xs
xsm
sm
md
lg

มอ.แถลงเหตุหอยแมลงภู่ที่กันตังตาย - ชี้เลี้ยงหนาแน่นมากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มอ.แถลง สาเหตุหอยแมลงภู่ที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ตายจำนวนมาก เนื่องจากเลี้ยงหนาแน่นมากเกินไป น้ำเค็มลดลง และเชื้อโรคจากหอยที่ตายกระจายไปทั่วแม่น้ำ

จากกรณีที่หอยแมลงภู่ของเกษตรกรในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง ตายเป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่กว่า 89 ราย รวมกว่า 100 แพได้รับความเดือดร้อนจนทางจังหวัดต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโรคระบาด

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทาง ผศ.ดร.สุพัตรา เดวิสัน หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าทีมวิจัยหาสาเหตุการตายของหอยแมลงภู่ในครั้งนี้ เปิดเผยว่า จากการสำรวจของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการเลี้ยงหอยแมลงภู่มากกว่าปีที่แล้วประมาณ 2-3 เท่า

ซึ่งการเลี้ยงที่หนาแน่นเกินไปทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่ดี ทำให้ปริมาณอาหารที่หอยแต่ละตัวได้รับน้อยลง อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลัน ส่งผลให้หอยเกิดความเครียด และอ่อนแอลง ยิ่งเมื่อเกิดการตายและย่อยสลายของเนื้อหอย ทำให้สภาพของน้ำยิ่งเสื่อมลง เชื้อโรคจำพวกปรสิตในน้ำจึงเพิ่มสูงขึ้น หอยแมลงภู่ที่อ่อนแอจึงเกิดการติดเชื้อ และตายไปในที่สุด

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งมีผลมาจากความเค็มของน้ำที่ลดลงจากปริมาณฝนที่ตกหนักบริเวณต้นน้ำ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่หอยมีการตายสูงสุด ตั้งแต่แพที่อยู่ต้นน้ำเหนือหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร ลงมา ซึ่งหอยที่อยู่ในแต่ละถุงอวนมีการตายด้านบนมากกว่าด้านล่าง เนื่องจากความเค็มที่ผิวน้ำมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า และเร็วกว่าระดับน้ำที่ลึกลงไป แต่ไม่มีรายงานการตายของปลากะพงขาวที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณนั้นนั้น นั่นอาจจะเป็นเพราะปลากะพงขาวสามารถอยู่ได้ในน้ำจืดถึงเค็ม จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

นอกจากนั้นการชะล้างของน้ำฝนยังทำให้เกิดตะกอนสีต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อหอยแมลงภู่ ซึ่งจะกินอาหารด้วยการกรอง ถึงแม้ว่าหอยแมลงภู่จะมีกลไกในการจัดการกับตะกอนแขวนลอยที่มีอยู่ในน้ำก็ตาม

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ทางทีวิจัยได้แนะนำให้เกษตรกรลดจำนวนแพ และปรับขนาดของแพเลี้ยงหอยให้เล็กลง ส่วนการแขวนถุงบรรจุหอยก็ต้องไม่แขวนให้หนาแน่นด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นเป็นหลักว่าจะมีศักยภาพที่จะรองรับการเลี้ยงหอยได้เท่าไร โดยให้เป็นไปในลักษณะของการจัดการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้ยั่งยืน ไม่ทำให้ระบบเสียสมดุล เเละเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ดังที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น