xs
xsm
sm
md
lg

ซากฟอสซิล“เมาเทเรียม” ไขวิวัฒนาการของหูมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพของเมาเทเรียมในยุคเมโซโซอิกนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติชาติวิทยาคาร์เนกี้ มันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์ ที่กระโดดโลดเต้นอยู่บนบก และเมื่อพิจารณาจากโครงกระดูก คาดว่ามันน่าจะมีน้ำหนักตัวราว 70-80 กรัม และลำตัวยาว 5 นิ้ว
เอเอฟพี –ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเท่ากระรอก นอนสงบนิ่งอยู่ใต้แผ่นดินมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งติดกับพรมแดนเกาหลีเหนือมานานนับร้อยล้านปี

จนกระทั่งวันหนึ่งนักธรรมชาติวิทยามาขุดเจอ และสิ่งที่พวกเขาตื่นเต้นมากที่สุดก็คือ สัตว์ในยุคบรรพกาลตัวนี้มีหูชั้นใน ซึ่งน่าจะช่วยอธิบายได้ว่า การได้ยินของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไร

ซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิต อายุ 123 ล้านปีตัวนี้มีชื่อเรียกกันว่า เมาเทเรียม (Maotherium) มันมีขนาดลำตัวยาวแค่ 5 นิ้ว และยังมีสภาพดีในลักษณะของฟอสซิล 3 มิติ จึงทำให้คณะนักวิจัยสามารถปะติดปะต่อได้ว่า หูชั้นกลางของเจ้าเมาเทเรียมตัวนี้ เชื่อมต่อกับขากรรไกรของมันอย่างไร

“ สิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่สุด และน่าสนใจทางวิทยาศาสตร์ก็คือหูชั้นในของสัตว์ตัวนี้” นาย ลั่ว เจ๋อสี่ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติชาติวิทยาคาร์เนกี้ (Carnegie Museum of Natural History) ในเมืองพิตต์สเบิร์กของสหรัฐฯ กล่าว

รายงานการค้นพบปรากฏอยู่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ชื่อ “เดอะ เจอร์นัล ไซเอินซ์” (the Journal Science) ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม และนายZhe อยู่ในคณะผู้เขียนรายงานชิ้นนี้

การค้นพบดังกล่าวอาจเป็นห่วงโซ่หนึ่ง ในการอธิบายว่า กระดูกหูชั้นกลาง 3 ชิ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีวิวัฒนาการ โดยแยกออกมาเป็นคนละส่วนจากบานพับขากรรไกร เพื่อสร้างระบบการได้ยิน ที่มีความซับซ้อน และมีประสิทธิภาพสูงได้อย่างไร โดยหูของเจ้าสัตว์เลื้อยคลานเมาเทเรียมตัวนี้พบอยู่ตรงบานพับขากรรไกร

“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีการได้ยิน ที่มีความไวสูง ดีกว่าการได้ยินของสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ทั้งหมดอย่างมาก และการได้ยินก็คือพื้นฐานของวิถีการดำเนินชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” นายลั่ว อธิบาย

นอกจากนั้น พัฒนาการเกี่ยวกับหูยังถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเอาชีวิตรอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมทั้งบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคเมโซโซอิก ที่เต็มไปด้วยอันตรายจากไดโนเสาร์เมื่อ 250-66 ล้านปีก่อนอีกด้วย

"วิวัฒนาการของหูสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เข้าใจว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มต้นการดัดแปลง ที่สำคัญต่าง ๆ ให้กับตัวเองอย่างไร" นายลั่ว ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสงสัยหลายประการว่า เจ้าเมาเทเรียมมีชีวิตอยู่ในช่วงใดของห่วงโซ่วิวัฒนาการ และข้อต่อของหู ซึ่งเป็นสิ่งใหม่นี้ อาจเป็นเพียงการดัดแปลงอย่างง่าย ๆ อันมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของพัฒนาการ มากกว่าจะเป็นเรื่องของห่วงโซ่วิวัฒนาการก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น