขึ้น พลาสติกที่จะนำมาใช้บรรจุจะต้องสามารถป้องกันไอน้ำจากอากาศภายนอกได้เป็นอย่างดี หรือการบรรจุข้าวเกรียบทอด พลาสติกที่ใช้บรรจุจะต้องป้องกันไอน้ำได้ดี และป้องกันก๊าซออกซิเจนได้ดีอีกด้วย เนื่องจากไอน้ำทำให้ข้าวเกรียบนิ่มง่าย ส่วนก๊าซออกซิเจนทำให้น้ำมันในข้าวเกรียบเหม็นหืน ไม่น่ารับประทาน

ด้านนางสุมาลี ทั่งพิทยกุล นักวิทยาศาสตร์ในโครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วศ. กล่าวอีกว่า วศ. มีการให้บริการทดสอบความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหาร และวัสดุที่ใช้สัมผัสอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งการทดสอบภาชนะพลาสติก กระป๋องบรรจุอาหาร แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก แผ่นเหล็กทินฟรี เป็นต้น

รวมทั้งการทดสอบเพื่อการส่งออกตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยจะมีการทดสอบตั้งแต่คุณภาพของเนื้อพลาสติกที่ใช้ว่าประกอบด้วยโลหะหนักหรือสารเติมแต่งใดบ้าง และทดสอบมาตรฐานการแพร่กระจายของสารเหล่านั้นสู่อาหารที่บรรจุว่าแพร่กระจายออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ในระยะเวลาเท่าไหร่ จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

"ยกตัวอย่างตัวอย่าง สารบิสฟีนอลเอ หรือ บีพีเอ (bisphenol A: BPA) เป็นสารที่ใช้ในการผลิตขวดนม ซึ่งประเทศแคนาดาได้มีการห้ามใช้ขวดนมที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวแล้ว และเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ห้ามใช้ เพราะมีข้อมูลว่าสารนี้อาจทำให้เด็กทารกเป็นหมันได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศพูดถึงกันมานานแล้วแต่ยังไม่มีประเทศไหนห้ามใช้ รวมทั้งไทยด้วย

แต่ขวดนมของประเทศไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและยังไม่มีการห้ามใช้ ซึ่งหากเราไม่ใช้พลาสติกที่มีบีพีเอผลิตขวดนม ก็สามารถใช้พลาสติกชนิดอื่นที่แข็งแรง ทนแรงกระแทก ทนความร้อนได้ดี และปลอดภัยกว่าทดแทนได้" นางสุมาลี กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ วศ. บอกเพิ่มเติมว่าผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าบรรจุภัณฑ์แบบใดผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน โดยดูได้จากตราสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามข้อกำหนดของ มอก. พร้อมแนะนำด้วยว่าบรรจุภัณฑ์ที่ระบุว่าใช้ครั้งเดียว ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 

นอกจากนี้ ดร.มาณพ สิทธิเดช นักวิทยาศาสตร์ในโครงการเคมี วศ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทดสอบการปนเปื้อนของภาชนะบรรจุเพื่อรองรับระเบียบของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) โดยเครื่องมือวิเคราะห์ชั้นสูง และการทดสอบสารต้องห้ามในชิ้นส่วนพลาสติกนั้น สหภาพยุโรปได้จัดทำระเบียบอาร์โอเอสเอช (RoSH) โดยได้จำกัดปริมาณสาร 6 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว, ปรอท, โครเมียม, สารประกอบโบรมีนในกลุ่มโพลีโบรมิเนตเทตไบฟินิล (PBBs) และสารประกอบกลุ่มโพลีโบรมิเนตเทตไดฟินิลอีเธอร์ (PBDEs) ในผลิตภัณฑ์ไว้ไม่เกิด 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และแคดเมียมต้องไม่เกิน 100 ppm

ทั้งนี้ วศ. มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์ในด้านต่างๆ แล้ว ยังเป็นแห่งแรกที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพลาสติไซเซอร์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตปะเก็นพลาสติกสำหรับใช้กับฝาโลหะของขวดแก้ว เพื่อให้ฝาขวดปิดสนิท ป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกได้ เช่น ฝาขวดน้ำพริกเผา ขวดซอส เป็นต้น โดยมีเอกชนมาใช้บริการแล้ว 10 ราย นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา.
นางสุมาลี ทั่งพิทยกุล (ซ้าย) และ นางจินตนา ลีกิจวัฒนะ
ดร.มาณพ สิทธิเดช
แก้วนับว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด แต่แตกง่าย จึงทำให้พลาสติกถูกเลือกใช้มากกว่า
บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ดีจะต้องผ่านการทดสอบมิติ ความต้านแรงดึง การยืดตัว และความทนแรงกระแทก
กำลังโหลดความคิดเห็น