xs
xsm
sm
md
lg

มีน้ำดื่ม 20,000 ปีใน "มหกรรมทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำดื่มจากน้บาดาลที่มีการสะสมอยู่ชั้นใต้ดินกรุงเทพฯ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20,000 ปี
น้ำดื่มดังกล่าวเป็นน้ำที่เดินทางยาวไกลจากชัยนาท สิงห์บุรีและอ่างทอง ไหลลงสู่ใต้ดิน เซาะซึมผ่านชั้นหินเป็นเวลากว่า 20,000 ปีกว่าจะกลายเป็นน้ำบาดาลที่ชั้นใต้ดินของกรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญชี้แม้ไม่ขุดเจาะขึ้นมาบริโภคน้ำโบราณนี้ก็ไหลลงสู่ทะเล

ทั้งนี้ภายในงาน "มหกรรมทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์" ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 7-13 พ.ย.52 ณ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี ได้แจกจ่ายน้ำดื่มที่ผลิตขึ้นโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จากแหล่งน้ำบาดาลใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งเป็นน้ำบาดาลอายุกว่า 20,000 ปี

ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า น้ำบาดาลซึ่งขุดในเขตกรุงเทพฯ ที่ความลึก 150 เมตรคือน้ำบาดาลที่มีอายุ 15,000-20,000 ปี และที่มีอายุมากเช่นนี้เนื่องจากมีเส้นทางที่ยาวไกล โดยต้นกำเนิดอยู่ที่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี และ จ.อ่างทอง ซึ่งน้ำได้ซึมผ่านผิวดินที่เป็นทรายลงสู่ใต้ดินในแนวดิน จากนั้นไหลเป็นแนวนอนลงสู่ทะเล และการสูบน้ำบาดาลจึงเป็นการดึงน้ำมาใช้ก่อนน้ำจะไหลทิ้งสู่ทะเล

“ในอดีตเมื่อหลายพันปีแล้ว น้ำทะเลขึ้นไปสูงถึงอยุธยา ทำให้เกิดการสะสมของโคลนตมตามป่าชายเลน ดังนั้นพื้นที่จากปากอ่าวไทยขึ้นไปถึงครึ่งของอยุธยาจึงอัดแน่นด้วยดินเหนียว เมื่อฝนตกลงมาจึงไม่สามารถซึมสู่ใต้ดิน ขณะที่ดินของอ่างทอง สิงห์บุรีและัชัยนาทนั้นเป็นดินทราย น้ำจึงซึมสู่ใต้ดินง่ายกว่า แล้วมุดผ่านชั้นดินโคลนตม" ดร.อรนุชกล่าว

สำหรับน้ำบาดาลนั้น ดร.อรนุชกล่าวว่าเป็นทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของชาติ หากเกิดภัยก่อการร้าย ทำลายแหล่งน้ำประปา ซึ่งปัจจุบันในเขต กทม.มีเพียง 3 แห่ง เราสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ทันที โดยมี "บ่อสังเกตการณ์" ที่สร้างขึ้นเพื่อสำรวจการใช้น้ำบาดาลทั่วประเทศ 1,600 จุดและเป็นบ่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 4 นิ้ว โดยในต่า่งประเทศคนทั่วไปนิยมดื่มน้ำบาดาล ซึ่งมั่นใจได้ว่าสะอาดเพียงพอและมีธาตุอาหารเหมาะสม

ปัจจุบันในเขตกรุงเทพฯ การใช้น้ำบาดาลลดลง เนื่องจากมีระบบประปาครอบคลุม จากเดิมที่เคยขุดบ่อบาดาลลึกลงไปที่ระดับ 150 เมตร พบว่าน้ำใต้ดินดันขึ้นมาอยู่ระดับความลึก 50-60 เมตร แต่การใช้น้ำบาดาลที่น้อยลงทำให้ระดับน้ำใต้ดินดันขึ้นมาถึงระดับความลึก 30 เมตร แต่ยังมีบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้น้ำบาดาล นั่นคือ อุตสาหกรรมน้ำดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมฟอกย้อม การใช้น้ำบาดาลลดลงทำให้เกิดแผ่นดินทรุดตัวช้าลง โดยอยู่ที่อัตราปีละ 1 เซนติเมตร ซึ่ง ดร.อรนุชหวั่นว่าจะเกิดปัญหาใหม่ แต่ยังไม่่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ต้องศึกษาผลกระทบต่ออีก 2 ปี

สำหรับกิจกรรมภายในมหกรรมทรัพยากรธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์นี้ ประกอบไปด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการสวนไดโนเสาร์ที่จัดแสดงโครงกระดูกจำลองของไดโนเสาร์ จากพิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ และข้อมูลเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในเมืองไทย นิทรรศการกำเนิดโลก (Active Earth) แสดงการกำเนิดและเคลื่อนไหวของเปลือกโลก โครงสร้างทางธรณีวิทยา นิทรรศการทรัพยากรหิน แร่ปิโตรเลียมและน้ำบาดาล นิทรรศการซากดึกดำบรรพ์ของพืชและสัตว์ในยุคต่างๆ นิทรรศการธรณีพิบัติภัยพร้อมห้องจำลองพิบัติภัย 4 มิติด้วย
หุ่นจำลองไดโนเสาร์ในมหกรรมทรัพยากรธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์
ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล (ขวา) และ ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ ผู้อำนวยสำนักบริหารกลาง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ซ้าย)
กำลังโหลดความคิดเห็น