xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ฯพบซากฟอสซิลที่จีน เชื่อเป็นบรรพบุรุษ “ทีเร็กซ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลอง ไทแรนโนซอรัส
เอเอฟพี – นักวิจัยเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ก.ย.) ว่า ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ล่าเนื้อขนาดเล็กที่ขุดพบในเขตมองโกเลียใน ประเทศจีนนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบรรพบุรุษของ “ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์” (Tyrannosaurus Rex) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ที-เร็กซ์” (T-Rex)
ภาพสเก็ตเปรียบเทียบระหว่างไทแรนนอซอรัสและแรปเตอเร็กซ์ วาดโดยทอดด์ มาร์แชลล์
ไดโนเสาร์ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “แรปเตอเร็กซ์” (Raptorex) มีความสูง 3 เมตร หนักเพียง 60 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าหนักน้อยกว่าทีเร็กซ์ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 6.8 ตันเกือบ 100 เท่า แต่พอล เซเรโน นักดึกดำบรรพ์วิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเชื่อว่า มันคือบรรพบุรุษของทีเร็ก ไดโนเสาร์กินเนื้อที่น่ากลัว ด้วยโครงสร้างของไดโนเสาร์ทั้งสองชนิดที่เกือบเหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะกรงเล็บ และแม้แต่ลักษณะนิสัยที่ถ่ายทอดให้ทีเร็กซ์กลายเป็นนักล่าที่น่าสะพรึงกลัว

การค้นพบที่น่าเหลือเชื่อเกี่ยวกับวิวัฒนาการของนักล่าทรงพลังที่ครั้งหนึ่งเคยครองดินแดนทางตอนเหนือของโลก เหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้เหล่านักวิจัยมองเห็นภาพใหม่ในการวิวัฒนาการของทีเร็กซ์

ฟอสซิลของแรปเตอเร็กซ์สะท้อนถึงวิวัฒนาการขาหน้าของทีเร็กซ์ที่ค่อยๆ เล็กลง เพื่อความแคล่วคล่องว่องไวมากกว่าจะเป็นการชดเชยน้ำหนักตัวที่หนักขึ้น ขณะที่การพัฒนามัดกล้ามของขาหลังให้แข็งแกร่งขึ้น ก็ช่วยให้ทีเร็กซ์ไล่ล่าเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว

สตีเฟน บรูแซตต์ ผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยเรื่องนี้กับเซเรโนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ในช่วงเริ่มแรกไทแรนโนซอรัสยังเป็นสัตว์เล็กที่อยู่ภายใต้เงาของไดโนเสาร์นักล่าขนาดใหญ่พันธุ์อื่นๆ โดยเซเรโนกล่าวเสริมว่า มีความเป็นไปได้ว่า ทีเร็กซ์จะเริ่มเติบโตจนมีขนาดใหญ่มหึมา เนื่องจากนักล่าคู่แข่งตัวอื่นๆ เริ่มสูญพันธุ์ไป

โดยฟอสซิลแรปเตอเร็กซ์ที่ขุดพบได้นี้ คาดว่าจะเป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่ยังอายุไม่มาก น่าจะอายุแค่ 5-6 ปีขณะที่ตายเท่านั้น ส่วนอายุของฟอสซิลนั้นน่าจะอยู่ที่ราว 125 ล้านปีก่อน ส่วนไทแรนโนซอรัสขนาดใหญ่เพิ่งมาพบเมื่อ 85 ล้านปีก่อน และสูญพันธุ์ไปเมื่อสิ้นยุคครีเตเซียสเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่า ฟอสซิลแรปเตอเร็กซ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ครั้งหนึ่งเคยเกือบ “ตาย” ไปจากวงการวิทยาศาสตร์ หลังจากมีการลักลอบขุดฟอสซิลในจีน และแอบนำออกมาขายในตลาด จนกระทั่ง "เฮนรี่ เครกสไตน์" จักษุแพทย์ชาวอเมริกันผู้ชื่นชอบไดโนเสาร์เป็นอย่างมากตัดสินใจซื้อไว้ เพราะเขารู้ดีว่ามันมีคุณค่าต่อวงการวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน

เครกสไตน์ได้ติดต่อให้เซเรโนทำการวิจัยฟอสซิลดังกล่าว โดยเครกสไตน์ยินดีคืนฟอสซิลดังกล่าวกลับสู่จีนหลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ชื่อเต็มของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ขุดพบที่จีนนี้คือ "แรปเตอเร็กซ์ เครกสไตนี่" ซึ่งตั้งไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่เครกสไตลน์ และชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างไดโนเสาร์ล่าเนื้อพันธุ์เล็กนี้กับทีเร็กซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น