xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม "ซากดึกดำบรรพ์ไทย" ครอบครองได้แต่ต้องขึ้นทะเบียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร กับฟอสซิลฟันช้างงาจอบที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
หลายคนอาจไม่ทราบว่า เราสามารถครอบครอง “ซากดึกดำบรรพ์” ได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อป้องกันซากฟอสซิลเหล่านั้น หลุดไปสู่ตลาดมืด ยกเว้นซากนั้นไม่สำคัญ หาง่าย พบได้ทั่วไป แต่หากมีความสำคัญยิ่ง ทางการจะซื้อคืนให้เป็นสมบัติของชาติ

จากการค้นซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญๆ ในเมืองไทยมากขึ้น แต่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง อนุกรักษ์และบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์ จึงได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ที่ประกาศใช้เมื่อ 8 ส.ค.51 ที่ผ่านมา เพื่ออนุรักษ์ไว้สำหรับการวิจัยสืบค้นความเป็นมาของประวัติโลก และเป็นมรดกธรรมชาติของแผ่นดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว

นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ อธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ตาม พ.ร.บ.นี้ผู้ที่มีซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบในไทยไว้ยังครอบครองต่อไปได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนภายในเวลา 1 ปีหลังประกาศใช้ ซึ่งการ พ.ร.บ.นี้ก็เนื่องจากปัจจุบัน มีการรลักลอบขุดซากดึกดำบรรพ์และขายกันในตลาดมืด ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรของชาติ

“ประโยชน์ของซากดึกดำบรรพ์ คือช่วยบอกสภาพแวดล้อมการเกิดซากดึกดำบรรพ์นั้น บอกอายุชั้นหิน และนำไปสู่การสำรวจทรัพยากรอื่นๆ เช่น เหมืองแร่ ถ่านหินและน้ำมัน เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์เอาไว้ และซากฯ จะมีคุณค่า เมื่อระบุตรงตำแหน่งนั้นที่มันอยู่ การขึ้นทะเบียนทำบัญชีว่าใครครอบครองนั้นเพื่อโปรโมทและทำให้ทราบว่าซากดึกดำบรรพ์มีคุณค่า สามารถจัดแสดงเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปได้” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งดูแลซากดึกดำบรรพ์ของชาติไว้กล่าว

ความสำคัญของซากดึกดำบรรพ์ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ซากดึกดำบรรพ์ทั่วไป ซากดึกดำบรรพ์สำคัญ และซากดึกดำบรรพ์ยิ่งยวด ซึ่งอย่างหลังนั้นนายนราเมศร์อธิบายว่า เป็นซากดำบรรพ์ที่มีความสำคัญที่หากขาดไปแล้วจะทำให้ข้อมูลทางธรณีวิทยาไม่สมบูรณ์ หากใครมีไว้ในครอบครองต้องขึ้นทะเบียนไว้ โดยที่สิทธิในการครอบครองยังเหมือนเดิม แต่รัฐก็อาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนเพื่อนำซากดึกดำบรรพ์มาเป็นสมบัติของชาติ

นอกจาก พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้กับผู้ครอบครองซากดึกบรรพ์แล้ว หากมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใน 7 วัน และทางกรมธรณีวิทยาจะเข้าไปตรวจภายใน 7 วัน หากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญก็จะขึ้นทะเบียนไว้ หากไม่สำคัญ คือเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ทั่วไป หาไม่ยากหรือไม่อาจระบุอายุได้ เช่น ซากดึกดำบรรพ์หอยที่พบได้ทั่วไปก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียน

พร้อมกันนี้เพื่อประกาศให้ทราบว่าไทยมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับซากดึกบรรพ์ ทางกรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดประกวดซากดึกดำบรรพ์และนำซากดึกดำบรรพ์ที่ได้รับรางวัลไปจัดแสดงภายในงาน "มหกรรมทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์" ระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย.52 ณ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี
 
การจัดประกวดซากดึกดำบรรพ์ 3 ประเภทคือ ซากดึกดำบรรพ์มีกระดูกสันหลัง ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และซากดึกดำบรรพ์พืช นายนราเมศวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลกล่าวว่า เกณฑ์ในการตัดสินรางวัลคือ 1.ความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ 2.ความสวยงาม และ 3.คุณค่าของซากดึกดำบรรพ์นั้น

สำหรับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “ซากดึกดำบรรพ์ฟันช้างจอบ” ของนายวิโรจน์ ข่ายสุวรรณ ส่วนซากดึกบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “ซากดึกดำบรรพ์นอติลอยด์” ของนายธรรมรัตน์ นุตะธีระ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา และซากดึกดำบรรพ์พืชที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “ซากดึกดำบรรพ์ใบไม้ของพืชใบเลี้ยงคู่” ของนายแผนกานต์ เพิ่มสุข จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ)

นายนราเมศวร์ได้อธิบายถึงการตัดสินบางรางวัลของซากดึกดำบรรพ์ว่า ในส่วนของฟันช้างจอบนั้น เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีความสวยงามและสามารถหาอายุได้ ซึ่งนับเป็นคุณค่าของซากดึกดำบรรพ์นี้ หรือซากดึดำบรรพ์ใบไม้ของพืชใบเลี้ยงคู่นั้น ได้รับรางวัลเพราะเป็นหลักฐานว่าบริเวณแม่เมาะ จ.ลำปางนั้นเคยเป็นบึงมาก่อน แล้วใบหล่นลงไปทับถมจนกลายเป็นซากดึกบรรพ์

อย่างไรก็ดีแม้ซากดึกดำบรรพ์บางอย่าง ไม่มีความสำคัญมากนักแต่นายวราเมศวร์ยืนยันว่า ซากดึกดำบรรพ์ทุกชิ้นมีความหมาย แต่มีความสำคัญที่แตกต่างกัน.
 ฟอสซิลฟันช้างงาจอบที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง
“ซากดึกดำบรรพ์ใบไม้ของพืชใบเลี้ยงคู่” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
(ซ้าย-ขวา) ฟอสซิลรอยพิมพ์ตะพายน้ำวงศ์ <I>ไธรโอนิชิเด (Thrionichidae) </I> จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) ที่ได้รับรางวัลชมเชย
ฟอสซิลงาช้างซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง
ซากดึกดำบรรพ์กรามล่างพร้อมฟันช้าง ซิกโกโลโฟดอน ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง
นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร (ขวา) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล
กำลังโหลดความคิดเห็น