xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ฟุ้งพักหนี้อุ้มเอสเอ็มอี 3 ปี ขยายวงเงินปล่อยกู้ 500 ลบ.ต่อราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
รมต.อุตฯ ชงพักชำระเงินต้นแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ที่ประสบปัญหา เป็นเวลา 3 ปี อีกทั้ง เร่งเสริมสภาพคล่องโดยผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ ขยายวงเงินสูงสุดจาก 100 ล้านเป็น 500 ล้านบาทต่อราย ตั้งเป้าภายใน Q3 เม็ดเงินเข้ากระตุ้นเสริมคล่องได้กว่า 6,000 ลบ. ขณะที่ สสว. จับมือ 5 หน่วยงาน สร้างฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อพิจารณาพักหนี้ และยืดอายุการชำระหนี้เงินต้นให้จ่ายเพียงดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ของเอสเอ็มอีแบงก์ โดยการหารือเบื้องต้น จะพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปี ส่วนรายละเอียดและหลักเกณฑ์ต่างๆ จะหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนเสนออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น โดยให้เอสเอ็มอีแบงก์ปรับหลักเกณฑ์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เช่น ผู้กู้ ในวงเงินตั้งแต่ 50,000 - 500,000 บาท ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ใช้บุคคลค้ำประกันเท่านั้น อีกทั้ง ขยายวงเงินปล่อยกู้จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย เพิ่มเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อราย เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบให้คนมีงานทำ วางเป้าหมายว่า ไตรมาส 3 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท

ด้านนายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าจะมีลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ เข้ารับสิทธิพิเศษการพักหนี้ ประมาณ 5,000 ราย แต่จากการหารือเบื้องต้น ประเมินว่า ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการจะมีจำนวนไม่มากเท่าที่วางเป้าไว้

สสว. ควงแขน 5 หน่วยงาน ดันฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ

ทั้งนี้ ในส่วนของ สสว. ได้ทำข้อตกลงร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อร่วมศูนย์ข้อมูล SMEs แห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล SMEs ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ด้านสถิติและการรายงานสถานการณ์ จำนวนวิสาหกิจ การจ้างงาน มูลค่า GDP การเตือนภัย และดัชนีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.ด้านปัจจัยเอื้อ เช่น ศูนย์กลางข้อมูลการสืบค้นผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ผลิตภัณฑ์และเครือข่าย และ 3.ด้านองค์ความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย เช่น ข้อมูลนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ การศึกษา และการทำธุรกิจแบบใหม่

นายภักดิ์ เผยว่า ที่ผ่านมา การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs หน่วยงานทั้งหลาย จะต่างคนต่างทำ บางครั้งเกิดปัญหางานซ้ำซ้อน ดังนั้น การบูรณาให้มีฐานข้อมูลเดียวกันจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว และสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ สามารถติดต่อมาได้โดยตรงที่ สสว.

“เชื่อว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง สสว. กับหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการฐานข้อมูล SMEs ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและบริการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติที่เป็นรูปธรรม มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ขึ้นเป็นครั้งแรก และจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาและส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ SMEs ก็มีแหล่งข้อมูล องค์ความรู้ ที่ช่วยให้ดำเนินกิจการบนฐานความรู้ สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเองทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่อไป” นายภักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น