xs
xsm
sm
md
lg

เพราะติดเชื้อในลำคอ ทำ "ทีเร็กซ์" อดตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ศึกษาฟอสซิลของ ซู ไดโนเสาร์ทีเร็กซ์สุดโด่งดังในพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ พบว่ามีร่องรอยบนขากรรไกรล่างที่บ่งบอกว่าเกิดจากโรคทริโคโมโนซิส ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อปรสิต และพบในนกนักล่าของยุคปัจจุบัน โดยมีนกพิราบเป็นพาหะของโรค (เทเลกราฟ/เอพี)
สงสัยมานานว่า รูโหว่ที่พบบนขากรรไกรของซากฟอสซิล "ทีเร็กซ์" คืออะไร ผลวิจัยล่าสุดเฉลยว่า เป็นร่องรอยของโรคติดเชื้อปรสิตแบบเดียวกับที่พบในนกนักล่าแห่งยุคปัจจุบัน และอาจเป็นเหตุให้เจ้าตัวร้ายแห่งโลกดึกดำบรรพ์ต้องจบชีวิตเพราะอดตาย

ทีมนักวิจัยสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เผยผลการศึกษาฟอสซิลของไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex: T.rex) ที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐฯ พบว่ากระดูขากรรไกรล่างมีรูที่บ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ชนิดดังกล่าวป่วยเป็นโรคทริโคโมโนซิส (trichomonosis) เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่สมัย 65 ล้านปีก่อน

"รูที่พบบนฟอสซิลขากรรไกรล่างของไทรันโนซอรัส เกิดขึ้นบริเวณตำแน่งเดียวกับที่พบในนกยุคปัจจุบันที่เป็นโรคทริโคโมโนซิส รูปร่างลักษณะของรูโหว่ที่เกิดขึ้น และทิศทางการกลมกลืนกับกระดูกโดยรอบยังคล้ายกันอีกด้วย" อีวาน วอล์ฟฟ (Ewan Wolff) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐฯ อธิบายผลการศึกษา

เอเอฟพีระบุว่า ก่อนหน้านี้นักบรรพชีวินวิทยาเคยคิดว่ารูโหว่ที่พบบนขากรรไกรล่างของทีเร็กซ์เป็นรูที่เกิดจากฟันที่หลุดออกไป จากการต่อสู้ หรือเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย ทว่าจากการวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารพลอสวัน (PLoS ONE) พบว่าตำแหน่งและสภาพของรูโหว่เป็นลักษณะที่เกิดจากโรคทริโคโมโนซิส และบ่งชี้ว่าทีเร็กซ์เป็นดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์พบร่องรอยของโรคทริโคโมโนซิสในฟอสซิลของไทรันโนซอรัสแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "ซู" (Sue) ฟอสซิลทีเร็กซ์อันโด่งดังในพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ (Field Museum) มลรัฐชิคาโก หรือฟอสซิลทีเร็กซ์ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคาร์เนกี (Carnegie Museum of Natural History) เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย และนี่อาจเป็นสาเหตุทำให้พวกมันตายลง

ทั้งนี้ โรคทริโคโมโนซิส มีสาเหตุมาจากเชื้อปรสิตชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพบนกพิราบเป็นพาหะนำโรคนี้ แต่โดยทั่วไปแล้วนกพิราบก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ทว่า นกล่าเหยื่อ เช่น นกอินทรี และเหยี่ยว จะมีความอ่อนไหวต่อโรคทริโคโมโนซิสมาก หากกินนกพิราบที่ติดเชื้อปรสิตต้นเหตุโรคดังกล่าวเข้าไป

"เชื้อปรสิตต้นเหตุของโรคทริโคโมโนซิส ทำให้เกิดแผลขึ้นบริเวณขากรรไกรและข้างในช่องคอ ลุกลามเข้าไปถึงกระดูก แผลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไดโนเสาร์ที่ติดเชื้อ กลืนกินอาหารอย่างยากลำบาก และในที่สุดแล้วก็ต้องอดตาย" สตีฟ ซาลิสเบอรี (Steve Salisbury) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) ในออสเตรเลีย อธิบาย

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังไม่พบว่า ฟอสซิลของไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นมีหลักฐานว่าเป็นโรคทริโคโมโนซิส และเชื่อว่าโรคนี้แพร่กระจายในไดโนเสาร์ไทรันโนซอรัสผ่านทางน้ำลาย จากการที่พวกมันกัดกันหรือแม้แต่กินกันเอง.
ไดโนเสาร์ ทีเร็กซ์ จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Walking with Dinosaurs ซึ่งผลวิจัยใหม่พบว่าไดโนเสาร์ทีเร็กซ์จำนวนไม่น้อยอาจต้องอดตายเพราะโรคติดเชื้อปริสิตในลำคอ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น