หนาวนี้หากใครยังคิดไม่ออก ว่าจะไปท่องเที่ยวที่ไหนหรือทำกิจกรรมอะไรให้เข้ากับหน้าหนาว นักดาราศาสตร์เขามีคำแนะนำดีๆ ว่าให้จับกลุ่มกันดูดาวและนับฝนดาวตกลีโอนิดส์ในช่วงค่ำคืนจนถึงเช้าตรู่ของวันที่ 17-18 พ.ย. นี้ ที่จะเห็นได้ชัดแจ๋วและมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง พร้อมเพลิดเพลินกับกลุ่มดาวและวัตถุท้องฟ้าที่สวยงามตระการตาอีกมากมาย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดกิจกรรม คุยกัน...ฉันท์วิทย์ สัญจร เรื่อง "ฤดูหนาว: มหัศจรรย์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์" เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 52 ณ ร้านทรู คอฟฟี่ สาขาสยามสแควร์ ซอย 3 โดยมี ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา นักวิจัย และ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. มาร่วมให้ความรู้และแนะนำปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในช่วงฤดูหนาวนี้
ดร.ศิรามาศ กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งมีอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆ จึงเหมาะแก่การดูดาวเป็นอย่างยิ่ง โดยในช่วงนี้มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจติดตามหลายปรากฏการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูหนาว จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดขึ้น
ทั้งนี้ สามารถชมได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยและทุกทิศทางบนท้องฟ้า ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 17 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งตรงกับคืนเดือนมืดพอดี จึงไม่มีแสงจันทร์รบกวน โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าในปีนี้จะเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 18 ประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง
ระหว่างชมฝนดาวตกในค่ำคืนดังกล่าว ยังมีดวงดาวและวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ที่น่าสนใจชมและเรียนรู้อีกมากมาย เช่น ดาวพฤหัสบดี ที่สามารถเห็นได้ทางทิศใต้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน และหากใช้กล้องสองตาส่องดูก็จะเห็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสจำนวน 4 ดวง และเป็น 4 ดวงเดียวกับที่กาลิเลโอเคยใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องและมองเห็นเมื่อ 400 ปีก่อนด้วย จากนั้นช่วงประมาณตี 1 จนถึงรุ่งเช้า จะเริ่มเห็นดาวอังคาร, ดาวเสาร์ และดาวศุกร์ ขึ้นทางทิศตะวันออกตามลำดับ
นอกจากนั้นยังมีกาแล็กซีแอนโดรเมดา, กระจุกดาวทรงกลม, กระจุกดาวลูกไก่, กระจุกดาวคู่, เนบิวลานายพราน ให้ชมกันด้วย และหากอยู่ในชนบท ชายทะเล หรือที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน จะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกและกลุ่มดาวที่น่าสนใจมากมาย เช่น กลุ่มดาวม้าปีก, กลุ่มดาวหงส์, กลุ่มดาวคนยิงธนู, ดาวในสามเหลี่ยมฤดูร้อน และสามเหลี่ยมฤดูหนาว
ด้านนายศุภฤกษ์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า สถานที่ที่เหมาะแก่การดูดาวและฝนดาวตกควรเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน หรืออยู่ห่างจากเมืองใหญ่ไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร ก่อนเริ่มต้นกิจกรมดูดาว ควรงดใช้ไฟฉายเพื่อให้ดวงตาปรับสภาพประมาณ 15 นาที ให้ม่านตาขยายเพื่อสามารถรับแสงในที่มืดได้ดีขึ้นและมองเห็นดวงดาวที่มีแสงน้อยได้ จากนั้นเริ่มทำความรู้จักกับทิศ ดาวเหนือ และควรเริ่มต้นดูดาวที่มีลักษณะเด่นหรือมีความสว่างมาก เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ กลุ่มดาวสุนัขเล็ก สามเหลี่ยมฤดูร้อน และสามเหลี่ยมฤดูหนาว
สิ่งสำคัญสำหรับการดูดาวในช่วงฤดูหนาวคือควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาวและน้ำค้างให้พร้อม ส่วนผู้ที่ต้องการถ่ายภาพฝนดาวตก ควรใช้กล้องที่มีความไวแสงประมาณ ISO 400-800 สามารถเปิดหน้ากล้องค้างไว้ได้นาน และควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อป้องกันการสั่นไหว และหากหันหน้ากล้องไปทาดาวเหนือจะได้ภาพความสวยงามของฝนดาวตกพร้อมกับการเคลื่อนที่ของดาวบนท้องฟ้าด้วย
สำหรับการใช้กล้องสองตาเพื่อการดูดาว ควรเลือกกล้องสองตาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางหน้าเลนส์ไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตร และมีกำลังขยายระหว่าง 7-10 เท่า ซึ่งหากหน้าเลนส์ยิ่งกว้าง จะยิ่งรวมแสงได้มาก จนอาจสามารถส่องเห็นพื้นผิวดวงจันทร์ได้ด้วย หรืออาจวางแผนการดูดาวได้ก่อนลงพื้นที่จริงด้วยซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลอง Stellarium ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในฤดูหนาวที่น่าสนใจอีกหลายปรากฏการณ์ ได้แก่ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ในคืนวันที่ 13 ธ.ค. 52, ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 52 และปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในวันที่ 15 ม.ค. 53 ซึ่งน่าติดตามชมเป็นอย่างมาก เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆฝนรบกวนเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา โดยในประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป และทางภาคเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังมากที่สุด มากกว่า 70% โดยเฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะดูดาวไปทำไม หรือดูแล้วได้ประโยชน์อะไร ดร.ศิรามาศ บอกว่าดาราศาสตร์จะช่วยสร้างจินตนาการให้กับเราได้ โดยเฉพาะกับเด็กๆ หากได้เรียนรู้ดาราศาสตร์ จะเกิดจินตนาการ เกิดกระบวนการคิดอย่างวิทยาศาสตร์ เมื่อโตขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นนักดาราศาสตร์ แต่สามารถเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคิดมีเหตุผลได้
ด้านนายเสกสรร ธีรวิวัฒน์วงศ์ ที่พาลูกชาย ด.ช.จิลิ วัย 7 ขวบ มาร่วมกิจกรรมคุยกันฉันท์วิทย์ในครั้งนี้ บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า น้องจิลิเรียนอยู่ชั้น ป.2 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มสนใจดาราศาสตร์เมื่อประมาณอายุ 5 ขวบ โดยมีจุดเริ่มต้นจากที่ชอบอะไรที่มีลักษณะกลมๆ และเห็นว่าการศึกษาดาราศาสตร์เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ทำให้เกิดกระบวนการคิด เกิดจินตนาการ จึงส่งเสริมให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์กับหน่วยงานต่างเป็นประจำเรื่อยมา รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมคุยกันฉันวิทย์สัญจรเป็นประจำด้วย เพราะสถานที่จัดงานอยู่ใกล้กับโรงเรียน ซึ่งน้องจิลิจะต้องมาเรียนว่ายน้ำที่โรงเรียนทุกเย็นวันอาทิตย์อยู่แล้ว